เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นแขกพิเศษ และนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 ในกรุงเทพมหานคร ในงานพิธีปิดโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพมหานคร (Alliance Française Bangkok) ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ก่อนที่จะรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สิ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญ คือ การแก้ปัญหาการจราจร น้ำท่วม และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งกทม. มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศประมาณ 70 สถานี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น คือ “ข้อมูล” ที่ได้จากการตรวจวัดและนวัตกรรม เช่น “ไมโครเซนเซอร์” (Microsensors) ที่ใช้ในโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 นี้ ซึ่งกทม. ต้องการเพิ่มเติมให้มี “ไมโครเซนเซอร์” จำนวนมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับ ฝุ่น PM2.5 เป็นอีกปัญหาหลักที่กทม. ให้ความสำคัญเพราะสร้างปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนอย่างมาก ดังนั้นกทม. จึงเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการกำจัดแหล่งกำเนิด การป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยแผนรับมือฝุ่น แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การเฝ้าระวังติดตาม 2. การลดและกำจัดตั้งแต่ต้นตอ และ 3. การป้องกันสุขภาพ ประเด็นที่ 1 คือ การเฝ้าระวังติดตามโดยเปิดช่องทางให้ประชาชนติดตามข้อมูลและแจ้งเหตุรถยนต์ควันดำผ่านช่องทาง Traffy Fondue, LINE Official Account และ LINE Alert การเพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ขณะนี้มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้ว 734 จุด โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบ 1,000 จุด
การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามหรือศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลและประสานไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อแจ้งเตือนและจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน
โดยประชาชนสามารถตรวจสอบทิศทางลมการพยากรณ์สภาพอากาศ การเผาในที่โล่ง จาก Hot spot แบบ Real time ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้ง กทม. และปริมณฑล ด้วยการสนับสนุนจาก Gistda
ประเด็นที่ 2 คือ การลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอแบ่งเป็นการตรวจสถานประกอบการ 1,222 แห่ง โดยจัดทำแผนการตรวจ เดือนละ 2 ครั้ง รวมถึงการจัดทำแผนที่เสี่ยง (Risk Map) โดยมีการนำข้อมูลจุดกำเนิดฝุ่นลงในแผนที่เพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังมลพิษในพื้นที่ ซึ่งมีสถานประกอบการ 260 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะใช้ Boiler ที่สร้างฝุ่น PM2.5
ส่วนการควบคุมการเผา ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาของภาคการเกษตรในพื้นที่ กทม. ให้เหลือศูนย์ ปัจจุบันมี 9 จุด ที่มีรายใหญ่ ซึ่งกทม. จะเข้าไปช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้ลดการเผา เช่น สนับสนุนจุลินทรีย์ย่อยสลาย การอัดฟาง น้ำหมัก เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 คือ การป้องกันดูแลสุขภาพ ได้มอบนโยบายโรงเรียนสังกัดกทม. 437 แห่ง สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ให้แก่นักเรียน เช่น การปักธงเป็นสีตามค่าฝุ่นในแต่ละวัน การอ่านค่าฝุ่น การปฏิบัติตัวเมื่อค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน และมีการขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดสพฐ. และเอกชน รวมไปถึงสำนักงานเขต ชุมชนใน กทม. มีการเพิ่มห้องปลอดฝุ่นตามสถานที่ต่างๆ สำหรับศูนย์เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ การสอนทำ DIY เครื่องกรองฝุ่น
กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ยังมีการเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 แห่ง และมีพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อกรองฝุ่นด้วย
ทั้งนี้ กทม.ได้หารือร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 ในกรุงเทพฯ (โครงการความร่วมมือด้านการจัดการคุณภาพอากาศระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ปี พ.ศ.2566
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินโครงการฯ ระหว่างกรุงเทพมหานครและหน่วยงาน AIRPARIF (หน่วยงานอิสระแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส) มอบหมายให้ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 พ.ค.66
ซึ่งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศของผู้ผลิตจากประเทศในแถบยุโรป (เขตหนาว) ที่นำมาทดสอบการใช้งานในกรุงเทพมหานคร (เขตร้อน) และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แตกต่างกับกรุงเทพมหานคร รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการคุณภาพอากาศระหว่างกรุงเทพมหานครและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในอนาคต
โดยได้ติดตั้งไมโครเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2566 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันการดำเนินโครงการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงในส่วนของกรุงเทพมหานคร เป็นการตอกย้ำว่าเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล รวมทั้งบุคลากรยังได้เรียนรู้นวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองและข้อมูลที่ตรวจวัดได้สามารถแลกเปลี่ยนกันเพื่อใช้ประโยชน์การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่อไป
และสำหรับกิจกรรมการประเมินการใช้งานไมโครเซนเซอร์ข้างต้นมีเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ ความแม่นยำ ประโยชน์ การใช้งาน ความสะดวกในการพกพา และราคา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจาก 12 ประเทศ 31 บริษัท 51 ไมโครเซนเซอร์.