ไลฟ์สไตล์

อนุสรณ์ “พระเจ้าตาก” ในไทย เกิดเพราะทรงกู้ชาติ แล้วอนุสรณ์ที่จีนเกิดเพราะอะไร?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 04 ก.พ. 2567 เวลา 03.48 น. • เผยแพร่ 04 ก.พ. 2567 เวลา 03.45 น.
สุสานพระเจ้าตากสิน พ.ศ. 2560 (ภาพจากเพจ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

บรรดา “อนุสรณ์” ที่สร้างชื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญต่อประเทศชาติ ที่เรียกว่า “อนุสาวรีย์” หรือ “พระบรมราชานุสาวรีย์” อนุสรณ์ของ พระเจ้าตากสิน เชื่อได้ว่าเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ที่มีมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนที่เมืองจีน ซึ่งกล่าวว่าเป็นบ้านเกิดของพระราชบิดาของพระองค์ มีพระบรมราชานุสาวรีย์เพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ ที่เรียกกันตามรูปลักษณะว่า “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช”

เหตุที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินมหาราชจำนวนมากในประเทศไทย คงมาจากศรัทธามหาชนที่มีต่อ “วีรกรรม” สำคัญของพระองค์ในการกอบกู้บ้านเมือง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนที่เมืองจีน “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” เกิดขึ้นเพราะเหตุใด? ในเมื่อคุณูปการของพระองค์เกิดขึ้นที่เมืองไทย ก่อนจะตอบในประเด็นนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปดู “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” กันก่อน

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “คืนถิ่นจีนใหญ่” ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเสด็จฯ สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่หมู่บ้านหัวฝู่ อำเภอเฉิงไห่ (เท่งไฮ้) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 ว่า

“ไปถึงหน้าหมู่บ้านมีผู้อำนวยการสำนักงานชาวจีนโพ้นทะเลของเฉิงไห่เป็นผู้หญิงชื่อคุณไฉเผยหลงมาต้อนรับ ต้องเดินเข้าไปจากถนนใหญ่ประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงถึงบริเวณที่เรียกกันว่าเป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สุสานเหมือนกับหลุมศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆ แบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีนแปลความว่า สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง (ค.ศ. 1784) บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1985”

พระราชนิพนธ์ของพระองค์บันทึกสิ่งที่บรรจุภายในสุสานว่า

“คุณไฉอธิบายว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย อีกชุดหนึ่งเป็นจีน กลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่นี้ พวกพระญาติสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากเนื้อความในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว และรูปประกอบ สุสานของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเรียบง่ายมากๆ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ผู้เขียนเดินทางไปเมืองแต้จิ๋ว และสุสานพระเจ้าตากสินมหาราช ที่อำเภอเฉิงไห่ สุสานฯ ก็ยังคงเป็นแบบเรียบง่ายเช่นเดิม เพิ่มเติมคือมี “ภาพเขียน” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้ายหิน และที่เนินดินด้านหลัง ไกด์ท้องถิ่นก็ให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับพระราชนิพนธ์ข้างต้น

พ.ศ. 2558 อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะเคยเดินทางไปที่สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนั้นสุสานกำลังมีการก่อสร้างเพิ่มเติม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 การปรับปรุงสถานที่แล้วเสร็จ ด้านหลังของตัวสุสานมีการสร้าง อนุสรณ์ พระเจ้าตากสิน เป็นพระบรมรูปขนาดใหญ่ประมาณ 1.5 เท่า ตั้งอยู่บนฐานสูงก่ออิฐฉาบปูน มีบันไดทางขึ้นสองข้าง

สุสานพระเจ้าตากที่เรียบง่าย เปลี่ยนไปหลังการบูรณะจนดูยิ่งใหญ่

ทีนี้กลับมาดูเรื่องที่ตั้งสุสานพระเจ้าตากสินกัน สุสานดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอเฉิงไห่ (เท่งไฮ้) จังหวัดซัวเถา เป็น 1 ใน 3 จังหวัดของถิ่นแต้จิ๋วหรือเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑล มีขนาดพื้นที่ 10,346 ตางรางกิโลเมตร

พื้นที่ของเมืองแต้จิ๋ว ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นภูเขาและเนินเขา แต่ก็ไม่ใช่ภูเขาสูงที่ตระหง่านสวยแปลกตาอย่างภูเขาหัวซาน ในมณฑลส่านซี, มีพื้นติดชายฝั่งทะเล หากก็ไม่ได้มีทิวทัศน์งดงามอย่างเมืองซานย่า มณฑลไหหลำ, ถ้าจะมองเรื่องประเด็นวัฒนธรรมก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าเมืองหลวงปัจจุบันอย่างปักกิ่ง หรือเมืองหลวงเก่าอย่าง ลั่วหยาง, ซีอาน, นานกิง

ถ้ายืมศัพท์การเที่ยวของไทยมาใช้ สรุปว่า “แต้จิ๋วก็เป็นเมืองรอง”

แต่เมืองแต้จิ๋ว คือหนึ่งในเมืองสำคัญของชาวจีนโพ้นทะเลในโลก โดยเฉพาะคนแต้จิ๋ว และเมืองไทยคือประเทศที่คนแต้จิ๋วอพยพมาจำนวนมาก ดังนั้น “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” พระมหากษัตริย์ที่มีเรื่องเล่าว่ามีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งสร้าง story เชื่อมโยงคนจีนเมืองไทย กับเมืองแต้จิ๋วได้ และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของให้ผู้คนอำเภอเฉิงไห่ เมืองแต้จิ๋วได้…นี่คืออีกหนึ่งคุณูปการของพระองค์ในจีน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. คืนถิ่นจีนใหญ่. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จัดพิมพ์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พฤษภาคม 2549

ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : อนุสรณ์ “พระเจ้าตาก” ในไทย เกิดเพราะทรงกู้ชาติ แล้วอนุสรณ์ที่จีนเกิดเพราะอะไร?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ