ทั่วไป

กทม.เฝ้าระวังโรคไอกรนระบาดในสถานศึกษา เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล

เดลินิวส์
อัพเดต 18 พ.ย. เวลา 15.12 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. เวลา 08.05 น. • เดลินิวส์
สนอ.-สนศ. กำชับหน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไอกรนในสถานศึกษา เบื้องต้นยังไม่พบการแพร่ระบาดหรือพบผู้ป่วยในโรงเรียนสังกัดกทม.

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผอ.สำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงกรณีพบการระบาดของโรคไอกรนในนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตปทุมวัน ว่า สนอ. ได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันไอกรนจากรพ.จำนวน 1 ราย และศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กทม.ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจจากผู้ใกล้ชิดส่งตรวจ พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติมรวม 20 ราย โดยผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้ให้ยารักษาผู้ป่วยและยาป้องกันผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีอาการทุกราย แยกกักผู้ป่วยจนรับประทานยาครบ 5 วัน เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อโรคไอกรน รวมทั้งให้แนวทางและมาตรการการป้องกันควบคุมโรคกับผู้บริหารโรงเรียน พร้อมดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไอกรนในสถานศึกษาสำหรับโรงเรียนทุกสังกัด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไอกรน รวมถึงคำแนะนำการสังเกตอาการและเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคสำหรับประชาชน การรับวัคซีนให้ครบ หากมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไอกรนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายและหากบุคคลกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นโรคไอกรนจะมีอาการรุนแรงได้มาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้าน น.ส.พิศมัย เรืองศิลป์ ผอ.สำนักการศึกษา (สนศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบการระบาดและผู้ป่วยโรคไอกรนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งจากโรงเรียนสังกัด กทม. สำนักงานเขต 50 เขต โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือสถานพยาบาลสังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม สนศ. เล็งเห็นความสำคัญในสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียน กทม. เป็นสำคัญ จึงได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลสถานการณ์โรคไอกรน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่งในรูปแบบออนไลน์ (Google Form) เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงพื้นที่รายโรงเรียนแบบทันท่วงที หากพบกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย หรือการระบาดดังกล่าว

กำหนดให้โรงเรียนรายงานจำนวนนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือพบการติดเชื้อ พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนในโรงเรียนทุกคน ดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข รวมถึงให้โรงเรียนตรวจสอบความพร้อมอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน กำชับให้จัดการเรียนการสอนในบรรยากาศพื้นที่ที่โปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ