“รถแห่” มหรสพบนคันรถ สัญลักษณ์ของความสนุกสนานครื้นเครงของชาวอีสานบ้านเฮา ที่แค่ได้ยินชื่อก็ชวนให้นึกถึงแสงนีออนที่ประดับตกแต่งสว่างไสว เสียงกระหึ่มของเครื่องเสียงที่มาก่อนเห็นคันรถ สีสันสะดุดตาดูสนุกสนาน กับนักร้องนักดนตรีที่ตอนนี้มีชื่อเสียงไปแล้วหลายท่าน ที่ขาดไม่ได้ก็คือเจ้าภาพและผู้ชมที่กำลังออกลีลาท่าทางตามเสียงเพลงลูกทุ่งหมอลำบ้างหรือเพลงสมัยใหม่ติดหูบ้าง ในงานบุญ งานบวช และงานประเพณีต่าง ๆ ที่ได้จ้างรถแห่มาสร้างความบันเทิง เรียกได้ว่าหากพูดถึงอีสาน ภาพของอาหารแซ่บและความบันเทิงต้องโผล่มา และรถแห่ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความบันเทิงอีสานในภาพจำของใครหลายคน
ภาพรถแห่ดาราทองเมื่อ พ.ศ. 2540© today.line.me
แล้วภาพจำของความบันเทิงเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรกันนะ?
จากการค้นคว้า ผู้เขียนพบว่า ก่อนหน้านี้ชาวอีสานมักจะเฉลิมฉลองงานมหรสพต่างๆ ผ่านขบวนแห่ที่มีเฉพาะคนฟ้อนเซิ้ง โดยยังไม่มีการแต่งรถเพื่อร่วมขบวนแห่แต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 จึงเริ่มมีการนำรถกะบะใส่เครื่องเสียง โดยยุคนั้นยังไม่มีนักร้อง ไม่มีนักดนตรีเหมือนในปัจจุบัน ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดและสมรรถนะมาเป็นรถบรรทุกที่มีนักดนตรีนักร้องแห่ไปตามหมู่บ้าน จนขยับชั้นมาเป็นรถบัสที่ติดตั้งเครื่องเสียง มีนักร้องนักดนตรีแบบฟูลทีม เทียบได้กับเวทีคอนเสิร์ตบนรถก็ไม่ปาน
นับถึงปัจจุบัน คณะรถแห่ที่ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในวงการรถแห่ คงต้องมีชื่อของ “รถแห่ดาราทอง มิวสิค” รวมอยู่ด้วยเป็นแน่ โดย “รถแห่ดาราทอง มิวสิค” ถือเป็นรถแห่ดนตรีสดวงแรกของภาคอีสาน มีสำนักงานอยู่ที่บ้านหนองตราดน้อย ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ความโดดเด่นของรถแห่จากดาราทอง มิวสิค คือ การนำรถบรรทุกหกล้อมาดัดแปลง ปรับปรุง และแปลงโฉมเป็นรถแห่แสนซิ่งที่ชวนว้าวและชวนติดตามทุกปี
ภาพฮูปแต้มขบวนแห่อีสาน ที่สิมวัดป่าเลไลย์ จังหวัดมหาสารคาม
ภาพจาก : rms.msu.ac.th
ย่อหน้าด้านบนนั้นเล่าถึงประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของ “รถแห่” แบบที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน แต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ก่อน “รถแห่” จะถือกำเนิด ชาวอีสานนั้นเฉลิมฉลองมหรสพหรืองานบุญผ่าน “ขบวนแห่” โดยขบวนแห่ในยุคก่อน จะมีการนำลำแคน และลำเต้ย มาสร้างความบันเทิงควบคู่กับการฟ้อนรำ ทั้งนี้ จากการศึกษาผ่านฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมท้องถิ่นอีสาน พบว่า ถึงแม้ภาพจิตรกรรมภายในสิมอีสาน (อุโบสถ) จะเน้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่ด้วยความที่งานสร้างจากฝีมือของช่างท้องถิ่น จึงมีการสะท้อนผ่านมุมมองของช่างในเรื่องของวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวอีสานผสมผสานเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ประเพณีความเชื่อ รวมถึงขบวนแห่ที่มีเครื่องดนตรีท้องถิ่นแฝงอยู่ในภาพนั้นด้วย
ผู้เขียนขอหยิบยกฮูปแต้มภายในสิมของวัดป่าเลย์ไลย์ บ้านหนองพอก หมู่ 7 ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม มาเป็นตัวอย่าง ภาพนี้เขียนโดยพระอาจารย์สิงห์วงศ์ ฮูปแต้มที่อยู่ในวัดป่าเลย์ไลย์นี้ ปรากฏภาพของชายหญิงที่อยู่ในท่าฟ้อนรำคล้ายกับท่าเซิ้ง รวมถึงมีภาพของเครื่องเป่าที่คล้ายแคนและครื่องดีด จึงมีการสันนิษฐานกันว่า ฮูปแต้มนี้เป็นภาพขบวนแห่ของชาวอีสาน โดยสิมแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2460 จึงเป็นไปได้ว่าภาพจิตรกรรมภายในสิมน่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงปีนั้น ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ขบวนแห่ของชาวอีสานพบหลักฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างน้อย
หลากหลายมุมมองเกี่ยวกับรถแห่ จากคนสามรุ่น
เพื่อสะท้อนภาพของรถแห่ในหลากหลายมุมมอง ผู้เขียนจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลต่างวัย 3 ท่าน โดยท่านแรกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน อย่าง ดร.ธัญลักษณ์ อุบลเลิศ ชาวยโสธร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ประธานสภาคณาจารย์และบุคลากร กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด
ผู้เขียนได้ขอสัมภาษณ์ ดร.ธัญลักษณ์ ในมุมของผู้อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมและสร้างสรรค์ความบันเทิง โดยท่านได้พูดถึงรถแห่จากความเข้าใจของท่านว่า “รถแห่จากที่เคยเห็น จะเป็นการนำรถบรรทุก หรือรถสิบล้อ มาตกแต่งแล้วมีการเล่นดนตรีสากลบนรถ ลักษณะเหมือนรถคอนเสิร์ต มีการนำรถแห่เข้ามาสร้างความบันเทิงในงานประเพณีต่างๆ อย่าง บั้งไฟยโสธร รวมถึงงานบุญ งานบวช งานแห่นาค เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้ก่อนหน้านี้ก็มีขบวนแห่อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำรถแห่มาสร้างความครึกครื้น เดิมทีก็สนุกแบบบ้าน ๆ กัน เรื่องรถแห่นี่ถือได้ว่าวัยรุ่นมีบทบาทในการนำเข้ามาในงานบุญต่าง ๆ อย่างมาก”
นอกจากนี้ ดร.ธัญลักษณ์ ยังได้แบ่งปันถึงความเป็นมาของรถแห่ ว่า “สมัยก่อน คนจะมองว่า อีสานแห้งแล้ง แต่เมื่อมีโอกาสพิเศษ คนอีสานก็สนุกเต็มที่เลยนะ ขบวนแห่อย่างเช่น งานแห่กันหลอน งานแห่กฐิน ถึงจะมีเครื่องดนตรีแค่ไม่กี่ชิ้น แต่คนก็ร้องรำกันเต็มที่ไม่แพ้รถแห่สมัยนี้เลย แล้วต่อมาเริ่มมีการพัฒนาเครื่องดนตรีไฟฟ้า อย่าง พวกพิณให้เสียงดังกังวานขึ้น คนยิ่งสนุกเต็มที่ รถแห่ถือได้ว่าเป็นที่นิยมกันทั้งผู้ใหญ่และคนหนุ่มสาวอีสาน
“ส่วนเรื่องประเภทของรถแห่ ก่อนที่จะใช้รถขนาดใหญ่อย่างในสมัยนี้ เมื่อก่อนเขาจะแห่กันบนรถกะบะ แล้วค่อยพัฒนาเรื่องรถ สมัยนี้นอกจากความสนุกที่ชาวเราได้รับแล้ว ผู้นำยังได้เรื่องของภาพลักษณ์หรือโชว์ฐานะด้วย เพราะการจะจ้างรถแห่ได้ต้องใช้งบประมาณที่สูงพอสมควร ถ้าใครสามารถจ้างรถแห่มาได้ จะบ่งบอกถึงฐานะของคนนั้นได้ดี คนก็พึงพอใจ คือลักษณะคนอีสานนี่ ถ้าเป็นกิจกรรมที่ถูกจริตด้วยแล้ว เขาจะมองข้ามด้านลบ ก็คือความฟุ่มเฟือยไปได้”
ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนทีเดียวว่า ความสนุกม่วนคักกับคนอีสานนั้นขาดกันไปไม่ได้ และจากข้อมูลที่ ดร.ธัญลักษณ์ ได้เล่าถึงบทบาทของวัยรุ่นในการนำรถแห่มาร่วมงานบุญงานบวช ยังทำให้เราพอจะอนุมานได้ว่า การที่ดนตรีลูกทุ่งสมัยใหม่หรือเพลงสมัยใหม่เริ่มถูกแสดงหรือเปิดในขบวนรถแห่มากขึ้น น่าจะเกิดจากความสนใจของวัยรุ่น จนในปัจจุบันเพลงที่ถูกเปิดในขบวนรถแห่ก็มีหลากหลาย แต่หลัก ๆ จะเน้นท่วงทำนองอันเร้าใจสนุกสนาน
นอกจากจะได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรมชาวอีสานโดยตรงแล้ว ผู้เขียนยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครูแพท ครูวัยกลางคนชาวยโสธร ที่ปัจจุบันทำอาชีพเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนสันติธรรม โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำผ่านออนไลน์ ซึ่งคุณครูแพทได้สะท้อนมุมมองไว้ดังนี้
“ในมุมมองของครู ครูรู้จักรถแห่จากขบวนกลองยาวก่อน จากนั้นเราเห็นพัฒนาการว่า เขาเริ่มแห่กันบนพาหนะ เช่น รถ โดยรถแห่คือสัญลักษณ์ความบันเทิง ชาวบ้านได้ผ่อนคลาย สนุกด้วยกันอย่างเต็มที่” เคยตั้งคำถามไหมว่าทำไมต้องเป็นรถ? “อาจเพราะมันสะดวก ติดตั้งเครื่องเสียง แล้วก็น่าจะประหยัดงบประมาณมากกว่า” โดยส่วนตัวเคยมีประสบการณ์รถแห่ไหมคะ? “ตัวครูเองไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับรถแห่เท่าไหร่ แต่คุณแม่ชอบมาก ปัจจุบัน แม่อายุ 54 ปี ชอบไปดูรถแห่กับคุณพ่อ แล้วก็เดอะแก๊งรุ่น ๆ เดียวกัน”
สำหรับคุณครูแพทแล้ว รถแห่คือตัวแทนที่สะท้อนความรักสนุกของคนอีสาน แต่ขณะเดียวกัน รถแห่ในปัจจุบันมักมีภาพการดื่มของมึนเมาและการเปิดเพลงที่ส่อไปในทางเพศบ่อยครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจถูกตีความได้หลายแง่มุม และในมุมของครูแพท ชอบที่จะเห็นรถแห่ในมุมสร้างสรรค์มากกว่า
จากมุมมองคุณครู เราข้ามฟากมาสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดีชั้นปีที่ 4 คือ อุบลวรรณ โสไกร หรือ คุณสาม คุณสามเป็นชาวภาคกลาง ความเห็นของเธอจึงช่วยสะท้อนมุมมองของคนต่างพื้นที่ที่มีต่อรถแห่ได้เป็นอย่างดี
“เรารู้จักรถแห่ผ่านเพื่อนที่เรียนอยู่ที่ ม.ขอนแก่น ภาพรถแห่ที่เราจำได้ชัดเจน คือ ภาพที่คนจำนวนมากออกมาเต้น ซึ่งเพื่อนเราเขาก็เคยมีประสบการณ์เต้นหน้ารถแห่ เขาก็เล่าให้ฟังถึงความม่วน … ถ้าถามว่าอยากมีประสบการณ์รถแห่ไหม? ก็ได้นะ แต่เราก็อยากมีประสบการณ์ความสนุกแบบอื่นด้วยเช่นกัน”
ในฐานะที่คุณสามเรียนโบราณคดีมา เธอจึงมองว่า รถแห่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสนุกของอีสาน นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงพัฒนาการความสร้างสรรค์ของผู้คนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี “เราจะเข้าใจพัฒนาการความสร้างสรรค์ของชาวอีสานที่งอกเงยขึ้นในแต่ละปีผ่านภาพรถแห่ อย่างปีนี้รถแห่เป็นธีมนี้นะ ส่วนปีหน้ารถแห่อาจจะเป็นอีกธีม รวมถึงแนวเพลงและเครื่องดนตรีก็อาจจะเปลี่ยนไป รถแห่ช่วยสะท้อนความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้”
เมื่อถามถึงรถแห่ในมุมเชิงลบที่หลายคนอาจจะกังวล คุณสามได้แบ่งปันมุมมองของตนว่า “ถ้ารถแห่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็น่าจะเพียงพอแล้ว ในเรื่องการดื่ม ต่อให้ไม่มีรถแห่ก็มีคนดื่มเหล้าอยู่แล้ว เพียงแต่รถแห่เห็นภาพชัดเลยโดนโจมตี ซึ่งเรามองว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนเนื้อเพลงที่อาจจะมีทะลึ่งตึงตังโผล่มาเนี่ย มองว่า เพลงฝรั่งเนื้อหาแนวนี้ก็เยอะ แต่ไม่มีใครว่าอะไรเลย คิดว่าประเด็นที่ควรสนใจในขบวนรถแห่ คือ เรื่อง sexual harassment มากกว่า”
ทั้งหมดนี้คือมุมมองจากคนสามรุ่น ซึ่งถึงแม้จะสะท้อนมุมที่ต่างกันไป แต่จุดร่วมหนึ่งที่ทุกท่านเห็นพ้องกันคือ รถแห่เป็นพื้นที่ความบันเทิงและความสนุกของชาวอีสาน แม้อีสานจะถูกจดจำว่าเป็นภูมิภาคอันแสนแห้งแล้ง แต่ความม่วนคักกลับงอกงามเบ่งบานในหัวใจชาวอีสานทุกหมู่เหล่าอย่างไม่ว่างเว้น โดย “รถแห่” คือหนึ่งในตัวอย่างอันแสนชัดเจน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักสนุกของชาวอีสาน ที่ฝังรากมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน
และจะสืบทอดยาวนานต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
ที่มา :
บทความ "รถแห่ แรงโตสวนกระแส รากหญ้าฟุบ" จาก คมชัดลึก
http://rms.msu.ac.th/upload/art_culture/doc/6108004_1590(0).pdf
https://today.line.me/th/v2/article/OQDqNv
เรื่อง : อริสา อูชิบะ