เล่ากันในหมู่นักเขียนรุ่นเก่าว่า ถ้าใครเขียนหนังสือระดับมาสเตอร์พีซได้สักเล่ม เพื่อนนักเขียนจะบอกว่า “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ”
แปลว่า นักเขียนคนนั้นทำงานที่มีคุณค่าสูงพอจนสามารถตายได้ เพราะได้สร้างรอยเท้าลึกและงานดีประดับไว้ในโลกา ดังนั้นถือว่าหมดภารกิจบนโลกแล้ว
งานดีระดับนั้นเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของเขา เมื่อทำสำเร็จ ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !”
ใครสักกี่คนในโลกที่สามารถทำงานจนถึงขั้นได้ยิน “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !”?
ถ้าใช้ตัวอย่างนักเขียนที่ยกมาข้างต้น เขียนงานมาสเตอร์พีซได้เมื่อไร ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ!” เราก็สามารถมองอาชีพอื่น ๆ ดังนี้ เช่น
ถ้านักบวชบรรลุธรรมเมื่อไร ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ”
ถ้านักปรัชญาเข้าใจสัจธรรมเมื่อไร ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ”
ถ้านักวิทยาศาสตร์คิดค้นทฤษฎีสำคัญได้เมื่อไร ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !”
ถ้านักประดิษฐ์สร้างสรรค์งานที่เปลี่ยนโลกได้ ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !”
แน่นอน ประโยค “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !” เป็นการเปรียบเทียบมากกว่าจะให้ตายจริง ๆ
และจุด ‘พีค’ ของงานสร้างสรรค์หรือการงานอาจเป็นเรื่องนานาจิตตัง ขึ้นกับว่าตั้งเป้าสูงหรือไม่ค่อยสูงด้วย เป้าหมายของคนบางคนสูงมาก เพราะติดในปรัชญา ‘in search of excellence’ ทุกอย่างต้องดีเลิศ ทำให้ไปไม่ถึงระดับ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !” สักที
คนบางคนทำงานดีมาก ก็ยังรู้สึกว่าไม่ดี
บางที “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !” ก็ขึ้นกับความพอใจของเรา ถ้าเรารู้สึกว่างานที่ทำดีแล้ว หรือพอใจแล้ว ก็ “ตายได้แล้ว” เช่นกัน
…………………………………………..
อย่างไรก็ตาม จุด ‘พีค’ แห่งชีวิตกว้างกว่าแค่สร้างสรรค์งาน
สังคมเรามักแบ่งหน้าที่บนโลกมนุษย์คือ
1 เรียนหนังสือ
2 ทำงาน
3 สร้างครอบครัว
4 เลี้ยงลูก
เมื่อลูกโตและทำงานหาเลี้ยงชีพได้แล้ว ก็ถือว่าหมดหน้าที่ หรือ “ตายได้แล้ว”
คนไทยใช้คำพูดว่า “ตายตาหลับแล้ว”
เมื่อลูกเรียนจบ มีครอบครัว ไม่เป็นภาระต่อสังคม ก็หมดห่วง
แต่ระดับ ‘หมดห่วง’ ของแต่ละคนก็ต่างกัน
‘หมดห่วง’ ไม่ได้แปลว่าไปถึงจุด ‘พีค’ แห่งความพอใจในชีวิต
เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์งาน การใช้ชีวิตก็อาจขึ้นกับความพอใจเช่นกัน
พอใจและพอเพียงเมื่อใด ก็ถึงจุด “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !” เมื่อนั้น
บางคนมักน้อยเพราะเป็นคนพอใจง่าย บางคนตั้งเป้าสูงเพราะพอใจยาก
เคยถามตัวเองไหมว่า “พอใจชีวิตที่ผ่านมาหรือเปล่า ?”
มันอาจขึ้นอยู่กับว่าเรามองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย และพอใจง่ายหรือไม่
ถ้าสามารถรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาดีต่อโลก ก็ “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !”
ความพอใจอาจเป็นการใช้ชีวิตบนโลกแบบคนธรรมดา ง่าย ๆ นี่เอง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีชื่อเสียงหรือร่ำรวยร้อยล้าน
มิใช่ไม่ควรแสวงหาความเป็นเลิศ แต่ไม่ควรติดในกรอบของมันจนกระทั่งไม่เคยพอใจอะไรเลย
การไปถึงจุด “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ !” ก็คือการไปถึงจุดความพอใจของชีวิตที่เกิดมา
ส่วนคนที่ประพฤติตัวแย่มาก ๆ หรือใช้ชีวิตไม่คุ้มกับทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา หรือเป็นคนรกโลก ก็มักมีคนอื่นอยาก “อนุญาตให้ตายได้แล้วว่ะ”
…………………………………………
วินทร์ เลียววาริณ
Yongyuth ชีวิตคือการเรียนรู้ไม่รู้จบ เพราะทางโลก ความรู้ไม่มีวันจบ ต่างกับความรู้ทางธรรม มันเป็นไปเพื่อความจบสิ้น ไม่มาเกิดอีก เพราะรู้ดีว่า เกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ ถ้ามันไม่เบื่อหน่าย ในการเกิด เพราะไม่เห็นทุกข์ ของการเกิด มันย่อมได้เกิด พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อริยสัจธรรม ความจริงอันประเสริฐ คือการไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการทำจิตให้บริสุทธิ์ ให้หมดไฟกิเลสทั้งสามกอง ด้วยการ ขูดเขลา คือกิเลสตัวโมหะเอาออก ด้วย การอบรมเจริญปัญญา ตามหลักไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญา บางคนก็ไม่สามารถเจริญถึงปัญญา เพราะ ขาดศีล
20 เม.ย. 2563 เวลา 07.35 น.
Walee ชอบงานเขียนของวินทร์มากง่ายแต่ลึก
20 เม.ย. 2563 เวลา 02.54 น.
Lek Tawan ถ้างั้นอย่างใอ้โนบิตะนักกฎหมายก็"อณุญาติให้ตายใด้แล้วว่ะ"เพราะมันสามารถทำให้กฎหมายที่เคยศักดิ์สิทธ์เที่ยงธรรมบิดเบี้ยวใด้
20 เม.ย. 2563 เวลา 10.56 น.
ตีความแบบลึกซึ้ง ก็เขียนแบบอวยไอ้โจ นูโว
อ่านแล้วเหมือนดูดี
20 เม.ย. 2563 เวลา 10.14 น.
::: J:O:U:I ::: แล้วไอ้ที่บอกว่าตายได้ตายก่อนเลย คือไรครับ
20 เม.ย. 2563 เวลา 03.12 น.
ดูทั้งหมด