ร้านนวดต้องรู้ หลังไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการ เพื่อความงามและสุขภาพ อย่างร้านนวดแผนไทย และสปา ได้รับผลกระทบโดยตรง และรุนแรง
หลังจากร้านนวดแผนไทย สปา ต้องปิดบริการชั่วคราวตามมาตรการของรัฐบาล จนกระทั่งรัฐบาลเริ่มคลายล็อก ทำให้สามารถกลับมาให้บริการอีกครั้ง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากไวรัสโควิด -19 นี่คือสิ่งที่ ร้านนวดต้องรู้
ดังนั้น สิ่งที่ ร้านนวดต้องรู้ คือการเข้มงวดอย่างมาก ในการดูแลสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ ซึ่งมุ่งเน้นที่ความปลอดภัย ลดการสัมผัส การคัดกรอง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
อาจารย์ธนิต จึงดำรงกิจ และ ดร.ศรีดารา ติเพียร อาจารย์ประจำ หลักสูตรออกแบบภายในคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้ให้ความเห็นว่า ในด้านของการออกแบบ ร้านนวด ยุค New Normal สามารถนำมาเป็นข้อปฏิบัติได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
แบบระยะสั้น (Short Term)
การปรับปรุงในระยะสั้น (Short Term) ได้แก่ การจัดการกับพื้นที่ที่มีผลกับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการโดยตรง ซึ่งมีพื้นที่ 3 ส่วนหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
1. พื้นที่ต้อนรับและรอรับบริการ เป็นพื้นที่บริเวณส่วนหน้าร้าน ประกอบด้วยส่วนต้อนรับ จุดนั่งพักรอรับบริการ ให้คำปรึกษาคอร์สบริการ แสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ รับชำระเงิน สามารถปรับปรุงได้โดยแยกสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน คือ
สำหรับจุดคัดกรอง พื้นที่รอรับบริการ หากไม่มีพื้นที่ด้านนอกอาคาร ให้กันพื้นที่ต้อนรับส่วนหนึ่งไว้เป็นจุดคัดกรอง และมีฉากกั้นก่อนเข้าสู่พื้นที่นั่ง, พื้นที่รอรับบริการ ควรมีไม่เกิน 2 ที่นั่ง เว้นระยะห่างต่อที่นั่ง 1.50 เมตร และควรเป็นที่นั่งเดี่ยว และ พื้นที่ให้คำปรึกษา เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ แคชเชียร์ ต้องมีระยะห่าง 1.50 เมตร พร้อมติดตั้งฉากกั้นระหว่างผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ
2. พื้นที่ให้บริการนวด
พื้นที่บริการนวด หากเป็นพื้นที่รวม ให้เว้นระยะห่างระหว่างเตียงนวด อย่างน้อย 1.50 เมตร และติดตั้งฉากกั้นซึ่งเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ส่วนห้องนวดสปา ควรจัดเป็นห้องเตียงเดี่ยว และมีพื้นที่บริเวณรอบเตียงกว้างพอเหมาะ เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน
3. พื้นที่เก็บอุปกรณ์
พื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด 1-2 จุด เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้งาน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่สถานบริการต้องทำความสะอาดทุกครั้ง หลังให้บริการ ส่วนพื้นที่เก็บอุปกรณ์ ควรแยกพื้นที่เก็บอุปกรณ์และผ้าที่ยังไม่ได้ใช้และที่ใช้แล้วห่างจากกัน และมิดชิด
แบบระยะยาว (Long Term)
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการออกแบบพื้นที่ในอนาคต ดังนั้น นวดแผนไทย และ สปา จึงควรมีแผนการปรับตัวและการจัดเตรียมสถานที่รับรองผู้ใช้บริการในระยะยาว (Long Term)
ทั้งนี้วงการวิชาชีพสถาปนิก ต้องสามารถคิดค้นการออกแบบ ที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการให้รู้สึกปลอดภัยต่อสุขอนามัย โดยผสมผสานศิลปะการออกแบบเข้ากับจิตวิทยาสภาพแวดล้อม ซึ่งควรออกแบบบนพื้นฐาน ที่ตอบสนองทางสรีระวิทยา และจิตวิทยา ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของผู้ใช้งาน
ดังนั้น ในมุมมองของนักออกแบบเอง จะมีอยู่ 3 องค์ประกอบที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ได้แก่
องค์ประกอบที่ 1 การจัดการเชิงพื้นที่ในสถานบริการ
ควรคำนึงถึงหลักการจัดวางพื้นที่ ทางเดินสัญจรภายใน ขนาด ระยะห่างของพื้นที่ที่เหมาะสม
พื้นที่ใช้สอยภายใน ควรแยกกลุ่มการใช้งานอย่างชัดเจน จำกัดพื้นที่ของผู้ใช้บริการแต่ละคน รวมทั้งการสัญจรภายในร้าน ต้องแยกชัดเจนระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ แบ่งเส้นทางในการเก็บสิ่งของที่ใช้งานแล้ว แยกการใช้งานเฉพาะบุคคล เน้นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
การจัดการเชิงพื้นที่มี 3 ส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ
พื้นที่ต้อนรับและจุดรอรับบริการ เริ่มจาก จุดคัดกรองด้านนอก เพิ่มจุดล้างมือในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยก่อนผู้ใช้บริการจะเข้าสู่พื้นที่ต้อนรับหรือจุดรอรรับบริการ, จุดรอรับบริการ ควรใช้เก้าอี้แบบเดียว และมีการเว้นระยะห่าง หรือขั้นด้วยโต๊ะ
จุดให้คำปรึกษา ควรจัดเป็นพื้นที่แยกต่างหาก เป็นชุดละ 2 ที่นั่ง และแบ่งขอบเขตพื้นที่ชัดเจน และ เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์และแคชเชียร์ ควรเพิ่มระยะห่างระหว่างพื้นที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ พร้อมจัดระยะห่างระหว่างที่นั่งอย่างน้อย 1.50 เมตร
พื้นที่ให้บริการนวด พื้นที่นวดเท้าและนวดไทย หากเป็นพื้นที่นวดรวม ให้เว้นระยะของเตียงนวด 1.50 เมตรและติดตั้งฉากกั้นระหว่างเตียง สามารถปิดเปิดได้ แต่ต้องมีส่วนของผนังยื่นออกมา 1.00 เมตร และควรใช้เป็นประตูบานเลื่อนแทนผ้าม่าน ส่วนพื้นที่นวดสปา ควรเป็นพื้นที่เตียงเดี่ยว หากเป็นห้องเตียงคู่ ควรจัดวางตำแหน่งให้หันด้านปลายเท้าเข้าหากัน
พื้นที่สุขอนามัยในสถานบริการ จัดวางพื้นที่ส่วนเก็บของที่ยังไม่ได้ใช้งานไว้ส่วนกลางของสถานบริการ และแยกพื้นที่ส่วนเก็บอุปกรณ์ที่ใช้แล้วไว้ส่วนด้านหลังสถานบริการ จัดการให้เป็นพื้นที่ปิดมิดชิด
องค์ประกอบที่ 2 การตกแต่งด้วยวัสดุปิดผิว
การเลือกใช้วัสดุภาย ควรเลือกใช้วัสดุลักษณะผิวเรียบ ไม่กักเก็บสิ่งสกปรกและเชื้อโรค เช่นวัสดุที่มีพื้นผิวเป็นรูพรุนเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด เช่น การใช้กระเบื้องเซรามิคผิวเรียบที่ผ่านการอบด้วยความร้อนสูง หรือใช้วัสดุปูพื้นด้วยไวนิล หรือกระเบื้องยางแบบม้วน
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีรอยต่อน้อย ลดการกักเก็บความชื้น ลดเสียงสะท้อน หลีกเลี้ยงการใช้วัสดุจากผ้าเนื่องจากจับกับสิ่งสกปรกได้ง่าย และกักเก็บเชื้อไวรัสได้นานถึง 8-12 ชั่วโมงยกเว้นกรณีผ้าปูเตียง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยผ้า ควรเปลี่ยนวัสดุเป็นเบาะ PVC หรือหนังแทน
องค์ประกอบที่ 3 การระบายอากาศภายใน
หากสถานประกอบเอื้ออำนวย ควรมีช่องระบายอากาศให้ไหลเวียนได้ดี ด้วยช่องเปิดรับอากาศจากภายนอกสู่ภายใน ยกเว้นกรณีที่สภาพภูมิอากาศรอบอาคารไม่เอื้ออำนวย อาจจำเป็นต้องใช้ระบบปรับอากาศช่วยเพื่อให้เกิดการไหลเวียน และต้องกำหนดจุดติดตั้งที่เหมาะสม เพื่อให้อากาศที่สะอาดไหวเวียนไปยังพื้นที่ที่มีการใช้งาน และต้องมีระบบดูดอากาศเพื่อการไหลเวียนที่ดี
อย่างไรก็ดี การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของสถานบริการร้านนวดแผนไทย - สปา ต้องอาศัยความเข้าใจต่อการรับรู้สภาพแวดล้อมของตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ใช้บริการ ในด้านการออกแบบสถานบริการ จึงต้องสื่อสารบางอย่าง ให้ผู้ใช้บริการรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจ ในสุขลักษณะของสถานประกอบการนั้น ๆ ด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม