ไลฟ์สไตล์

5 ข้อน่ารู้อาการ ‘จาม’ หาคำตอบทำไม ‘กลั้นจาม’ แล้วลมเข้าสมอง?

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 07.33 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 07.15 น.

จากกรณีหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจากการ "กลั้นจาม" เมื่อแพทย์ตรวจเพิ่มด้วยการสแกน MRI สมองพบว่ามีลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้าย ซึ่งคุณหมอที่รักษาคนไข้คนดังกล่าวคือ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ที่ได้รักษาคนไข้รายนี้ซ้ำถึง 2 ครั้ง และคุณหมอยังได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับวิธีการรักษาเอาไว้ด้วย ดังนี้

“..ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 85 ปี เป็นโรคเบาหวานและไขมันสูง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 มาโรงพยาบาลด้วยอาการพูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง หลังจาก “จาม” ขณะเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อมๆ กัน แพทย์ได้ทำ MRI คลื่นแม่เหล็กสมอง พบมีลม (air pocket)ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 7 × 4 × 3.2 เซนติเมตร รักษาจนหายดี ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ผู้ป่วยกลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากจามแล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่น เพราะไม่อยากให้มีเสียงดัง ทำมีอาการพูดไม่ชัด หน้าข้างขวาเบี้ยว หูข้างซ้ายอื้อ มีเสียงดัง ทำคอมพิวเตอร์สมองพบลม (air pocket) ในเนื้อสมองข้างซ้ายขนาด 5.1 × 4.1 × 2.8 เซนติเมตร ตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อ 3 ปีก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาเหตุของลมเข้าสมองทั้ง 2 ครั้งของผู้ป่วยรายนี้ คือ “จาม” แล้วเอามือบีบจมูกเม้มปากแน่นพร้อมๆ กัน แรงดันในช่องปากคงสูงมาก จึงทำให้ลมผ่านจากท่อในปากเข้าหูชั้นกลางด้านซ้าย แล้วดันทะลุผ่านกระโหลกใต้สมองเข้าเนื้อสมองด้านซ้าย ดังนั้น อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการเอามือมาบีบจมูกและเม้มปากแน่นขณะ “จาม” เด็ดขาด ทั้งนี้ สามารถจามขณะใส่หน้ากากอนามัยได้ ไม่เป็นอันตราย เพราะลมสามารถผ่านหน้ากากได้..”

159039059747

จากข้อความนี้บนเฟซบุ๊คของหมอมนูญ ทำให้หลายคนอาจกังวลใจเกี่ยวกับการ “จาม” ของตัวเองอยู่ไม่น้อย เอาเป็นว่าถ้ายังไม่ชัวร์ เราได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการจาม และข้อเสียจากการ “กลั้นจาม” เอามาให้ได้ทราบกัน ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. การ "จาม" คืออะไร? ทำไมคนเราถึงจาม?

การจาม (Sneezing) เป็นกลไกของร่างกายที่ขับอากาศออกจากทางเดินหายใจ ผ่านออกมาทางปากหรือจมูกอย่างรวดเร็ว มักเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในโพรงจมูก เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก

การจามถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ โดยการจามนั้นเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ ซึ่งมักเกิดร่วมกับอาการคันจมูก คัดจมูก และน้ำมูกไหล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. ขณะที่ "จาม" กลไกร่างกายทำงานอย่างไร?

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง เชื้อโรค ฯลฯ เข้ามาในร่างกาย สารระคายเคืองเหล่านั้นจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับสัมผัสที่อยู่ภายในเยื่อบุโพรงจมูก จากนั้นเซลล์ประสาทนี้จะส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) ไปยังสมองส่วนเมดัลลา (Medulla) ที่มีหน้าที่ควบคุมการหายใจ

เมื่อสมองส่วนเมดัลลาถูกกระตุ้นจนรับรู้ว่าว่ามีสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูก สมองส่วนนี้จะสั่งงานให้กล้ามเนื้อต่างๆ ในทางเดินหายใจทำงาน จึงเกิดการจามขึ้นมาได้ นอกจากนี้สมองส่วนเมดัลลายังไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำตาและของเหลวภายในโพรงจมูกอีกด้วย ผ่านระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system) ดังนั้น เมื่อมีการจาม จึงอาจมีน้ำตาและน้ำมูกไหลไปพร้อมๆ กัน

159039060089

3. ความเร็วลมการ “จาม” 100 ไมล์/ชม. จริงหรือ?

รู้หรือไม่? การจาม 1 ครั้งแบบปกติ สามารถแพร่เชื้อโรคได้ในวงกว้างและแพร่ในระยะไกลมาก ถึง 1.5 เมตร และถ้าจามแบบแรงสุดๆ พบว่าเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปไกลถึง 9 เมตร เลยทีเดียว ว่ากันว่าการจามแต่ละครั้งมีความเร็วลมที่รุนแรงมาก วัดได้ 100 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 160.93 กม./ชม.) แต่ต่อมาก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับการจามในปี 2013 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal PLOS ONE พบว่าอาสาสมัคร 6 คนที่มาทดสอบการ "จาม" พบว่ามีความเร็วลมอยู่ที่ 4.5 เมตรต่อวินาที หรือแค่ 10 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น!

อีกอย่างที่สับสนกันมากเกี่ยวกับการ “จาม” และการ “หลับตา” เคยมีบางทฤษฎีอ้างว่าสาเหตุที่เราหลับตาขณะจาม เป็นเพราะว่าการจามมีความรุนแรงมากจนอาจทำให้ลูกตาหลุดออกมาจากเบ้าตา ร่างกายจึงมีกลไกทำให้คนเราต้องหลับตาขณะจาม ซึ่งเรื่องนี้พบว่า.. ไม่จริง!

David Huston รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮูสตัน (Texas A&M) และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาภูมิแพ้ ประจำโรงพยาบาล Methodist เมืองฮูสตัน อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า จริงๆ แล้วก็มีความเป็นไปได้ (แม้ว่าจะยาก) ที่คนเราจะลืมตาขณะจาม

การจามเกี่ยวข้องกับการขับไล่อากาศและสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย เมื่อถูกกระตุ้นจากศูนย์กลางสมอง จากนั้นก้านสมองจะสั่งการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร กล้ามเนื้อหูรูด รวมถึงกล้ามเนื้อควบคุมบริเวณเปลือกตาด้วย ทำให้เปลือกตาปิดเวลาจาม เป็นเพียงปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายเท่านั้น (เหมือนเวลาที่คุณหมอเอาค้อนเล็กๆ มาเคาะที่หัวเข่า แล้วขาคนไข้เตะออกมาเอง)

“ไม่ต้องกังวลว่าลูกตาจะถลนออกมา ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเรื่องนี้ได้ และแรงดันที่ปล่อยออกมาจากการจามนั้น ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกตาโผล่ออกมา แม้ว่าดวงตาของคุณจะเปิดออกก็ตาม” หมอ David บอก

159039060282

4. วิธีการ “จาม” ที่ถูกต้องในยุค COVID-19

มีแพทย์หลายคนออกมาแนะนำเกี่ยวกับการ “จาม” ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ยิ่งต้องใส่ใจและระมัดระวังเรื่องการจามให้มากขึ้น โดยมีข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ระบุว่า การปิดปากไอและจามและล้างมือ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมาตรการควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล เช่น แผนกฉุกเฉินสำนักงานแพทย์และคลินิก เพื่อช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่วนบุคคลทั่วไปก็ควรปฏิบัติด้วยเช่นกัน ดังนี้

- พกผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชู่ติดคตัวไว้ตลอดเวลา เมื่อจะไอหรือจามให้ใช้กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง

- หลังการจามเสร็จ ทิ้งกระดาษทิชชู่ลงถังขยะ แล้วล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

- หากไม่มีผ้าหรือทิชชู่ ให้จามใส่ข้อพับข้อศอกของคุณ ไม่ใช่จามใส่มือ!

- หลังจากจามไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์

159039060491

5. อันตรายที่เกิดได้ หากคุณ “กลั้นจาม”

จากข้างต้นที่บอกว่ามีเคสคนไข้หญิงที่ “กลั้นจาม” จนมีอาการป่วยและต้องรีบมาพบแพทย์นั้น เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และต้องระวังอย่ากลั้นจามแบบนั้นเด็ดขาด นอกจากจะทำให้มีลมดันเข้าไปในเนื้อสมองเหมือนเคสนี้แล้ว ยังอาจส่งผลอันตรายอื่นๆ ต่อร่างกายได้อีกหลายอย่าง (ยกเว้นไม่ทำให้หัวใจหยุดเต้นอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด) เช่น

- แก้วหูแตก: แรงดันสูงจะถูกสร้างขึ้นในระบบทางเดินหายใจเมื่อคุณกำลังจะ “จาม” จากนั้นอากาศจะเข้าไปในหูของคุณอากาศที่มีความดันนี้ จะไหลลงสู่ท่อในหูแต่ละข้างของคุณที่เชื่อมต่อกับหูชั้นกลางและแก้วหู หากกลั้นจามเอาไว้ มีความเป็นไปได้ที่ความดันจะทำให้แก้วหูของคุณแตก ส่งผลให้สูญเสียการได้ยิน

- หูชั้นกลางอักเสบ: การจามคือการปล่อยลม (พร้อมกับเชื้อโรค) ออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วและรุนแรง สมมติว่าเกิดการเปลี่ยนทิศทางลม แทนที่ลมจะออกมาทางจมูกตามปกติ แต่เมื่อคุณ “กลั้นจาม” ลมนั้นก็จะดันเข้าไปในช่องหูชั้นกลาง เชื้อโรคที่มาพร้อมกับลมจามก็จะติดอยู่ในชั้นหู ทำให้เกิดการติดเชื้อได้

- หลอดเลือดฝอยเสียหาย: มีความเป็นไปได้ที่การ “กลั้นจาม” ทำให้เกิดความดันในร่างกายเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกถูกบีบอัดและระเบิด แต่โชคดีที่การบาดเจ็บดังกล่าวมักทำให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย เช่น ทำให้ตาและจมูกเป็นสีแดง เป็นต้น

- กะบังลมเกิดแผลฉีกขาด: กะบังลมเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณหน้าอกเหนือท้องของคุณ การบาดเจ็บที่กระบังลมเกิดขึ้นได้ยาก แต่ถ้าในกรณีของอากาศที่มีแรงดันสูง จากการ “กลั้นจาม” ก็อาจเป็นสาเหตุให้กะบังลมเป็นแผลฉีกขาดได้ ซึ่งนี่เป็นอาการบาดเจ็บที่คุกคามถึงชีวิตซึ่งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันที 

- หลอดเลือดแดงโป่งพอง: หากโชคร้ายจริงๆ การ “กลั้นจาม” อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงที่คาดไม่ถึงอย่าง “เส้นเลือดในสมองโป่งพอง” หรือ “เส้นเลือดในสมองแตก” นำไปสู่การมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะรอบสมอง เป็นการบาดเจ็บที่คุกคามถึงชีวิต

----------------------

อ้างอิง:

https://www.cdc.gov/

https://www.livescience.com

https://www.facebook.com/permalink

https://www.facebook.com/DramaAddict

https://www.healthline.com/

https://www.honestdocs.co

กรุงเทพธุรกิจมี Line Sticker แล้วนะ รู้ยัง!

มนุษย์ออฟฟิศกับชีวิตอันยุ่งเหยิง ชวนกันมาส่งต่ออารมณ์ของคนทำงาน ผ่าน Sticker HAPPY OFFICE (ออฟฟิศหรรษา)

โหลดกันได้แล้วที่นี่!    Sticker HAPPY OFFICE (ออฟฟิศหรรษา)

159039200928

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • wijai
    เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด น้ำไขสันหลังรั่วไหลออกด้วย
    25 พ.ค. 2563 เวลา 11.06 น.
ดูทั้งหมด