ทั่วไป

นาทีชีวิต "มดยมโลก" งับลูกแมลงสาบ ถูกเก็บรักษาในก้อนอำพันนานเกือบร้อยล้านปี

Khaosod
อัพเดต 09 ส.ค. 2563 เวลา 14.48 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2563 เวลา 14.47 น.
ก้อนอำพันนี้ถูกพบที่รัฐคะฉิ่นของเมียนมาตั้งแต่ปี 2017 / BARDEN ET AL. / CURRENT BIOLOGY 2020

นาทีชีวิต "มดยมโลก" งับลูกแมลงสาบ ถูกเก็บรักษาในก้อนอำพันนานเกือบร้อยล้านปี - BBCไทย

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ฉบับล่าสุด เผยผลการศึกษาแมลงดึกดำบรรพ์บางสายพันธุ์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสเมื่อราวร้อยล้านปีก่อน โดยวิเคราะห์จากซากฟอสซิลของ "มดยมโลก" (Hell Ant) ที่กำลังงับเหยื่อค้างอยู่ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีการค้นพบก้อนอำพันดังกล่าวในรัฐคะฉิ่นของเมียนมาตั้งแต่ปี 2017 โดยภายในก้อนอำพันคือซากฟอสซิลของมดที่มีขากรรไกรแนวตั้งขนาดใหญ่และโค้งงอเหมือนเคียวยมทูต ทั้งยังอยู่ในท่วงท่าขณะกำลังงับลูกของบรรพบุรุษแมลงสาบสายพันธุ์หนึ่งเอาไว้ด้วย

ก้อนอำพันนี้ถูกพบที่รัฐคะฉิ่นของเมียนมาตั้งแต่ปี 2017 / BARDEN ET AL. / CURRENT BIOLOGY 2020

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แมลงโบราณทั้งสองชนิดต่างสูญพันธุ์ไปแล้วทั้งคู่ แต่ซากที่เหลืออยู่ในก้อนอำพันหายากชิ้นนี้ เป็นหลักฐานชี้ถึงขั้นตอนสำคัญทางวิวัฒนาการที่ส่งผลทั้งต่อความอยู่รอดและดับสูญของเผ่าพันธุ์

ดร. ฟิลิป บาร์เดน ผู้นำทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเจอร์ซีย์ (NJIT)ของสหรัฐฯ ระบุว่าฟอสซิลดังกล่าวคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรก ซึ่งยืนยันว่า "มดยมโลก" หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Haidomyrmecine เป็นมดชนิดเดียวที่มีขากรรไกรล่างซึ่งวางตัวและเคลื่อนไหวขึ้นลงในแนวตั้ง ต่างจากบรรดามดในปัจจุบันที่มีขากรรไกรในแนวขวางและขยับไปมาทางด้านข้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพที่วาดขึ้นใหม่ (ขวา) แสดงให้เห็นรูปร่างของแมลงทั้งสองชนิดชัดเจนขึ้น / BARDEN ET AL. / CURRENT BIOLOGY 2020

ซากของมดยมโลกที่อยู่ในก้อนอำพันดังกล่าว ใช้ขากรรไกรล่างที่เหมือนกับเคียวขนาดใหญ่ตรึงเหยื่อให้ติดอยู่กับเขายาวที่หน้าผาก ทำให้สามารถสังหารเหยื่อได้ง่าย

ส่วนมดยมโลกอีกชนิดหนึ่งที่มีการค้นพบก่อนหน้านี้ ใช้เขาที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะแทงเหยื่อและดูดกินของเหลวจากอวัยวะภายใน จนได้ฉายาว่า "วลาดนักเสียบ" (Vlad the Impaler) เหมือนกับต้นกำเนิดของตำนานผีดูดเลือด

แบบจำลองส่วนหัวของมดยมโลก สีแดงคือขากรรไกรแนวตั้งรูปเคียว สีฟ้าคือเขาที่งอกบนหน้าผาก / BARDEN ET AL. / CURRENT BIOLOGY 2020

ดร. บาร์เดนชี้ว่า การมีขากรรไกรแนวตั้งที่แปลกประหลาด เป็นเสมือนการทดลองทางวิวัฒนาการ ที่จะพิสูจน์ว่าการล่าเหยื่อได้ง่ายขึ้นโดยแลกกับการมีขากรรไกรแนวตั้งขนาดใหญ่นี้คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าอวัยวะที่ไม่เหมือนใครนี้จำกัดการเคลื่อนไหวส่วนหัวของมันมากเกินไป และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องสูญพันธุ์ โดยไม่มีมดชนิดใดในปัจจุบันตามรอยวิวัฒนาการไปในแนวนี้

" 99% ของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่เคยอยู่บนโลกได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และเราก็กำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์ระดับมหึมาครั้งที่ 6 เข้าไปทุกขณะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติและลักษณะของการสูญพันธุ์หลากหลายแบบเอาไว้ เพื่อให้ทราบว่าอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยตัดสินให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดหรือสิ้นสูญ" ดร. บาร์เดนกล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 9
  • Dea.r 🌴
    และลูกหลานของสัตว์ทั้งคู่ก็ยังคงอยู่ในบ้านของเราทุกคน
    09 ส.ค. 2563 เวลา 15.48 น.
  • ⚜️TS.ガンダンム789⚜️
    ศิลปะจากความโหดร้ายของธรรมชาติ ที่งดงาม
    09 ส.ค. 2563 เวลา 15.47 น.
  • Yut
    ขอบคุณภาพขาวดำ ไม่งั้นมองไม่ออกเลยตัวไหนเป็นตัวไหน
    09 ส.ค. 2563 เวลา 15.57 น.
  • แดง ไบเล่
    น่าทึ่ง มากครับ
    09 ส.ค. 2563 เวลา 15.58 น.
  • สูญพันธ์เพราะตัวเอง
    09 ส.ค. 2563 เวลา 16.06 น.
ดูทั้งหมด