ทั่วไป

สุดมึนนโยบายรัฐ-คมนาคม เบรกแผนพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์

Manager Online
เผยแพร่ 08 พ.ย. 2564 เวลา 12.46 น. • MGR Online

วงการพัฒนาอสังหาฯ สุดมึนนโยบายรัฐ-คมนาคม เบรกแผนพัฒนามักกะสันคอมเพล็กซ์ 3 แสนล้าน แต่ประเคนที่ดินให้กลุ่มทุนผุด "ซุปเปอร์ทาวเวอร์ 120 ชั้น" แทนทั้งที่ถอดรูปมาจากโครงการเดียวกัน

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮือฮา เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

เมื่อมีกระแสข่าวว่าบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ได้เปิดภาพร่างโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ คอมเพล็กซ์ยักษ์ขนาดความสูง 120 ชั้น 550 เมตรบนพื้นที่ 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน โดยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยว่า โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์และเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน ที่เตรียมดำเนินการอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ล้วนถอดรูปแบบมาจากโครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฯ เคยจัดทำแผนพัฒนาโครงการเพื่อนำรายได้มาล้างหนี้ขาดทุนสะสมของการรถไฟฯที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาทนั่นเอง

ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2559 การรถไฟและกระทรวงคมนาคมเคยมีนโยบายที่จะดึงเอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน "นิคมมักกะสัน”เนื้อที่กว่า 497 ไร่ให้ เป็นโครงการ "มักกะสันคอมเพล็กซ์" 3 แสนล้าน เพื่อนำรายได้มาล้างขาดทุนสะสมของการรถไฟที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนล้านบาท

แต่โครงการดังกล่าวถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในขณะนั้น "กระตุกเบรก"หัวทิ่ม ด้วยข้ออ้างต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็น สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์รถไฟให้เป็น"ปอดคนกรุง" ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์บางส่วน โดยมอบหมายให้กรมธนารักษ์กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นโยบายรัฐบาล คสช.ข้างต้น ทำเอากระทรวงการคลัง และนักลงทุนน้อย-ใหญ่ ที่หมายมั่นป้ันมือกับการพัฒนาทำเลทองผืนสุดท้ายแห่งนี้ต้อง “หาวเรอ”ไปตามๆ กัน เพราะเท่ากับพับโครงการ "มักกะสัน คอมเพล็กซ์" มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทลงไปโดยปริยาย

แต่วันดีคืนดี เมื่อรัฐบาลเปิดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง*สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว นอกจากจะได้รับวงเงินอุดหนุนการก่อสร้างร่วมแสนล้านจากรัฐบาลพร้อมสัมปทานรถไฟความเร็วสูงไปแล้ว ยังได้สิทธิ์การบริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท และสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และสถานีรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางอีกด้วย

รวมทั้งที่ดิน “ทำเลทอง” 140 ไร่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ที่ถือเป็นทำเลทองผืนสุดท้ายใจกลางกรุงที่มีการประเมินว่า มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทแถมพกไปด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 19 ต.ค.64 อนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับ บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ในส่วนของการขยายเวลาการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปจากที่กำหนดไว้ภายใน 2 ปีนับจากการลงนามในสัญญา หรือภายใน 24 ต.ค.2564

แต่ก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัท เอเชีย เอราวันได้ร้องขอให้รัฐขยายเวลาการชำระค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ออกไป 10 ปี ด้วยข้ออ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เป็นไปตามประกาณกาลที่คาดไว้ ก่อนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะอนุมัติให้ขยายเวลาออกไป 6 ปี

ทั้งที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังไม่ได้เข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าวแม้แต่น้อย

ไม่เพียงการขยายเวลาจ่ายค่าสิทธิ์เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ล่าสุด ทางกลุ่มซีพี ยังได้เผยภาพร่างโครงการ “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง ภายใต้โครงการ "ซุปเปอร์ทาวเวอร์" 120 ชั้นเพื่อรองรับโครงการไฮสปีดเทรนที่ทางกลุ่มได้รับสัมปทานจากรัฐโดยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงและเป็นแหล่งช็อปปิ้งแห่งใหม่ของโลก เป็นประตูเชื่อมโยงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีกับใจกลางเมืองหลวง กทม.

ก่อให้เกิดคำถามกลับไปยังภาครัฐ อะไรขึ้นกับโครงการ “มักกะสัน คอมเพล็กซ์” 3 แสนล้าน! เหตุใดรัฐบาลถึงกระตุกเบรกแผนพัฒนาโครงการของการรถไฟเป็นอีกบทสะท้อนตอกย้ำ "รัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน" หรือไม่?

แหล่งข่าวในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับมาพิจารณา “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” ที่รัฐบาลและการรถไฟ กระทรวงคมนาคมเซ็นสัญญากับบริษัทบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อปลายปี 2562 นั้น

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดังกล่าว ได้ผนวกเอา 3 โครงการใหญ่ที่ประกอบด้วย 1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่า 2.24 สานล้านบาท ,2.โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มูลค่า 25,000 ล้านบาท และ3. โครงการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันเนื้อที่รวมกว่า 140 ไร่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทที่สามารถจะก่อสร้างคอมเพล็กซ์ยักษ์ต่างๆ ได้นับแสนล้านบาทได้แล้ว

ล่าสุด! มีรายงานว่า ทางกลุ่มซีพี.ได้เตรียมพลิกขุมทรัพย์ทำเลทองสถานีรถไฟมักกะสันแห่งนี้ ให้เป็น “ซุปเปอร์ทาวเวอร์ –เมืองไฮสปีดเทรน” ที่จะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการ “วัน แบงค็อก” บนถนนพระราม 4 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

แต่ “โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์” แห่งนี้จะมีอาคารขนาด 120 ชั้น ความสูง 550 เมตร ที่สูงที่สุดในเมืองไทย เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของประเทศไทยเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีกับย่านธุรกิจใจกลางเมืองหลวง กทม.ให้เป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวนักธุรกิจอีกด้วย

โครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์" ที่ “เจ้าสัว” เตรียมเปิดตัวให้ฮือฮาด้วยหวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุงและประเทศไทยนั้น แท้ที่จริงแล้วก็ถอดรูปแบบมาจากโครงการ "มักกะสันคอมเพล็กซ์" เดิมที่การรถไฟฯจัดทำแผนพัฒนาโครงการเอาไว้ก่อนหน้านั่นเอง

เพียงแต่แทนที่รัฐหรือการรถไฟฯ จะได้เม็ดเงินรายได้จากการพัฒนาโครงการนี้อน่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อนำมาล้างหนี้สินให้กับการรถไฟ ก็กลับกลายเป็นเจ้าสัว "ชุบมือเปิบ"ไปแทน

โดยที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมก็ยังคงโขกสับการรถไฟฯ ว่า ….”บริหารห่วยแตก สร้างแต่หนี้…บลาๆๆๆ……

ทั้งที่เขาเคยจัดทำแผนสะสางหนี้ จะเอาทำเลทองมักกะสันไปทำคอมเพล็กซ์ แบบ “ศูนย์เอนเนอยี่ คอมเพล็กซ์”หรือศูนย์คมนาคมบางซื่อแล้ว แต่ก็กลับ "กระตุกเบรก" หัวทิ่ม และไล่ให้ไปทำสวนสาธารณะ-พิพิธภัณธ์ไปซะฉิบ! แต่วันนี้กลับไฟเขียวให้ “เจ้าสัว”เข้ามา “ชุบมือเปิบ” เช่นนี้

จะให้ประชาชนคนไทยเข้าใจว่าอย่างไรกันหรือฯพณฯท่าน พลเอกประยุทธ์

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ