หุ้น การลงทุน

คลังวางกรอบปั๊มรายได้ แตะ 3 ล้านล้านใน 2 ปี-ขยับปฏิรูปภาษี

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 10 เม.ย. เวลา 10.11 น. • เผยแพร่ 11 เม.ย. เวลา 06.07 น.

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบาย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าการขยายตัวตามศักยภาพ

เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพ (Potential Growth) สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2567 ที่มีแนวโน้มขยายตัว 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขาดดุลเพิ่มกระตุ้น GDP

โดยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงวางเป้าหมายการคลังช่วง 4 ปีข้างหน้า ให้มีการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 ที่ 865,700 ล้านบาท หรือ 4.42% ต่อ GDP (เพิ่มจากปี 2567 ที่ขาดดุล 693,000 ล้านบาท), ปี 2569 ขาดดุลที่ 703,000 ล้านบาท หรือ 3.42% ต่อ GDP, ปี 2570 ขาดดุลที่ 693,000 ล้านบาท หรือ 3.21% ต่อ GDP และ ปี 2571 ขาดดุลที่ 683,000 ล้านบาท หรือ 3.01% ต่อ GDP

ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 6
6.83%, ปี 2569 จะอยู่ที่ 67,53%, ปี 2570 จะอยู่ที่ 67.57% และปี 2571 จะอยู่ที่ 67.05%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ รัฐบาลวางกรอบรายจ่ายประจำปี 2568 ไว้ที่ 3,752,700 ล้านบาท, ปี 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท, ปี 2570 เพิ่มเป็น 3,897,000 ล้านบาท และปี 2571 เพิ่มเป็น 4,077,000 ล้านบาท

ตั้งเป้า 2 ปี รายได้ทะลุ 3 ล้านล้าน

ส่วนรายได้รัฐบาล ประมาณการว่า ปี 2568 รัฐบาลจะมีรายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท, ปี 2569 จะมีรายได้สุทธิ 3,040,000 ล้านบาท, ปี 2570 จะมีรายได้สุทธิ 3,204,000 ล้านบาท และปี 2571 จะมีรายได้สุทธิ 3,394,000 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายกฯสั่งคุมรายจ่ายไม่จำเป็น

ขณะที่ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลัง กล่าวว่า การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดการขาดดุลไว้ที่ 713,000 ล้านบาท เป็น 865,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่น่าจะมีปัญหากระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 500,000-600,000 ล้านบาท

“วันนี้ฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อ GDP นั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ต่อ GDP และเมื่อมีการบริหารจัดการ หนี้สาธารณะก็จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง”

กราฟฟิก รายได้รัฐ

รมช.คลังกล่าวว่า ในแง่การควบคุมรายจ่ายนั้น ขณะนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการปรับลดรายจ่ายประจำ ตรงไหนที่ไม่จำเป็น เช่น เดิมรัฐบาลมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปีละราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเต็มกรอบเพดานแล้ว ตรงนี้ก็เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแล้ว ก็จะลดไป

ย้ำปฏิรูปภาษีหารายได้เพิ่ม

ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ แต่การจะปรับเพิ่มภาษีตัวใด ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยหลาย ๆ เรื่องประกอบ และต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม

“เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทุกรัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระยะเวลา” รมช.คลังกล่าว

เก็บ VAT นำเข้าของตั้งแต่บาทแรก

ด้าน “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่างประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย หรือสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ที่เดิมมีการยกเว้น VAT

“การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ขายในต่างประเทศกับผู้ขายในประเทศ ในแง่การแข่งขันและการจัดเก็บภาษี” รมช.คลังกล่าว

“ดร.กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่า การเก็บ VAT จากสินค้าต่างประเทศที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีแน่นอน

5 เดือนปี’67 เก็บต่ำเป้า

สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ในปีงบประมาณ 2567 ช่วง 5 เดือนแรก “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เดือน ต.ค. 2566-ก.พ. 2567 รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิ 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 25,144 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 2.5% จากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการของกรมสรรพสามิต เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ

ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

“รายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 37,059 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5%” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : คลังวางกรอบปั๊มรายได้ แตะ 3 ล้านล้านใน 2 ปี-ขยับปฏิรูปภาษี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ