ไลฟ์สไตล์

การไม่ตีให้อะไรมากกว่าที่คิด! บทเรียนจากประเทศแรกที่แบนการทำโทษเด็กทางร่างกาย - ลัดเลาะรอบโลก

LINE TODAY
เผยแพร่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 01.30 น. • Pannaput J.

การทำโทษทางร่างกายถือว่าเป็น‘สิ่งต้องห้าม’ ใน “สวีเดน” ไม่ใช่เพียงแค่การห้ามแค่คำพูด แต่ถูกบัญญัติเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 1979  

การกลั่นแกล้ง, การตบตี, การตี, การผลัก, การดึงผม ฯลฯ การทำร้ายร่างกายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากใครถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘ผิดกฎหมาย’ ในสวีเดน ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่บ้าน หรือโรงเรียน 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สวีเดน จึงกลายเป็น ประเทศแรก ของโลก ที่ยกเลิกการใช้ความรุนแรงในการทำโทษ และกลายเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ กว่า 50 ประเทศในโลกที่ตอนนี้ก็มีกฎหมายห้ามทำโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงแล้วเช่นกัน ก่อนหน้านี้สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาที่ว่า 9 ใน 10 ของเด็กในช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียน จะถูกพ่อแม่/ผู้ปกครองลงโทษทางร่างกายที่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก  

เส้นทางการแบนความรุนแรงในเด็กของสวีเดนเกิดขึ้นจากการที่สภาได้มีการโหวตให้เกิดกฎหมายขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม 1979 และเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกในโลกที่มีการออกกฎหมายแบนการทำโทษทางร่างกายในเด็ก  

การออกกฎหมายนั้นมีผลในทางที่ดีเป็นอย่างมาก โดยมีการยืนยันจากวิจัยของกุมารแพทย์ที่ชื่อว่า ‘Staffan Jansson’ ที่อธิบายว่า เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ ทัศนคติของคนก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เมื่อมีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย 2 ใน 3 ของพ่อแม่ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง และเคารพในกฎหมายนั่นเอง ในช่วง 1980s เด็กจำนวน 1 ใน 3 จะถูกตี แต่มาในช่วงปี 1990s มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการเปลี่ยนแปลงของสวีเดน ก็ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย และกลายเป็นเทรนด์โลกที่ใคร ๆ ก็อยากทำตาม เริ่มต้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ที่มีกฎหมายแบบเดียวกันออกมาบังคับใช้ในปี 1983 และ 1987 ออสเตรียก็ตามมาติด ๆ ในปี 1989 ปัจจุบันมีกว่า 50 ประเทศ (ประเทศล่าสุดที่แบนการทำโทษก็คืออัลบาเนียในปี 2010) ที่ได้บัญญัติข้อห้ามเกี่ยวกับการทำโทษร่างกายในเด็กด้วยเช่นกัน ถือได้ว่าสวีเดนเป็นต้นแบบและเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการปฏิรูปกฎหมาย  

การออกกฎหมายแบนการทำโทษทางร่ายกาย กับการพัฒนาประชาธิปไตย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำไมสวีเดนถึงไปได้ไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ? ในงานวิจัยของนายแพทย์ Jansson ได้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสถาบันที่ยอมจ่ายให้กับวันหยุดของพ่อแม่เพื่อที่จะลดระดับความเครียด รวมไปถึงยังมีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อบ้านที่ปลอดภัยขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาจากความต้องการที่จะลดความรุนแรง รวมไปถึงเมื่อเด็กไปโรงเรียนเตรียมอนุบาลกันมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะเก็บเด็กไว้ที่บ้าน รวมไปถึงรอยฟกช้ำจากการทำร้ายเด็กก็ไม่สามารถผ่านพ้นสายตาของโรงเรียนไปได้เช่นเดียวกัน 

สำหรับในแง่ของประชาธิปไตยนั้นก็ได้เติบโตขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน รวมไปถึงความเท่าเทียม เพราะว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของคนทุกคน คนทุกคนนั้นก็รวมถึงเด็กด้วย ที่ควรจะได้รับความเท่าเทียม และถูกปกป้องให้ห่างจากความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม สวีเดนก็ยังถูกตั้งคำถามว่า ประเทศที่ปราศจากการลงโทษเด็ก แล้วจะสร้างวินัยให้กับเด็กได้อย่างไร? นี่ถือเป็นวลียอดฮิตเมื่อมีการถกเถียงการเรื่องแบนการทำโทษเด็ก ไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีการถกเถียงเรื่องนี้ จนมีประโยคที่ใครหลาย ๆ คนเคยได้ยินอย่าง “ไม้เรียวสร้างคน” เลยทีเดียว  

แม้จะมีความเข้าใจผิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มขึ้นของการทำผิดของเด็กและเยาวชนอย่างรวดเร็วในสวีเดนตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มใช้กฎหมาย มีพ่อและแม่ถูกจำคุกเพราะตีลูก และมีการเพิ่มขึ้นของฆาตกรเด็ก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่เป็นเรื่องจริงสักเรื่อง  

ในความเป็นจริงนั้นตัวเลขของเด็กที่กระทำความผิดในสวีเดนนั้นต่ำมาก ๆ อาจจะน้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ และยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่สามารถบอกได้ว่าการแบนการลงโทษทางร่างกายทำให้มีอาชญากรรมสูงขึ้น รวมไปถึงพ่อและแม่นั้นไม่ได้ถูกจำคุกเพราะตีลูกเพียงครั้งเดียว เช่นเดียวกับการที่คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ถูกจับเพียงเพราะตีผู้อื่นเพียงครั้งเดียวเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่เป็นความจริงและมีข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมนั้นก็คือ การลดลงของการใช้ความรุนแรงกับเด็กเมื่อประเทศแบนการลงโทษทางร่างกาย  

ผ่านมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว ที่สวีเดนแบนการทำโทษทางร่างกาย แม้จะมีเด็กจำนวน 5 เปอร์เซ็นที่ถูกตีทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายแล้วนั้น มีการวิจัยจากสถาบันดูแลสิทธิของเด็กว่า เด็กกว่า 80 เปอร์เซ็นนั้นมีความสุขดีมาก 15 เปอร์เซ็นอาจจะมีความสุขลดลงมาหน่อย และมีอีกจำนวน 5 เปอร์เซ็นที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ การมีกฎหมายนี้ทำให้เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายสามารถพูดกับพ่อและแม่ของตัวเองได้ว่าพวกเขาอาจจะถูกจำคุกถ้าทำร้ายร่างกายเด็ก แต่ถ้าไม่มีกฎหมายความรุนแรงนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และความรุนแรงก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมนั้นไปอย่างไม่มีอะไรมาสามารถเปลี่ยนแปลงได้  

แม้ว่าการลดความรุนแรงในเด็กนั้นจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลามาก แต่ก็ดูเหมือนว่าโลกก็พยายามที่จะก้าวไปข้างหน้ากับประเด็นนี้ แล้วประเทศไทยของพวกเราตอนนี้อยู่ตรงไหน เราจริงจังกับเรื่องนี้มากพอแล้วหรือยัง? 

อ้างอิง

1

ความเห็น 68
  • มาฆะ😇🙏🍻🎉✨
    เข้าใจคำว่าไม่อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก หรือเปล่า การพูดจากับเด็กด้วยเหตุผล ความรัก ความเข้าใจสำคัญเป็นที่หนึ่ง
    24 ม.ค. 2563 เวลา 21.58 น.
  • dang
    ตอนหลานร้องโยเยไม่ถูกใจ เรามองนิ่งๆไม่พูดอะไร แป๊บเดียวหยุดร้องแฮะ เราก็เลยอธิบายให้เขาฟังว่าอะไรเป็นอะไร ดูเขาสงบเหมือนสำนึกผิด ตั้งแต่นั้นจะไม่ดุไม่ตีตอนเขาร้อง รอจนกว่าเขาจะนิ่งเอง
    24 ม.ค. 2563 เวลา 17.25 น.
  • 🌘 Lilith
    ตีเด็กแล้วเด็กดีขึ้นอาจจะเป็นเพราะเด็กกลัวการถูกตี กลัวเจ็บ บางคนอาจจะว่าก็ดีเด็กจะได้ไม่ทำผิด แต่เด็กกลัวที่จะทำผิดเพราะรู้สำนึกผิดไหม อันนี้ไม่แน่ใจ มันขึ้นอยู่กับการสั่งสอนของผู้ใหญ่ แล้วถ้าสั่งสอนโดยตรงได้โดยที่ไม่ต้องไปอ้อมให้เด็กกลัวโดนตีก่อนจะดีกว่าไหม ทำได้อยู่ละ แต่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้เด็กนับถือก่อน ทำได้ไหม?
    24 ม.ค. 2563 เวลา 16.53 น.
  • Mek
    ไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก? มันก็ดีนะครับ แต่อยากรู้ว่านิยามของคำว่าเด็กนี่จำกัดที่อายุเท่าไร แล้วขอบเขตของกฏหมายใช้กับคนกลุ่มไหน พวกที่ยกพวกรุมกระทืบคนตาย แว้นตามท้องถนนนี่นับมั้ยครับ ถ้านับนี่คือปล่อยเลยตามเลย พ่อแม่ม่ต้องตี ตำรวจไม่ต้องจับ ให้พวกเขาเติบโตพัฒนามาเป็นประชากรที่ดีได้นี่กฏหมายนี้คงสุดยอดไปเลยครับ
    24 ม.ค. 2563 เวลา 16.34 น.
  • Elsvier56
    เราอยู่ที่จุดแรกสุด ทำไงให้พ่อแม่มันมีเงินก่อน ไม่ต้องเครียดกับการตกงาน ถ้าคนยังขาดเงิน ยังไงนิสัยปากกัดตีนถีบก็ยังมี
    24 ม.ค. 2563 เวลา 15.59 น.
ดูทั้งหมด