ทั่วไป

จอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น มีความผิด มีโทษปรับ-จำคุกสูงสุดเท่าไร

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 05 เม.ย. 2566 เวลา 06.08 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2566 เวลา 04.25 น.
ภาพจาก AFP

เปิดกฎหมายความผิดจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น มีโทษสูงสุดเท่าไร ควรปฏิบัติอย่างไร

วันที่ 5 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในกลุ่มพวกเราคือผู้บริโภค ได้โพสต์ภาพบ้านหลังหนึ่ง ที่ใช้ถนนหน้าบ้าน 1 เลน เป็นที่จอดรถ แถมยังมีหลังคายื่นล้ำออกมา และมีการปลูกต้นไม้ใหญ่ล้ำบริเวณบ้านออกมา ซึ่งเพื่อนบ้านได้ร้องเรียนไปที่เขตถึง 3 ครั้ง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยผู้โพสต์ระบุว่า “จอดรถแบบนี้ปักหลักปักฐาน ปลูกต้นไม้สูงใหญ่ใบไม้ปลิวว่อน โถช่างรักธรรมชาติจริง ๆ แบบนี้พี่ว่าไงครับ จอดได้เปล่า พิกัดรามคำแหง 190 แค่เข้ามาก็จะเห็นเลย แถมในซอยย่อย ๆ ก็จอดกันเพียบ ปล. แจ้งเขตแล้วประมาณ 3 รอบนะครับ”

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูล กฎหมาย ความผิด จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น มีโทษสูงสุดเท่าไร

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น มีความผิดอย่างไร ?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1.การจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น เป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 397 วรรคสอง

2.ผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกจอดรถขวางหน้าบ้าน สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ รวมทั้งยังฟ้องเรียกค่าเสียหายละเมิดในทางแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งและยกรถได้

3.กรณีที่ผู้ได้รับความเสียหาย มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากอันตรายที่มีความฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐไม่ได้ สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ด้วยตัวเอง แม้จะเป็นการกระทำให้รถบุบสลายหรือเสียหาย ก็ทำได้โดยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย หากความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ เพราะเป็นข้อยกเว้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 450

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การจอดรถขวางทางเข้า-ออก หรือขวางหน้าบ้านคนอื่น แม้จะอ้างว่าจอดบนถนนสาธารณะ แต่หากทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิต ก็ถือว่าเป็นความผิดและมีโทษสูงสุดทั้งจำทั้งปรับ

ข้อมูล : กระทรวงยุติธรรม

ธรรมนิติ

ดูข่าวต้นฉบับ