ยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่ปรุงจากปูทะเลกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากหลายเมนูที่อยู่ตามร้านอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปูผัดผงกะหรี่ ปูนึ่งรับประทานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ดก็ชวนน้ำลายสอไม่น้อย และอีกเมนูที่ผู้บริโภคยุคนี้มีความชื่นชอบเป็นอย่างมากนั้นก็คือปูไข่ดองน้ำปลา โดยใช้ปูทะเลที่มีความสดมาดองตามสูตรของตนเอง ทำให้เวลานี้ปูทะเลที่นำมาดองนั้นเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ไม่น้อยทีเดียว
ปูดำหรือปูทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ในเวลานี้ เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถนำมาทำตลาดได้ทั้งจำหน่ายเป็นปูไข่และปูเนื้อ ขึ้นอยู่ที่ว่าร้านอาหารนั้นๆ จะนำไปปรุงเป็นเมนูอะไร ทำให้อาหารที่ทำขึ้นจากปูดำจึงได้รับความนิยมและตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรเกิดรายได้และผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น อย่างเช่นการเลี้ยงปูดำ
คุณนันทิยา เพ็ชรเกตุ อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเกษตรกรที่หันมาเลี้ยงปูดำหลังจากที่ปลดเกษียณจากงานประจำที่ทำ โดยใช้บ่อที่เป็นพื้นที่ว่างของครอบครัวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มาปรับเปลี่ยนเลี้ยงปูดำ เพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้หลังเกษียณจากงานประจำของเธอ
มองหาอาชีพสร้างรายได้
หลังเกษียณจากงานประจำ
คุณนันทิยา เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเกษียณงานรับราชการ 1 ปี ได้กลับมายังบ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่จะได้มาอยู่และใช้ชีวิตที่นี่ ซึ่งในขณะนั้นก็คิดอยู่เสมอว่าแม้เกษียณแล้วก็ต้องหาอาชีพทำเพื่อให้เกิดรายได้ จึงเห็นบ่อที่เคยเลี้ยงกุ้งของครอบครัวยังว่างอยู่ และยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์หลังจากที่เลิกเลี้ยงกุ้งไปแล้ว จึงทำให้เธอตัดสินใจที่อยากจะใช้พื้นที่บ่อนั้น มาเลี้ยงปูดำในเวลาต่อมา
“ช่วงที่เราลงไปดูพื้นที่แรกๆ ก็ดูก่อนว่าคนในพื้นที่นี้เขาทำอะไรกัน ซึ่งการทำประมงของพื้นที่นี้ค่อนข้างหลากหลายมาก มีทั้งเลี้ยงกุ้งกุลาดำและเลี้ยงปูดำ แต่เราเห็นว่าปูดำน่าเลี้ยงมากกว่า เพราะตลาดมีความต้องการสูง ก่อนที่จะเกษียณก็ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงปูดำจากสื่อต่างๆ ว่ามีหลักการเลี้ยงอะไรบ้าง และเมื่อเกษียณเต็มตัวก็กลับมาอยู่บ้านและลงมือทำ พร้อมทั้งเข้าไปศึกษาหาความรู้จากเกษตรกรรายอื่นๆ ที่มาเป็นแนวทางเพื่อให้การเลี้ยงปูดำของเราประสบผลสำเร็จ และสร้างรายได้หลังเกษียณให้กับเราได้อย่างยั่งยืน” คุณนันทิยา เล่าความเป็นมาของการเลี้ยงปูดำ
พื้นที่บ่อเลี้ยงปูดำ
ต้องทำให้มีระดับที่หลากหลาย
ในขั้นตอนของการเลี้ยงปูดำนั้น คุณนันทิยา บอกว่า ในการเตรียมพื้นที่บ่อไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก หากพื้นที่บ่อเป็นบ่อที่เก่าและเลี้ยงมานานก็จะนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วก้นบ่อ ซึ่งบ่อที่เลี้ยงปูดำมีขนาด 5 ไร่ ความลึกของก้นบ่ออยู่ที่ 2 เมตร แต่จะทำพื้นที่ก้นบ่อให้มีระดับของความลึกและตื้นที่สลับกันไป เพื่อที่ปูดำจะได้มีที่เกาะไม่อยู่ในระดับน้ำที่ลึกจนเกินไป จากนั้นนำน้ำที่มีค่าความเค็มอยู่ที่ 18 ppt มาใส่ให้เต็มบ่อแล้วจึงนำลูกปูดำที่ติดต่อซื้อมาจากคนที่นำมาส่งขายให้ ใส่เลี้ยงเข้าไปภายในบ่อ
“ลูกปูดำที่เราซื้อมาใส่เลี้ยงในบ่อจะมีด้วยกัน 2 ไซซ์ อย่างไซซ์แรกอยู่ที่ 14-15 ตัว ต่อกิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 3 เดือน จึงจะโตเต็มที่พร้อมจำหน่ายได้ และไซซ์ที่สองเป็นปูดำที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นมาอีกไซซ์อยู่ที่ 7-8 ตัว ต่อกิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 45 วัน ก็จะโตใหญ่สามารถจับขายได้เช่นกัน ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงปูดำจะเป็นปลาเป็ดที่ได้จากทะเลบ้าง จากแหล่งอื่นๆ บ้าง มาหั่นให้มีขนาดที่เล็กเพื่อให้ปูดำกิน ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงปูดำจะให้กินทีละน้อยๆ แต่ให้บ่อย เพื่ออาหารที่เลี้ยงจะไม่ไปสะสมภายในบ่อมากจนเกินไปจนทำให้น้ำเน่าเสีย” คุณนันทิยา บอก
ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคอื่นๆ นั้น จะมีการถ่ายน้ำเก่าออกและนำน้ำใหม่ใส่ลงไป ก็จะช่วยให้ของเสียที่อยู่ในบ่อไหลออกมาด้วย จึงทำให้ภายในบ่อมีความสะอาดมากขึ้น ส่วนสัตว์ศัตรูอื่นๆ ของปูดำที่ต้องระวังคือ นก ปลากะพง ปลาชนิดอื่นๆ ที่จะมากินลูกปูดำได้ จึงต้องระวังอย่าให้มีอยู่ภายในบริเวณบ่อ
ปูดำสามารถจำหน่ายได้ 2 แบบ
เป็นปูเนื้อและปูไข่
ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปูดำนั้น คุณนันทิยา บอกว่า เนื่องจากปูชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก พ่อค้าแม่ค้าจึงเข้ามาติดต่อซื้อถึงหน้าฟาร์ม ซึ่งตัวเมียที่โตเต็มที่และมีไข่จะต้องจับส่งจำหน่ายทันทีเป็นปูไข่ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 350-450 บาท ส่วนตัวผู้สำหรับจำหน่ายเป็นปูเนื้อราคาจะถูกกว่าตัวเมียอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-350 บาท โดยปูดำที่อยู่ภายในบ่อจะจับขึ้นมาจำหน่ายทุกสัปดาห์ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนภายในฟาร์ม
“ปูดำเมื่อได้รอบที่จับขายได้ต้องขายทันที จะไปรอจับขายในช่วงราคาขึ้นไม่ได้ เพราะช่วงนั้นเราจะไม่รู้ว่าจะมีโรคอะไรมาทำให้ปูดำภายในบ่อตายบ้าง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสต้องจับขายทันที พอเห็นปูดำในบ่อเราเริ่มมีจำนวนที่ลดน้อยลงแล้ว เราก็จะมีลูกปูดำชุดใหม่ๆ มาปล่อยลงเลี้ยงหมุนเวียนภายในบ่ออยู่เสมอ ก็จะทำให้การค้าขายของเราไม่ขาดช่วง และมีปูดำส่งให้พ่อค้าแม่ค้าอยู่ตลอด และรายได้ที่มีก็ไม่ขาดช่วงไปด้วย” คุณนันทิยา บอก
สนใจเรื่องการเลี้ยงปูดำสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนันทิยา เพ็ชรเกตุ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 558-1136