ไลฟ์สไตล์

ดูหลักฐานอีกมุม “องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนามเต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยามหรือไม่?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 07 ก.ย 2566 เวลา 03.38 น. • เผยแพร่ 05 ก.ย 2566 เวลา 04.25 น.
ภาพประกอบเนื้อหา - องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

“องเชียงสือ” กษัตริย์เวียดนาม เต็มใจมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 1 แห่งสยาม แต่ในเอกสารเวียดนามบันทึกไว้อีกอย่าง

เมื่อสำรวจพงศาวดารไทยในยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ยุคก่อนสมัยใหม่” จะพบว่าหลายครั้งมีการกล่าวถึงการเข้ามา “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” ของกษัตริย์จากราชสำนักข้างเคียง ซึ่งส่วนมากเป็นการเข้ามาพึ่งพิงด้วยเหตุแพ้สงครามหรือการตกเป็นองค์ประกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตัวอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง คือ การเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ “เหงวียนฟุกแอ๋งห์” หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “องเชียงสือ”

องเชียงสือคือทายาทคนเดียวที่เหลืออยู่ของตระกูลเหงวียน ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1762 (พ.ศ. 2305 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) เป็นบุตรคนที่ 3 ของเหงวียนฟุกลวน ที่ต่อมาจะกลับไป “ปราบดาภิเษก” เป็นปฐมจักรพรรดิราชวงศ์เหงวียนที่ปกครองพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันคือเวียดนามทั้งหมด ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

ตามคำเล่าลือและในความรับรู้ของคนทั่วไป องเชียงสือลี้ภัยเข้ามาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสยาม นั่นคือ “เรื่องเล่ากระแสหลัก” ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในหลักฐานทางการของไทย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ระบุเกี่ยวกับการเข้ามาสยามของกษัตริย์ต่างแดนพระองค์นี้ว่า องเชียงสือเข้ามาสยามโดยการรับเลี้ยงจากขุนนางสยาม ปรากฏในหลักฐานชิ้นนี้ว่า

“…ฝ่ายแผ่นดินเมืองญวน องไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินยกกองทับมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลทหารออกต่อรบต้านทานมิได้ ก็แตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย ภาบุตรภรรยาแลขุนนางสมักพักพวก ลงเรือแล่นหนีมาทางทะเล ขึ้นอาไศรยอยู่บนเกาะกระบือ ในปีขานจัตวาศกนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาชลบุรีพระระยองออกไปตระเวนสลัดถึงเกาะกระบือ ภบองเชียงสือๆ เล่าความให้พระยาชลบุรี พระระยองฟังว่า องเชียงสือเปนบุตรองเทิงกวาง เปนหลานเจ้าเมืองเว้ บ้านเมืองเสียแก่ฆ่าศึกหนีมาจะเข้าไปพึ่งพระบารมี พระยาชลบุรี พระระยองรู้ความแล้ว จึ่งชวนองเชียงสือให้เข้ามากรุง…”

แล้วในมุมมองของเวียดนามเป็นเช่นไร?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 สุเจน กรรพฤทธิ์ นำเสนอประเด็นดังกล่าว ในบทความ“ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป ‘องเชียงสือ’ ในหลักฐานเวียดนาม” ซึ่งเป็นการให้ภาพขององเชียงสือ กษัตริย์เวียดนาม อย่างที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน

หากย้อนไปเมี่อครั้งก่อนที่องเชียงสือจะเข้ามาสยาม เวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์การเมืองภายใน เมื่อขบวนการเต็ยเซินสะสมกำลัง และคุกคามตระกูลเหงวียนที่เว้ ทำให้ต้องย้ายราชธานีมาอยู่ที่ซาดิ่งห์ บริเวณปากแม่น้ำโขง

สถานการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับรัฐใกล้เคียงคือสยาม กัมพูชา และฮาเตียน เปลี่ยนไป จากเดิมที่เวียดนามต้องขับเคี่ยวกับสยามเรื่องการครอบครองกัมพูชาและฮาเตียน กลายเป็นต้องหันมาเป็นมิตรกับสยามเพื่อต่อต้านเต็ยเซิน และรักษาเขตอิทธิพลของตนไว้ ถือเป็นครั้งแรกที่เวียดนามกับสยามอยู่ในสถานะ “มิตร” มิใช่ “ศัตรู”

หลักฐานชั้นต้นของเวียดนาม บันทึกความจริงแห่งราชอาณาจักรด่ายนาม (เล่ม 1) เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลจักรพรรดิมิงห์หม่างของราชวงศ์เหงวียน เขียนโดย “ก๊วก สื่อ กว๋าน” หน่วยงานที่มีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ราชสำนัก ได้บันทึกเกี่ยวกับการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือ เมื่อ ค.ศ. 1784 เอาไว้ ซึ่งแตกต่างไปจากหลักฐานของไทย

หลักฐานเวียดนามชิ้นนี้ มิได้กล่าวถึงการไปพบกับขุนนางสยาม หรือการยอมตนเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด กลับให้ความสำคัญในประเด็นที่ว่า “ค.ศ. 1784 กษัตริย์ (องเชียงสือ) ไปสยาม… กษัตริย์ไม่เต็มพระทัยไปสยามแต่ต้องไป” ดังที่หลักฐานชิ้นนี้ให้คือ

พอเข้าสู่ปี 1784 (องเชียงสือ) พ่ายศึกที่สมรภูมิเบ๋นแหง (Bến Nghé/เมืองใกล้อ่าวสยาม) จูวันเตี๊ยบ (Chu Văn Tiếp/แม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งขององเชียงสือ) เดินทางไปขอความช่วยเหลือกษัตริย์สยาม (รัชกาลที่ 1) ทรงเห็นชอบ…รับสั่งให้แม่ทัพท้าดซีดา (Thát Xi Đa/เป็นชื่อยศของแม่ทัพสยาม) นำทัพเรือไปฮาเตียน ส่งสารแจ้งว่ามาเสริมกำลัง แต่จริงๆ คือจะช่วยกษัตริย์ (องเชียงสือ) ให้ไปสยาม วันเตี๊ยบนำพระราชโองการ (รัชกาลที่ 1) กลับมากับทัพสยามจากนั้นองเชียงสือเดินทางมาที่เมืองลองเซวียน พบแม่ทัพสยามที่พยายามทูลเชิญ

หลักฐานดังกล่าวนี้ นอกจากจะบันทึกการไปแผ่นดินสยามขององเชียงสือไว้แล้ว ยังได้บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างองเชียงสือกับสยามเมื่อ ค.ศ. 1778 อันเป็นสมัยกรุงธนบุรี รวมถึงศึกกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. 1781 อันเป็นที่มาของความสัมพันธ์ลับระหว่างองเชียงสือกับแม่ทัพใหญ่ของสยามในสมัยกรุงธนบุรี

กลาง ค.ศ. 1778 เมื่อองเชียงสือรับตำแหน่งอ๋องเต็มตัว ได้ส่งทูตไปกรุงธนบุรีเปิดการติดต่อกับราชสำนักสยามในฐานะมิตร ปีนั้น “องเชียงชุน” พระปิตุลาคนหนึ่งขององเชียงสือหนีเต็ยเซินไปที่กรุงธนบุรีกับหมักเทียนตื๋อ เจ้าเมืองฮาเตียน พร้อมผู้ติดตามอีก 53 คน องเชียงสือทรงห่วงใยพระปิตุลา และต้องการพึ่งกำลังของสยาม ดังนั้นในเดือน 6 จึงรับสั่งให้เซิมและติ๋งห์ไปสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

ต่อมาใน ค.ศ. 1781 เมื่อเกิดศึกกัมพูชา อันเป็นศึกครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าตากสิน เป็นสถานการณ์ที่นำมาสู่การผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯ

ระหว่างศึกกัมพูชา เกิดการเจรจาในสนามรบระหว่างแม่ทัพสยามกับแม่ทัพเวียดนาม ตามที่หลักฐานเวียดนามบันทึกไว้ว่า แม่ทัพเวียดนามไปยังค่ายทหารสยาม แม่ทัพสยามได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทั้งสองฝ่ายต่างปรึกษาหารือกัน และแสดงความจริงใจด้วยการเสพสุราพร้อมกับหักลูกธนูสาบาน

ประเด็นการเข้ามาสยามขององเชียงสือ ยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน แม้ว่าหลักฐานไทยและเวียดนามจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าหลักฐานใดถูกหลักฐานใดผิด เพราะตราบใดที่ยังมีการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2562

youtube
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • sawat
    ถูกทั้งคู่ครับ เวียตนามก็ต้องเขียนว่าส่งองเชียงสือมาให้สยามรับเลี้ยง เพราะเวียตนามอีกฝ่ายก็ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับไทย โดยเอาศัตรูมาให้สยามเพื่อรับไว้ เป็นการตกลงแบบมิตรมิใช้พ่ายแพ้ ดั่งที่เวียตนามเขียนไว้ว่าดื่มสุราพร้อมหักลูกธนูว่าจะไม่รบกัน ทางหนึ่งก็ไม่ต้องรบกันเอง ทางหนึ่งยังได้เป็นไมตรีกับสยาม ส่วนประวัติศาสตร์ทางสยามก็ต้องเขียนว่า เวียตนามยอมสวามิภักดิ์กับไทย โดยองเชียงสือเข้ามาขอสวามิภักดิ์(ลี้ภัย)และขอความช่วยเหลือเพื่อไปกอบกู้แผ่นดินคือ ประวัติศาสตร์ชาติใคร ก็ต้องเขียนให้ตัวเองดูดีหมด
    13 มิ.ย. 2563 เวลา 06.14 น.
ดูทั้งหมด