ว่าด้วยเรื่องของ "ค็อกเทล" เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ที่หลายคนเคยยกดื่ม เพลิดเพลินกับรสชาติแฝงความอร่อยและซับซ้อน แต่อาจจะยังไม่เคยได้รู้จักเรื่องราวความเป็นมาของมัน เนื่องในโอกาส วัน World Cocktail Day เราเลยขอชวนทุกคนมาเข้าคลาสสั้น ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับ "ค็อกเทล" ให้ดียิ่งขึ้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเมนูอะไรที่มือใหม่หัดไปนั่งดื่มที่บาร์ควรรู้จักบ้าง
**หมายเหตุ: จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้ต้องสนับสนุนหรือชักจูงให้ผู้อ่านดื่มแอลกอฮอล์ แต่เพียงต้องการให้ข้อมูลเชิงวิชาการที่น่ารู้เกี่ยวกับการดื่มค็อกเทล และวัฒนธรรมในการดื่ม**
ค็อกเทลคืออะไร
ประวัติศาสตร์ของการทำและดื่มค็อกเทลเริ่มต้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ย้อนกลับไปประมาณ 300 กว่าปี โดยคำว่า “ค็อกเทล” ถูกนำมาใช้เรียกเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์แบบ pure spirit อย่างเช่น วอดก้า, จิน, บรั่นดี, วิสกี้ หรือไวน์ เข้ากับส่วนผสมที่ช่วยลดรสชาติของเหล้าและเพิ่มความเอร็ดอร่อยให้กับประสบการณ์การดื่ม
ตามคำอธิบายของ เดวิด วอนดริช นักประวัติศาสตร์ด้านเครื่องดื่ม ค็อกเทลในยุคเริ่มแรกถูกใช้ในเชิงการแพทย์ด้วย คิดค้นโดยเภสัชกรชาวอังกฤษที่นำบิทเทอร์ (เหล้าชนิดหนึ่งที่นำสมุนไพรไปแช่หมักไว้) ไปผสมกับบรั่นดีหรือไวน์ ใช้ในการรักษาโรค ต่อมาค็อกเทลเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้นในช่วงปี 1700 คราวนี้กระเถิบจากจุดประสงค์เดิมที่ใช้เพื่อการรักษามาอยู่ท่ามกลางวงนักดื่ม มีการดัดแปลงส่วนผสมที่นำมาใช้ทำค็อกเทลที่เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น จากแต่เดิมเน้นการใช้ขิงและพริกไทยในการปรุงรส ในรุ่นต่อ ๆ มา เริ่มใช้ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ใช้น้ำแข็งเข้ามาดันรสชาติจากการริเริ่มของบาร์เทนเดอร์ชาวอเมริกันที่เป็นบิดาแห่งศาสตร์ Mixology (การผสมเครื่องดื่ม) "เจอร์รี่ โธมัส" และในปัจจุบันก็มีการดัดแปลงวัตถุดิบแปลก ๆ เข้าไปผสมผสานในการคิดค้นค็อกเทลรูปแบบใหม่ ๆ (ที่ผู้เขียนเคยเห็นว่าแปลกที่สุด เห็นจะเป็นวอดก้าที่นำไปอินฟิวซ์กับแมงดาทะเล หรือการใช้วาซาบิในการชงค็อกเทล) รวมไปถึงเทคนิคที่แพรวพราวในการสร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่มให้ออกมาน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ทำไมถึงใช้ชื่อว่า “ค็อกเทล”
ที่มาของการบัญญัติศัพท์ที่ว่า “ค็อกเทล” นี้มีหลากหลายทฤษฎีที่อธิบายเอาไว้มาก ๆ บ้างก็ว่าในยุคก่อนใช้หางของไก่ตัวผู้ (cock) มาประดับตกแต่งในเครื่องดื่ม บ้างก็บอกว่าที่เรียกว่า “ค็อกเทล” เพราะพ่อค้าร้านเหล้านำแอลกอฮอล์ที่เหลือท้ายถังมาเจือจางและผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อขายให้ได้ราคา แต่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมาจากเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ คำศัพท์ที่ว่า “ค็อกเทล” มาจากวงการแข่งม้า ซึ่งก่อนที่เจ้าของจะนำม้าไปประมูล จะเอาขิงและพริกไทยไปยัดรูทวารของมันเอาไว้เพื่อให้ม้าซู่ซ่าและดูสุขภาพดี ตรงเป๋งกับการที่ค็อกเทลเริ่มต้นด้วยการใช้ขิงกับพริกไทยเป็นวัตถุดิบหลัก เลยโยกคำนี้มาใช้กับค็อกเทลที่เป็นเครื่องดื่มด้วย
วัฒนธรรมในการดื่มค็อกเทลเป็นอย่างไร
การดื่มค็อกเทลต่างจากการเทเหล้าจากขวดแล้วดื่มแบบ straight from the bottle ตรงที่ศาสตร์ของการปรุงค็อกเทลใช้ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้ามาผนวกรวมด้วยเป้าหมายในการดื่มค็อกเทลจึงไม่ใช่การดวลเหล้าที่รีบหวดเพื่อให้รีบเมา แต่เป็นการดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่ได้ทดลองเครื่องดื่มสูตรใหม่ ๆ การพูดคุยกับบาร์เทนเดอร์และเพื่อนนักดื่มด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่บาร์ค็อกเทล หรือที่เรียกกันว่า "สปีกอีซี่บาร์" มักจะชูเป็นจุดขายคือประสบการณ์ของการดื่ม โดยเฉพาะเรื่องราวของค็อกเทลแต่ละตัวที่ทำให้การไปบาร์แต่ละที่สนุกไม่เหมือนกัน
มือใหม่หัดดื่ม เริ่มที่เมนูค็อกเทลตัวไหนดี
บาร์แต่ละแห่งจะมีเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ต่างกันออกไป ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ สำหรับการคิดค้นเมนูทำให้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละอย่างที่อยู่ในแก้วมีอะไรบ้างจนกว่าจะได้พูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการจับเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น ๆ มาใส่ หรืออาจจะครีเอตให้เข้ากับสไตล์ของบาร์ แต่หากคุณเป็นมือใหม่และอยากเริ่มจากการเข้าใจค็อกเทลที่เป็นมาตรฐานของการชงค็อกเทล (ที่บาร์เทนเดอร์ทุกคนจะต้องรู้จัก) เราขอแนะนำ 8 คลาสสิกค็อกเทลนี้ พร้อมกับคำอธิบายคร่าว ๆ ว่าแต่ละอย่างคืออะไร รู้เอาไว้ใช้เป็นโค้ดในการสั่งเครื่องดื่มสำหรับการไปบาร์ (หลังปลดล็อกโควิด-19) ในครั้งต่อไป!
1. Old Fashioned ค็อกเทลที่ขึ้นชื่อว่า "แมน" ที่สุดจากการปรากฏตัวในซีรี่ส์เรื่อง Mad Men เป็นเหมือนเครื่องดื่มประจำกายของ ดอน เดรเปอร์ และในอีกหลาย ๆ ฉากของภาพยนตร์ฮอลลีวูด รองฐานด้วยวิสกี้เข้ม ๆ และปรุงรสด้วยบิทเทอร์กับเปลือกเลมอนหรือส้มเพื่อเพิ่มความหอมแต่ก็ยังนำด้วยความเข้มและกลมกล่อมของเหล้า
2. Martini คลาสสิกค็อกเทลที่ค่อนข้างแรง ใช้แอลกอฮอล์สีใส อย่างเช่น จินหรือวอดก้า เป็นเบส ผสมกับเหล้าเวอร์มูธ และประดับด้วยมะกอก ซึ่งถ้าใครไม่ชอบรสของเหล้า จะไม่แนะนำให้ดื่มแก้วนี้เป็นอันขาดเพราะรสชาติจะค่อนไปทางดุเดือด
3. Margarita ร่างไฮบริดของเตกีลา ประเภทของแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมในแถบอเมริกาใต้ กับเกลือและมะนาว แทนที่จะกระดอกชอตเตกีลา แล้วตามด้วยการเลียเกลือกับบีบมะนาวเข้าปาก มาการิต้าเป็นเวอร์ชั่นสำหรับคนที่ชอบดื่มในจังหวะที่ช้ากว่านั้น และเป็นเครื่องดื่มที่เข้าใจไม่ยาก แม้แต่ระดับบีกินเนอร์ก็สามารถดื่มได้
4. Bloody Mary เมนูเครื่องดื่มที่ฟังชื่อดูแล้วไม่ค่อยน่าพิสมัย กับประวัติความเป็นมาที่ตั้งตามชื่อของดาราหญิงชาวอเมริกัน แมรี พิกฟอร์ด กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่ใช้วอดก้ามาผสมกับน้ำมะเขือเทศ ซอสพริกทาบาสโก และพริกไทย ถึงจะฟังชื่อส่วนผสมแล้วไม่ค่อยน่าจูงใจให้ดื่ม แต่เมนูนี้กลับได้ใจนักดื่มหลายคนและเชื่อกันว่าถ้ามีอาการเมาค้าง ให้ดื่ม Bloody Mary แก้อาการมึนตึ้บได้ผลชะงัดด้วย
5. Daiquiri เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักแค่ 3 อย่างคือ เหล้ารัม น้ำมะนาว และน้ำเชื่อม เป็นมิตรกับนักดื่มที่ไม่ชอบลิ้มรสของเหล้าแบบจัดจ้าน เป็นเครื่องดื่มที่ทำก็ง่าย ดื่มก็ง่าย และในบางที่ก็มีการปรับเอาผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปผสมด้วย อย่างเช่น Strawberry Daiquiri และ Mango Daiquiri
6. Moscow Mule เครื่องดื่มที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักธุรกิจชาวอเมริกันที่นำเข้าวดอก้าจากรัสเซีย และเจ้าของแบรนด์จินเจอร์เบียร์ ที่นำเอาส่วนผสมที่ตัวเองขายมาผสมกัน ในแก้ว 1 แก้วของ Moscow Mule เลยประกอบด้วย วอดก้า, จินเจอร์เบียร์ และน้ำมะนาว ที่สำคัญคือจะต้องเสิร์ฟในแก้วทองแดงเท่านั้น ถึงจะเป็น Moscow Mule ขนานแท้!
7. Mojito เป็นเมนูที่หลายคนจะจำสับสนกับ Margarita ด้วยแหล่งกำเนิดที่มาจากอเมริกาใต้เหมือนกันและอยู่ในหมวดหมู่ซัมเมอร์ดริงก์เช่นกัน แต่จริง ๆ แล้ว Mojito (อ่านว่า โม-ฮี-โต้) ใช้แอลกอลฮอล์คนละประเภทในการชง ในแก้วของ Mojito จะใช้เป็นเหล้ารัมผสมกับน้ำมะนาว น้ำตาลทราย และส่วนประกอบสำคัญคือใบมิ้นท์ ดื่มแล้วได้บรรยากาศของการพักผ่อนริมทะเลเอาซะมาก ๆ และเป็นหนึ่งในเมนูเครื่องดื่มที่มักจะใช้จับคู่กับอาหารเม็กซิกันได้ดีด้วย
8. Pina Colada ไหน ๆ ก็พูดถึงเครื่องดื่มแนว ๆ ทรอปิคอลแล้ว อีกหนึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ Pina Colada (อ่านว่า พิน-ยา-คอ-ลา-ดา) มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเปอร์โตริโก ใช้เหล้ารัมขาวผสม เหล้ารัมรสมะพร้าว (หรือ Malibu) กะทิ และน้ำสับปะรด เป็นค็อกเทลที่เหมาะสมกับบ้านเรามาก ๆ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและอากาศที่เหมาะกับการดื่ม
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังดื่มมากขึ้น แต่ขอย้ำเตือนกันอีกครั้งว่าดื่มแต่พอดี และดื่มด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมนะคะ : )
อ้างอิง