การตลาดการกระหรี่..ปั๊บ
เรียนรู้การตลาดจากการท่องเที่ยวชุมชนภูเก็ต
สมาคมท่องเที่ยวภูเก็ต ชวนไปจัดกระบวนการอบรม การท่องเที่ยวแบบบ้านๆ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์
มีชาวบ้านจากเจ็ดชุมชน และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวปะปนกัน
ก๊ะคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นสรรพนามเรียกชื่อ) หอบถุงขนาดพอเหมาะมาด้วย
ผมถามว่า มันคืออะไร ก๊ะว่าถุงขนม เพิ่งทำกะหรี่ปั๊บเมื่อคืนนี้
แล้วหอบมาทำไม
ก๊ะว่า เผื่อขายได้
ยังนึกไม่ทันนึกว่าจะให้ก๊ะเอาไปวางตรงขายตรงมุมไหน
เลยตัดสินใจเหมา แล้วเอาเป็นขนมให้ผู้เข้าอบรมทานตอนช่วงพักเบรค
ก๊ะกับขนมกลายเป็นตัวอย่างให้ผู้เข้าอบรมเห็นว่า
ชาวบ้านที่มาเข้าประชุมนั้น อาจเป็นพลเมืองที่มีความคิด ความอ่านเป็นของตนอยู่แล้ว
อาจมีหัวการค้า และการตลาดอยู่เป็นทุน
เรียกภาษาพูดว่า เป็นคนมีของ
คิดดู มาประชุมยังเอาขนมติดมือมาขาย
ดังนั้นจึงหยิบเอากะหรี่ปั๊บนั่นแหละมาทำเวิร์คช็อปเล็กๆ
ลองให้ช่วยกันมองว่า
กะหรี่ปั๊บธรรมดา จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากอะไร
ผู้เข้าอบรมช่วยกันเสนอแนะ
เปลี่ยนถุงพลาสติก เป็นแพ็คเกจจิ้ง ให้ดูดีกว่านี้
บางคนเสนอว่า ทำให้ขนาดเล็กกินง่ายกว่านี้
เพิ่มไส้หลากหลาย
ก๊ะฟะบอกว่า ปกติก็มีหลายไส้แล้ว
มีไส้เนื้อ ไส้ไก่ ใส่เผือก ใส้ถั่ว
แต่ที่เอามาไส้เดียวเพราะสะดวก ทั้งเป็นไส้ที่ราคาไม่แพง ขายง่าย
คราวนี้ลองให้ตั้งชื่อกะหรี่ปั๊บกัน
มีคนเสนอชื่อ ปั๊บbyก๊ะ
หรี่ปั๊บปั๊บ ….
กะหรี้กะหรี่….
แต่ชื่อที่ก๊ะชอบที่สุด คือ สู้เพื่อลูก
ถามว่าทำไมถึงชอบชื่อนั้น
ก๊ะว่า เพราะความเป็นจริงคือทำขนมนี้จนมีรายได้ และส่งลูกจนเรียนจบปริญญาโท
ทุกวันนี้ แม้ลูกจะเป็นครูแล้ว ยามค่ำคืนก็ยังมาช่วยเป็นเรี่ยวแรงช่วยทำขนมกัน
หลายครั้งที่มีการอบรม โดยนักวิชาการ นักการตลาดหรือนักบรรยาย
ผู้ถูกเชิญชวนให้มาช่วยอบรมส่งเสริม มักเริ่มต้นด้วยทฤษฎีและจบลงด้วยหลับทุกที
แล้วก็ประเมินผลออกมาว่า
อบรมไปก็ไร้ค่า เพราะชาวบ้านไม่พัฒนาตัวเอง
แทนที่จะประเมินว่า การอบรมไม่ได้ผล เพราะหน่วยงานไม่พัฒนาตัวเองในการอบรม
ในการอบรมทุกครั้งคราว (ถ้าไม่ได้จัดตั้ง แบบจ้างคนมาเข้าอบรม )
เราควรจะเริ่มต้นบนความเชื่อในพลังของชาวบ้าน
โปรดอย่าคิดดูถูกดูแคลนว่า เขาพูดไม่เก่ง พูดไม่คล่อง นำเสนอไม่เป็น
สร้างแบรนด์ไม่ได้
ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพัฒนาเป็นกระเป๋าหิ้วซึ่งชุมชนผลิตขึ้น เป็นลายผ้าบาติกสวยๆ
ในวงเสวนากลุ่มย่อยมีคนออกความเห็นกันว่า
กระเป๋าเหล่านี้ถ้ามีป้ายยี่ห้อจะดีกว่านี้ไหม
แต่บางคนมองอีกมุมว่า การไม่ติดยี่ห้ออาจจะดีกว่า ถ้ายี่ห้อนั้นไม่ดัง
ผลิตภัณฑ์ของชุมชม ไม่จำเป็นต้องมีป้ายห้อยแขวนเสมอไป
แบรนด์ที่ดี ไม่ต้องมียี่ห้อก็ได้
เพราะแบรนด์ไม่ใช่ยี่ห้อ
และยี่ห้ออาจจะทำลายแบรนด์
ขนมกระหรี่ปั๊บของก๊ะ อาจจะมียี่ห้อว่า ก๊ะฟะ หรือ .ปั๊บเพื่อลูก
แม้ไม่ได้ปะสติกเกอร์ คุณค่าก็ไม่ได้ลดลง
ขึ้นอยู่กับว่า จะทำการตลาดแบบไหน
ตัวอย่างของขนมเต้าส้อ สองสามยี่ห้อของภูเก็ต
บางคนนิยม ใส่กล่องแบบพิมพ์สีสวยงาม
แต่ของบางยี่ห้อใส่กล่องซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างจะโบราณกว่า
มองดูกล่องธรรมดาๆ มันดูเข้ากับขนมเต้าส้อแบบบ้าน
ถ้าปรับปรุงมากไป นอกจากต้องเสียค่าแพ็คเกจจิ้งใหม่แล้ว
อาจจะทำให้ขนมบ้านๆกลายเป็นขนมกลางๆ ดูธรรมดา ไม่น่าสนใจเหมือนเดิม
คือกล่องอาจจะสวย แต่ภาพรวมอาจจะทำให้ขนมเสื่อมมนต์ขลัง
การตัดสินใจ สร้างกล่อง สร้างภาพ หรือ เล่นกับการตลาดนั้นมีค่าใช้จ่ายอันอาจทำให้การลงทุนสูงขึ้นและ แบรนด์โพสิชั่นเสียไปก็ได้
อย่างกระหรี่ปั๊บของกะฟ๊ะที่ทำจนส่งลูกได้ปริญญามาแล้ว
วันนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำกันในครอบครัว
มีช่องทางการตลาดพอสมควร
หากไปสนับสนุนเน้นการตลาดมากอาจจะทำให้รสชาติขาดเสน่ห์
การที่ก๊ะหิ้วขนมมาด้วยนั้นคือการตลาดที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณ
คิดดูว่ามาร่วมประชุม ยังได้ทำการขายกระหรี่ปั๊ปไปด้วย
ในขณะที่ทีมงานอบรม ซึ่งมีผู้ติดตามสองสามคน
ขนไปทั้งหนังสือ พร้อมซีดีแต่ไม่ได้เอาออกมาวางจำหน่าย
จึงไม่ได้ขายเลยสักเล่มเดียว
ชาวบ้านเขาล้ำหน้า แน่เสียยิ่งกว่าวิทยากร
บางครั้งในการพัฒนาปรับปรุ่งหรือว่าแก้ไขก็อาจจะทำให้เป็นที่สนใจขึ้นมามากกว่าเดิมก็เป็นไปได้.
24 พ.ค. 2562 เวลา 07.21 น.
ดูทั้งหมด