“พระเอ็ดยง” หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ วรรณกรรม “คำผวน” ที่ “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” ชนิดอ่านไประแวงไป
พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ
คุณสุวรรณ กวีสตรีราชนิกุลบางช้าง มีชื่ออยู่ในทำเนียบกวีในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 จากเกร็ดชีวประวัติระบุว่าเสียจริตในสมัยรัชกาลที่ 4 วรรณกรรมของคุณสุวรรณจึงถูกคนรุ่นก่อนมองว่าเป็นงานนอกระบบ หรือเป็นกวีนิพนธ์ของคนบ้า แต่ในปัจจุบันนี้วรรณกรรมของคุณสุวรรณได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงอัจฉริยภาพของผู้แต่งที่สามารถเขียนหัสคดีในเชิงเสียดสีล้อเลียนได้อย่างดียิ่ง
วรรณกรรมเหล่านั้น (เท่าที่ได้รับการเผยแพร่) ได้แก่ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ อุณรุทร้อยเรื่องและ กลอนเพลงยาวพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพแต่ยังมีผลงานวรรณกรรมหัสคดีอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยังไม่เคยได้รับการเปิดเผย แม้แต่เพียงชื่อเรื่องก็ยังคงปกปิดตลอดมา เพราะออกจะอาการหนักกว่าพระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่องที่เคยถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมคนบ้ารวมกันเสียอีก
ตามที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนคำอธิบายบทละครของคุณสุวรรณในหนังสือ “เสียดสี กวีสยามฯ”ว่า“แน่ใจได้ว่ากวีหญิงผู้นี้คงจะได้ผลิตผลงานไว้ไม่น้อย เสียแต่หาต้นฉบับกันไม่เจอ”นั้น ความจริงแล้ว ต้นฉบับนั้นหาพบแต่หลบเร้น ต้นฉบับงานของคุณสุวรรณที่ถูกหมกไว้นั่นคือ กลอนบทละครเรื่อง“พระเอ็ดยง”
ที่กล่าวว่าถูกหมกนั้น เพราะว่าบทละครเรื่องพระเอ็ดยง ถูกบันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทย เลขที่ 1 มัดที่ 42 หมวดกลอนบทละคร ณ หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งในเล่มมีบทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ และอุณรุทร้อยเรื่องรวมอยู่ด้วย ทั้งยังมีบันทึกหน้าหนังสือสมุดไทย บอกชื่อบทละครทั้ง 3 เรื่องไว้ด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะไม่ได้รับการเผยแพร่ เพราะยังไม่พบต้นฉบับ
ส่วนหากจะสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ผลงานของคุณสุวรรณ ในหน้าต้นหนังสือสมุดไทยมีข้อความระบุไว้ว่าเป็นบทละครของคุณสุวรรณ และเมื่อพิเคราะห์ดูถ้อยคำสำนวน ลีลาการประพันธ์ก็เห็นว่าน่าจะเป็นของคุณสุวรรณจริง
“พระเอ็ดยง”เป็นวรรณกรรมคำผวนของคุณสุวรรณ ซึ่งมีกลวิธีการประพันธ์โดยใช้ คำผวน ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร ชื่อเมือง ไปจนถึงเรื่องราวต่าง ๆ คำผวนที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นคำที่ลี้ลับทำนองเดียวกับ “สรรพลี้หวน”ของชาวใต้ แสดงให้เห็นถึงทั้ง “อารมณ์ขัน” และ “อารมณ์คัน” ของผู้แต่ง บางบทบางตอนค่อนข้างโป๊และออกจะหยาบคายไปบ้าง คำผวนเหล่านั้น หลายแห่งมิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเลย
ลองมาดูเนื้อเรื่องและลีลาโวหารของคุณสุวรรณในพระเอ็ดยง ซึ่งครั้งนี้คุณสุวรรณ “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” กันดู ท่านอาจผวนคำได้ตามอัธยาศัย แต่หากระคายหู หรือบาดอารมณ์ประการใด โปรดรำลึกไว้ด้วยว่าเป็นผลงานของคุณสุวรรณ ไม่ใช่ของผู้เขียน…
เรื่องย่อเริ่มตั้งแต่พระเอ็ดยงมีพระมเหสีอยู่ก่อนแล้ว 2 องค์ คือ นางแหงดี และนางแต่งแวด พระเอ็ดยงไปเลียบเมือง ได้นางโหตีมาเป็นมเหสี สร้างความไม่พอใจให้แก่โลตึง (เนื้อเรื่องไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นใคร) จึงขับพระเอ็ดยงและมเหสีทั้งสามออกจากเมือง ขณะเดินทางไปกลางป่า ก็ได้พบกับนายเจ็ดโยนเป็นโจรป่า มีสมุนห้าร้อยคน นายเจ็ดโยนพาสมุนมาสวามิภักดิ์กับพระเอ็ดยง พระเอ็ดยงจึงนำทัพเหล่าโจรป่าไปตีเมืองขีหัน (คีหัน) บุรี เพื่อแก้แค้นโลตึง เนื้อเรื่องจบเพียงพระเอ็ดยงไปตั้งค่ายหน้าเมืองขีหัน
พระเอ็ดยงถูกขับจากเมือง
◉ เมื่อนั้น ไทยอก (หมายถึง พระเอ็ดยง – ผู้เขียน) โศกาน้ำตาไหล
ให้คิดอัดอั้นตันใจ เพราะโหตีศรีใสมาเป็นเมีย
เขาคิดว่าเราจะเจ็ดยับ จึงใจให้ขับเราเสีย
อกใจให้ร้อนดังไฟเลีย ไทยอก…* แล้วคลาไคล ฯ
◉ เมื่อนั้น นวลนางแหงดีศรีใส
ทั้งนางแตงแวดทรามวัย ก็…*
นายรักหัวบานรำคาญใจ เคยสนิทชิดไชมาหนักหนา
สี่คนก่นกินแต่น้ำตา ก็กีเหาเข้าป่าพนาลี
มาถึงคูรอบขอบเมือง ชำเลืองเหลียวดูปราสาทศรี
เคยอยู่เกศเนตรยังทั้งตาปี ได้ดีหมสมศรีด้วยนางใน
ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก จะลำบากยากเด็ดเป็นไฉน
ระหกระเหินเดินป่าพนาไล จะตากแดดแอดไตทุกเวลา
คิดพลางพระนางรำไห กอกะดำทำใจเป็นหนักหนา
ข้ามทุ่งมุ่งตรงกรงมา เสด็จโดยมรคาพนาไล
เข้าในป่าระหงดงย่อ สมีหอกอกะดุมพุ่มไสว
มะกอกโทนโคนจวยกรวยไกร ใบยักกวักไกวไปมา
ทั้งกล้วยไข่กล้วยขอมหอมดี บางแหงวีปลีห้อยกลาดป่า
พลับพลวงมะม่วงหรอยห้อยระย้า น้อยหน่า…* ถึงคอมยวย
ลิ้นจี่หอมะกอดอกมะกอกทัก …* สละสลวย
ยอกะดักหักทบตะขบอวย มังคุดลวยมหาคดีมีในดง
กถินดอกออกทกดกระดาด พุทชีชาดสร้อยฟ้ากาหลง
พิกุลเจ้าจำปีหาจำปาดง หอมประทิ่นกลิ่นทรงรำจวนใจ
* ข้อความจากต้นฉบับไม่ชัดเจน
ชมสัตว์
พระชวนชมฝูงสัตว์จตุบาท เกลื่อนกลาดตามแถวแนวป่า
แรดตูมูเรนเม่นม้า เที่ยวเล็มล่าหากินที่กลางไพร
ตุ่นแลดแตดทอกออกโผน มีเห็นเต้นโจนทะลวงไล่
โคตวยพาฝูงคลาไคล บ้างแยดตอนนอนในพนาวัน
เสือกบาทหมอบฟุบตระครุบกัด คยีหัดหูปีทำรีหัน
รอกโทนโจนไม้ไล่กัดกัน รอกทุนสุดหันเข้าโพรงใน
ปากสิหงทรงเสียงสำเนียงจอ โนรีหูชูคอจับยางใหญ่
เห็นแรงดูหูรีก็หนีไป นกออกไทจับชงักเสียงกักบิน
นกอีแหนแอ่นหางพลางไซ้ขน เป็ดยนเที่ยวท่องกระแสสินธุ์
ใน…* ค้นหาฟักกิน น้ำใสไหลรินเห็นตัวปลา
ก็ดีหอนยอนเกลดสเบดยาย กระบอกเทาเคล้าไวเที่ยวเล็มล่า
ดุกลอคลอไวไคลไคลมา ปากเดิดแทกถากระโดดดำ
มีทั้งหอยกระจีรีษีลาก เต่าแนดปลาแรกตากกะโดงคว่ำ
ผักบุ้งพุ่งย้อยลงลอยน้ำ ระทวยยอดทอดลำอำไพ
มีทั้งบอนสลักผักนอก บัวรอบตักฟักดอกออกไสว
พระยอดเม็ดเด็ดฝักหักไป ประทานให้นิ่มน้องสองอนงค์
* ข้อความจากต้นฉบับไม่ชัดเจน
และก็เช่นเดียวกับธรรมเนียมนิยมกลอนบทละคร บทละครทั่วไปย่อมมีบททรงเครื่องและบทจัดทัพ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน คุณสุวรรณกำหนดให้พระเอ็ดยงทรงภูษาที่พิลึกพิลั่น อาทิ “ทองกรตอนแมดแปดคู่”และแน่นอนสัตว์ซึ่งเป็นพาหนะย่อมจะไม่ธรรมดา เพราะคุณสุวรรณเกณฑ์ให้พระเอ็ดยง “เสด็จไปทรงแรดแปดตา” ซึ่งมีลักษณะดังนี้
◉ แรดเอยแรดตู ขากางหางทูหูลี่
ขุกตัวหัวดางหางดี ขยอกทีตีหำทำพยศ
เจดยอดลองเชิงเริงร้อง กึกก้องอรัญวาปรากฏ
เคยรุกรานกะดานย่อไม่ท้อทด แกล้วกล้าสาหสพยดเมด
ข้อความข้างต้นซึ่งคัดลอกมานี้นับว่าเป็นตอนที่ “เบา” อย่างที่สุดแล้วในพระเอ็ดยง ถ้าหากว่าโลกแห่งบรรณพิภพนี้มีที่ให้กับ “สรรพลี้หวน” แล้ว ก็น่าจะสามารถมีที่ให้กับพระเอ็ดยงได้เช่นกัน
ทั้งนี้เพียงเพื่อแจ้งว่า “มีอยู่” มิใช่เพื่อหวังจะได้รับการชื่นชมยกย่อง หากแต่เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่า “พระเอ็ดยง” เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบรรณพิภพและมีอยู่จริง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงอะไรหากจะยอมรับเพียงข้อมูลว่าคุณสุวรรณยังมีผลงานกลอนบทละครอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระเอ็ดยง ซึ่งแต่งด้วยคําผวนที่ไม่สุภาพเรียบร้อย คิดว่านักวิชาการน่าจะรับได้ว่าเป็นมิติหนึ่งทางการศึกษาในแวดวงวรรณกรรม เช่นเดียวกับที่ยอมรับความมีอยู่ของสรรพลี้หวนมาแล้ว
และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะหัสเดียมคดีเรื่องพระเอ็ดยงนี้เอง ที่ทําให้พระมะเหลเถไถ และอุณรุทร้อยเรื่อง ถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมของคนบ้าซึ่งแต่งขึ้นเมื่อเสียจริตแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระมะเหลเถไถ” ไม่เหลวไหลอย่างที่คิด รู้จักงานกวีเชิงเสียดสี
- สรรพลี้หวน…วรรณกรรมคำผวนที่เป็นมากกว่าเรื่องล้อเลียนของสงวน!
- เอ๋งติ๋งห้าว : สุดยอดของความหรรษา
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก“พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ”เขียนโดย ชูดาว ในเอกสารประกอบงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “วรรณคดีจี้เส้น กรุงรัตนโกสินทร์” ต้นฉบับมาจากบทความ “พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระเอ็ดยง” วรรณกรรมคำผวนที่ “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” ชนิดอ่านไประแวงไป
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
Aoi เสียจริต ยังแต่งได้ขนาดนี้ ถ้าดีๆปกติ จะขนาดไหน สมองเลิศ จินตนาการล้ำ
19 เม.ย. 2566 เวลา 16.35 น.
MAI 5555เป็นบทกวีที่เลิศล้ำ อ่านไปผวนไปเกือบเสียจริตตามไปเสียแล้ว🤪😅
20 เม.ย. 2566 เวลา 04.05 น.
🙏 อาตมาแตกเรย
20 เม.ย. 2566 เวลา 00.26 น.
John KR รัฐธรรมนวยหัวคูณ
19 เม.ย. 2566 เวลา 21.49 น.
Thongchai Posuwan ไม่เสียสติแน่นอน เพียงพูดตรงๆไม่ได้ ก็เลยใช้พรสวรรค์ด้านกวี เปิดเผยเรื่องราวรอบตัวมากว่า
ดีทำให้รุ่นเราได้รู้ ยุคสมัยก่อนๆๆๆ
20 เม.ย. 2566 เวลา 06.45 น.
ดูทั้งหมด