กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Muscle pain syndrome) หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการ MPS คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อมัดนั้นทำงานหนักและหดตัวเป็นเวลานานจนเกิดอาการปวด มักเป็นการปวดตื้อๆ หรือปวดร้าวในกล้ามเนื้อ อาการปวดอาจเกิดขึ้นตลอดเวลา หรือเฉพาะเวลาใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นก็ได้
เกิดที่ไหน
ส่วนมากกล้ามเนื้อหดเกร็งมักเกิดกับกล้ามเนื้อคอ ไหล่ บ่า และหลัง และมักเกิดขึ้นนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป จนกลายเป็นอาการปวดเมื่อยเรื้อรังที่รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
กล้ามเนื้อหดเกร็งเกิดจากอะไร?
กล้ามเนื้อหดเกร็งเกิดจากการออกแรง หรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นอย่างหนักในท่าทางซ้ำๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อหดตัวอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้พักและไม่คลายตัวออก กล้ามเนื้อจึงไม่มีเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดพลังงานและมีของเสียคั่งค้าง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยล้าตามมาได้ หากไม่รักษา หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กล้ามเนื้อมัดนั้นอาจเกิดการอักเสบเรื้อรังกลายเป็นพังผืด หรือเมื่อคลำดูจะพบเป็นก้อนแข็งๆ ิซึ่งเรียกว่า “จุดกดเจ็บ (trigger point)" ได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง
ปัจจัยเสี่ยงโดยมากมักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้แก่
- การออกแรงยกของหนักในท่าเดิมเป็นประจำ
- การทำงานในท่าทางเดิมซ้ำๆ โดยไม่ได้พัก เช่น คนทำงานรับ-จ่ายของ คนทำงานในโรงงาน คนขับรถประจำทาง พนักงานออฟฟิศ
- การใช้โทรศัพท์ในท่าก้มหน้า งอหลัง เป็นเวลานานๆ หรือชอบใช้คอและไหล่หนีบโทรศัพท์เวลาคุย
- การนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยที่ตำแหน่งและความสูงของโต๊ะ-เก้าอี้ไม่เหมาะสม
- การใช้ไหล่ข้างเดียวสะพายกระเป๋าหนักๆ
- การนอนโดยใช้เครื่องนอนที่ไม่รับกับสรีระ เช่น นอนหมอนสูง หรือต่ำเกินไป
- การออกกำลังกายโดยไม่ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลัง
- การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ
นอกจากปัจจัยที่ว่ามาแล้ว ความเครียดก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวและทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยรุนแรงได้ด้วย
กล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน vs กล้ามเนื้อหดเกร็งเรื้อรัง
กล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน (Acute myofascial pain syndrome)
คือการเกิดอาการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน เช่น ปวดทันทีหลังยกของหนัก หรือปวดจากการออกกำลังกายนาน 1-2 สัปดาห์ สาเหตุมักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือกล้ามเนื้อสัมผัสกับความเย็นนานๆ เมื่อได้พักกล้ามเนื้อและดูแลอย่างเหมาะสม อาการปวดมักหายได้เองในเวลาไม่กี่สัปดาห์และไม่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยในระยะยาว
การปฐมพยาบาลสำหรับกล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน ทำได้โดยใช้ลูกประคบ หรือผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณที่ปวดเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือจะใช้สเปรย์ฉีดเพื่อคลายกล้ามเนื้อก็ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการนวด หรือกดแรงๆ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบมากขึ้น
กล้ามเนื้อหดเกร็งเรื้อรัง (Chronic myofascial pain syndrome)
คือการเกิดอาการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งยาวนานกว่า 2 เดือน มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักและไม่เหมาะสมติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การทำงานในท่าทางซ้ำๆ อาการปวดของกล้ามเนื้อหดเกร็งเรื้อรังจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากปวดเฉพาะเวลาทำงานก่อน ไปจนถึงขั้นปวดตลอดเวลาจนรบกวนการใช้ชีวิต อาการปวดนี้มักไม่หายไปง่ายๆ จนกว่าจะได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง
การรักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง
แนวทางการรักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง สามารถทำได้หลายแนวทาง ดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาคลายกล้ามเนื้อชั่วคราว ยารักษาเส้นประสาทและลดอาการเกร็ง ยาฉีดชนิด steroid รวมถึงการฉีด Botulinum toxin เพื่อลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อด้วย
การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีบรรเทาอาการปวดร่วมกับการคลายกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เกิดอาการซ้ำ โดยการกายภาพบำบัดมีอยู่หลายขั้นตอน เช่น การรักษาด้วยความร้อน การบริหารกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายโดยใช้ท่าอุปกรณ์ต่างๆ
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การใช้การแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาอาการปวด เช่น การนวดกดจุด การฝังเข็ม พบว่า การฝังเข็มนั้นสามารถสลายพังผืดในกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบเรื้อรัง คลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งตัว และช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้
การป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ การก้มคอเล่นโทรศัพท์มากเกินไป
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้แข็งแรงและยืดหยุ่น
- เมื่อออกกำลังกายควรยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกาย
- เลือกเครื่องนอนที่เหมาะสมกับสรีระ
👨⚕️⚕️👩⚕️⚕️ ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id
💪❤️ ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @honestdocs หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้
📱📰 โหลดแอป HonestDocs สำหรับ iPhone หรือ Android ได้แล้ววันนี้! จะอ่านบทความ จะเก็บบทความไว้อ่านทีหลัง หรือจะแชร์บทความให้คนที่เราเป็นห่วง ก็ง่ายกว่าเดิมเยอะ
เปรียบเทียบดีลสุขภาพ ทำฟัน และความงาม จาก รพ. และคลินิกกว่า 100 แห่ง พร้อมจองคิวผ่าน HonestDocs คุณหมอมือถือได้เลยวันนี้ ถูกกว่าไปเอง
ขอบคุณที่วางใจ ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs (ออเนสด็อกส์) คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️