เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาผ่านพ้นไปครบ 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ "วันออกพรรษา" ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝน ของพระภิกษุสงฆ์
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งวันนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา คำว่า ปวารณา แปลว่า อนุญาต หรือยอมให้ โดยวันนี้ ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากการจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ในทุกระดับชั้นที่ได้จำพรรษาร่วมกันมาตลอด 3 เดือนสามารถว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องของกันและกันได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี และความเสมอภาค
หลังจากการทำพิธีออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ตามปกติ และสามารถค้างแรมในสถานที่ต่าง ๆ ที่ไปแสดงเทศนาได้ โดยที่ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติใดๆ
การทำบุญวันออกพรรษา
ตามปกติแล้ว มีที่นิยมกันอยู่ 2 อย่าง คือ การตักบาตรเทโว และ เทศน์มหาชาติ
การตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือ ตักบาตรดาวดึงส์ โดยประเพณีที่ปฏิบัติกันนั้น คือ การนำข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตร ประเพณีนี้สืบเนืองมาจากการเสด็จกลับจากการจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงมีความเชื่อว่า การออกมาตักบาตรในวันออกพรรษา เป็นเหมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้า ที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเป็นเหตุทำให้มีการตักบาตรกันอย่างล้นหลามในวันออกพรรษา
เทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังวันออกพรรษา หลังจากพ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือน หลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และมหากฐิน
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ อาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลด และข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทาน และเล่นสนุกสนานรื่นเริง
แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่น ทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี
งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
- ประเพณีตักบาตรเทโว วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน
- ประเพณีพิธีทอดกฐิน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือกำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา
- ประเพณีพิธีทอดผ้าป่า ไม่จำกัดช่วงเวลา
- ประเพณีเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10
ออกพรรษาวิถีใหม่ ห่างไกลโควิด
อย่างไรก็กี เนื่องจากวันออกพรรษา ในปีนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ ทำให้ กรมอนามัย ออกมาให้คำแนะนำแนวทางร่วมงานบุญ อย่างอย่างปลอดภัย คือ ให้เน้นคุมเข้มระยะห่าง ลดความแออัด ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง อาจเลี่ยงด้วยการอยู่บ้านทำบุญ ฟังเทศน์ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาผ่านช่องทางออนไลน์
สำหรับวัดและกลุ่มประชาชนทั่วไป ยังคงขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่องครัด ทั้ง 3 ด้าน
- COVID Free Environment
ควบคุมการเข้า–ออก มีจุดคัดกรอง และจุดบริการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล พร้อมจัดให้มีหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด
ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น เก้าอี้ ราวจับ ประตู ลิฟต์ หรือพื้นผิวสัมผัสอื่น ๆ ทุก 30 นาที และทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนและหลังการจัดงาน จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
กรณีใช้ระบบปรับอากาศให้เปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ ก่อนและหลังให้บริการอย่างน้อย 30 นาที และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 3 เดือน ทำความสะอาด ห้องสุขา โดยเน้นจุดสัมผัสร่วม ทุก 1-2 ชั่วโมง
หลังจัดงาน จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอ มีการคัดแยกประเภทมูลฝอย และรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลทุกวัน
- COVID Free Personnel
ผู้จัดงานหรือเจ้าภาพ ผู้ประกอบพิธี หรือผู้นำพิธี และพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการจัดงาน ควรได้รับการฉีดวัคซีนครบ อย่างน้อย 14 วัน หรือกรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนการจัดงาน
หากเคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้วในช่วง 1-3 เดือน ต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยไม่ต้องตรวจ ATK หรือวิธี RT-PCR ซ้ำ ก่อนเข้าพื้นที่จัดงานให้ลงทะเบียน ตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย หากไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้ติดสัญลักษณ์แสดงการคัดกรอง "ผ่าน"
ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และลงทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด สแกน QR code สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแบบลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
- COVID Free Customer
กำหนดให้มีผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 50% ของพื้นที่จัดงานสำหรับสถานที่ปิด และ 75% สำหรับสถานที่เปิด ผู้เข้าร่วมงานต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกสถานที่ โดยการใช้แอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด
สแกน QR code สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแบบลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน กำหนดจุดวัดอุณหภูมิคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน หากอุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ผู้เข้าร่วมงานจะได้สัญลักษณ์ที่อนุญาตให้ “ผ่าน” เข้าไปในงานได้ ให้ประเมินตนเองโดยใช้แอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้าบริเวณการจัดงาน
หากมีการโปรยทาน ขอให้มีคนควบคุม การเว้นระยะห่างระหว่างประชาชนที่มารอรับการโปรยทาน ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมงานควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด เมื่อกลับถึงบ้านต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ผมยังปฏิบัติงานครับ...สาธุ🙏🙏🙏😷😷😷
ภาคตะวันออก จ้า
20 ต.ค. 2564 เวลา 23.31 น.
ดูทั้งหมด