นโปเลียนตัดสินใจช้าไป จากการถอยทัพออกจากรัสเซีย กองทัพของเขาต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บจนถึงจุดเยือกแข็ง กองทัพฝรั่งเศสสูญเสียอย่างมหาศาลจากการถอยทัพ
ซากกระดูกที่ขุดพบในปี 2001 ในหลุมฝังศพโบราณขนาดมหึมาที่เมืองวิลนิอัส (Vilnius) ในประเทศลิทัวเนีย หรือที่ในอดีตเรียกว่าเมืองวิลนา (Vilna) หลายๆ ร่าง ไม่ได้นอนราบเหมือนศพทั่วไป แต่ดูเหมือนจะตั้งท่าค้างอยู่ในท่วงท่าแบบแปลกๆ
“เป็นไปได้ว่าพลทหารที่อ่อนแรง และอิดโรยอาจจะแข็งตายไปเองจากสภาพอากาศแสนหฤโหดของฤดูเหมันต์ในรัสเซีย ที่อุณหภูมิอาจจะดิ่งลงไปได้ถึงติดลบสามสิบองศาเซลเซียส” มิเชล ซิกโนลิ (Michel Signoli) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิลนิอัสเขียนบรรยายในเปเปอร์ของพวกเขาในปี 2004
“พวกเขาน่าจะค้างเป็นน้ำแข็งอยู่ในท่านั้นมาก่อนที่จะถูกเอามาโยนลงไปฝังรวมกันอยู่ในหลุม”
“สิ่งสำคัญที่ทำให้นโปเลียนต้องสูญเสียกองทัพแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสอันเกรียงไกรของเขาไปก็คือการขาดเสบียงอาหารและน้ำ และการตัดสินใจถอนทัพที่เชื่องช้า จนทำให้กองทัพต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นของฤดูเหมันต์ในรัสเซียที่หนาวเหน็บจนถึงขั้นทำคนให้แข็งตายได้” มิเชลกล่าว
ในบันทึกประวัติศาสตร์จะมีระบุไว้อย่างชัดเจน ไทฟัส บิด และคอตีบ คือสามโรคร้ายที่สังหารไพร่พลของกองทัพนโปเลียนไปอย่างหนัก และแค่ไทฟัสอย่างเดียวก็คร่าชีวิตทหารหาญแห่งฝรั่งเศสไปมากกว่าที่เสียไปจากการรบพุ่งประจัญบานกับกองทัพจากจักรวรรดิรัสเซียเสียอีก
คำถามคือในหลุมฝังศพโบราณยังมีซากเหาจากสมัยนโปเลียนหลงเหลืออยู่หรือเปล่า?
และเพื่อตอบคำถามนี้ ดิดิแอร์ ราอูลต์ (Didier Raoult) จากมหาวิทยาลัยเมดิเตอร์เรเนียน ในมาร์เซย์ (Université de la Méditerranée in Marseille) ในประเทศฝรั่งเศส ได้ลองเอาดินจากหลุมศพของกองทัพนโปเลียนจากวิลนิอัส มาแยกสกัดซากเหาจากอดีต
แต่ด้วยไม่มีใครเคยแยกสกัดเหาจากดินหลุมศพแบบนี้มาก่อน และตัวอย่างดินโบราณก็มีจำกัด พวกเขาเลยต้องลองหาวิธีสกัดเหาเอาเอง
พวกเขาเริ่มเลี้ยงเหาสายพันธุ์ออร์แลนโดโดยใช้เลือดกระต่าย
พอเหาอายุอยู่ในช่วงสองสัปดาห์ถึงสองเดือน พวกเขาก็เอาพวกมันมาอบให้แห้งที่ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 10 วัน ก่อนจะผสมลงไปในดินราวๆ ครึ่งกิโลกรัมจากเมืองมาร์เซย์ที่มีลักษณะคล้ายๆ ดินจากสุสานทหารนโปเลียนในวิลนิอัส
ดิดิแอร์ทดลองอยู่หลายวิธีเพื่อแยกเศษซากเหาจากดิน ใช้น้ำ ใช้ทราย ใช้พาราฟิน ใช้น้ำมันมะกอก ไปจนถึงใช้น้ำมันก๊าด
และท้ายที่สุด เขาพบว่าการผสมน้ำเย็นเข้ากับน้ำมันก๊าดและดินจะให้ผลดีที่สุดในการแยกชิ้นส่วนเหาออกมาจากดินโบราณ
พอได้กระบวนการ เขาก็เริ่มทดลองกับดินสุสานโบราณ
เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก ดิดิแอร์สามารถแยกชิ้นส่วนเหาร่างกาย (body louse) จากยุคนโปเลียนออกมาจากดินสุสานได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดิดิแอร์เริ่มสกัดและวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเหายุคนโปเลียน และจากโพรงประสาทฟันของทหารจากหลุมฝังศพแห่งวิลนิอัส
ผลที่ได้น่าสนใจมาก เขาพบว่าดีเอ็นเอจากโพรงประสาทฟันของทหารระบุชัดว่ากองทัพของนโปเลียนนั้นติดเชื้อโรคที่มีเหาเป็นพาหะจริงๆ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ริกเกตเซีย พรอวาเซคิไอ (Rickettsia prowazekii) ที่ก่อไข้ไทฟัส (epidemic typhus) และบาร์โทเนลลา ควินตานา (Bartonella quintana) ที่ก่อโรค “ไข้เทรนช์ (Trench fever)” ส่วนดีเอ็นเอที่สกัดจากเหานั้นพบเชื้อไข้เทรนช์เป็นหลัก
ซึ่งทำให้เขาสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ทหารจากกองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนนั้นติด “เหา” และเหาที่ติดอยู่ในนั้นก็มีเชื้อโรคอยู่จริงๆ ด้วย
ก็คงเหมือนที่แพทย์และนักชีววิทยาชื่อดัง ฮานส์ ซินส์เซอร์ (Hans Zinsser) ผู้แต่งหนังสือ “Rat, lice and History (หนู เหา และประวัติศาสตร์)” และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาวัคซีนต้านไทฟัส (ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีขาย) เคยกล่าวไว้ว่า “ดาบ หอก เกาทัณฑ์ ปืนกล หรือแม้แต่ระเบิดหนักก็ยังมีอิทธิพลต่อชะตาของประเทศน้อยกว่าเหาที่แพร่ระบาดไข้รากสาดใหญ่ เห็บที่ติดเชื้อกาฬโรค และยุงที่นำโรคไข้เหลือง”
บางทีสิ่งมีชีวิตจิ๋วจ้อยที่เรามองข้ามอาจจะเป็นอะไรที่น่ากลัวกว่าที่คิด ใครเล่าจะรู้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการล่มสลายของกองทัพที่เคยทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็คือ “เหา”
และถ้าย้อนกลับไปดูบันทึกประวัติศาสตร์ เหาพวกนี้บั่นทอนกองทัพที่เคยแข็งแกร่งจนนุ่มนิ่ม เสียตั้งแต่เริ่มกรีธาทัพเข้าโปแลนด์ หรือก็คือตั้งแต่ก่อนจะเริ่มรบกันเสียอีก…เหวอออ
คิดแล้วก็แอบสงสัยว่าถ้าในยุคนั้นมีแชมพูกำจัดเหาดีๆ ผลของการศึกในครั้งนี้จะออกมาเป็นยังไง…
https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (6) กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนติด ‘เหา’?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com