อย่าปล่อยให้ทริปซัมเมอร์ที่รอคอยต้องจ๋อยเพราะโดน 'สัตว์ร้าย' เล่นงาน
เมื่อไปทะเล หลายคนคงอยากปล่อยกายใจให้ผ่อนคลายเต็มที่ แต่อย่าลืมว่าในความสดใสภายใต้แสงแดดกับประกายคลื่นตรงหน้า นักเดินทางอย่างเราก็มีสิทธิ์ตกเป็น 'เหยื่อ' ภัยร้ายริมหาดได้ และเพื่อไม่เป็นการมองข้ามความปลอดภัยที่อาจทำลายวันพักผ่อนฤดูร้อนของเราให้หมดสนุก แนะนำให้กวาดตามองเหล่าสัตว์ร้ายทั้ง 4 เหล่านี้เอาไว้ และมาหาวิธีป้องกัน รวมถึงรักษาพิษบาดแผลเมื่อถูกน้องๆ จู่โจม!
1. แมงกะพรุน
แมงกะพรุนมีหลากหลายชนิด ทั้งที่มีพิษ และไม่มีพิษ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่จะจำแนกด้วยตาเปล่า เราควรระลึกไว้เสมอว่าแมงกะพรุนที่เราพบเจอนั้นอาจจะเป็นแมงกะพรุนมีพิษ ซึ่งพิษของแมงกะพรุนนั้นอยู่บริเวณหนวด ในบางสายพันธุ์มีหนวดยาวถึง 3 เมตร และอาจมีหนวดมากถึง 15 เส้น ความอันตรายของแมงกะพรุนคือขณะลงเล่นน้ำ เราอาจจะโดนพิษจากหนวดของมันโดยที่ยังไม่เห็นตัวมันด้วยซ้ำ
โดยหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุด คือ 'แมงกะพรุนกล่อง' สามารถพบได้แทบทุกจังหวัดแถบชายทะเล ทั้งอ่าวไทย และอันดามัน
วิธีป้องกัน : เลือกเวลาลงน้ำที่เหมาะสม ตามสถิติมักพบแมงกะพรุนในช่วงพลบค่ำถึงกลางคืน รวมถึงช่วงฝนตกใหม่ๆ ทั้งนี้ควรระมัดระวังสิ่งแปลกปลอมบนชายหาด แม้จะพบแมงกะพรุนที่ตายแล้ว แต่พิษของแมงกะพรุนยังอยู่ได้อีกหลายชั่วโมง ไม่ควรไปสัมผัสเด็ดขาด
หากโดนพิษ : ขึ้นจากน้ำทันทีแม้มีอาการเพียงเล็กน้อย หากมีอาการแพ้หนักยิ่งอาจส่งผลให้หมดสติและจมน้ำได้ จากนั้นตัดเสื้อผ้าออกเพื่อลดบริเวณที่สัมผัสพิษ ราดแผลด้วยน้ำส้มสายชู หรือหากไม่มี สามารถใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า
*ไม่ควรใช้น้ำจืดหรือปัสสาวะ เพราะเป็นการกระตุ้นพิษให้เข้าสู่บาดแผลมากยิ่งขึ้น
*ผักบุ้งทะเลสามารถนำมาใช้ช่วยบรรเทาได้ดีแต่ต้องเป็นในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งก็มีข้อควรระวัง และความยุ่งยากกว่าการใช้น้ำส้มสายชูมาก เช่น ควรล้างผักบุ้งทะเลให้สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่จะทำให้แผลอักเสบ และไม่ควรนำผักบุ้งทะเลมาขยี้หรือถูลงบนแผลโดยตรง แต่ให้ใช้การตำ หรือคั้นน้ำ มาทาลงบนแผลถึงจะได้ผลดี นอกจากนี้ผักบุ้งทะเลไม่สามารถนำมากินเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ เนื่องจากมีพิษทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียน
พยายามกำจัดหนวดแมงกะพรุนหรือเยื่อเมือกออกจากร่างกาย บรรเทาอาการเจ็บปวดเบื้องต้นด้วยการประคบน้ำแข็ง หากมีอาการไม่ร้ายแรงควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นได้ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และหมดสติ ควรปฐมพยาบาลกู้ชีพ และนำส่งโรงพยาบาลทันที
2. ปะการังไฟ
ปะการังไฟมีหน้าตาคล้ายปะการังทั่วไป แต่พิษของมันร้ายแรงเทียบเท่า 'แมงกะพรุนไฟ' เลยทีเดียว พบได้ตามชายฝั่งทะเลไปจนถึงน้ำลึก หากเข้าไปใกล้ เจ้าปะการังจะยิงเข็มออกมา ชนิดที่พบมากในบ้านเราโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต คือปะการังไฟสีเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน ปลายมีสีขาว
วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการสัมผัส ไม่ว่าปะการังนั้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นการปกป้องธรรมชาติใต้ท้องทะเลไปในตัว
หากโดนพิษ : พิษของปะการังไฟจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนเหมือนโดนน้ำร้อนลวก วิธีรักษาเบื้องต้นคือใช้น้ำส้มสายชูหรือแอมโมเนียล้าง หากแผลรุนแรงควรนำตัวส่งแพทย์ทันที
3. เม่นทะเล
เราอาจเจอเจ้าเม่นทะเลขนแหลมได้ทั้งบนชายหาดและตามแนวปะการังน้ำตื้น เม่นทะเลส่วนใหญ่ไม่มีพิษ แต่เพื่อความปลอดภัยก็ไม่ควรไปรุกรานมัน โดยพิษของเม่นทะเลจะอยู่ในกลวงภายในหนามปลายแหลม ดังนั้นเมื่อเผลอไปเหยียบ หนามของเม่นทะเลมักจะปักค้างอยู่ที่แผล เพราะหนามของมันบอบบางและหักง่ายมาก
อาการเมื่อโดนพิษของเม่นทะเลคือ คัน แดง บวม ชา และหากได้รับพิษเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เป็นตะคริว ไปจนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง
หากโดนพิษ : ให้นำหนามออกด้วยที่คีบอย่างเร็วที่สุด จากนั้นล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาว ไม่แนะนำให้ทุบหนามให้แตก โดยเฉพาะบริเวณใกล้ข้อพับ เส้นเลือด หรือเส้นประสาท เพราะจะทำให้พิษเดินทางสู่เส้นประสาทได้ และหากสงสัยว่ายังมีหนามตกค้างอยู่ที่บริเวณแผล ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนเลย
วิธีป้องกัน : หากอยู่ใต้น้ำ ควรสังเกตพื้นที่รอบตัวให้ดีก่อนเหยียบพื้นทุกครั้ง และหากเป็นนักดำน้ำ ก็ควรพก Pointer เอาไว้เขี่ยเจ้าเม่นทะเลให้พ้นทางด้วย
4. แตนทะเล
มาถึงเจ้าตัวร้ายตัวสุดท้าย ได้แก่'แตนทะเล' ตัวร้ายไซส์กระจิดริดที่พบได้บ่อยที่สุด แถมยังมีความสามารถในการจู่โจมโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัว แตนทะเลคือ 'แพลงก์ตอน' ตัวจิ๋ว ไม่มีถิ่นที่อยู่แน่ชัด พบได้ทั้งทะเลน้ำตื้นและลึก แล้วแต่ว่ากระแสน้ำจะพัดไปทางไหน เป็นสัตว์จำพวกแมงกะพรุน ลอยมาโดนเราเมื่อไหร่ก็ถูกเข็มพิษแทงเมื่อนั้น กลายเป็นจ้ำแดงๆ ที่ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งอักเสบ
แตนทะเล กองทัพจาก 'ทะเลสกปรก'
แต่เดิมเราพบแตนทะเลได้ไม่กี่เดือนในรอบปี แต่ปัจจุบันเนื่องจากมนุษย์ปล่อยน้ำเสียลงทะเลเยอะ ขยะพลาสติกก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้สารอาหารและแร่ธาตุในทะเลสะสมมากขึ้น ลูกแมงกะพรุนพวกนี้ก็มีมากขึ้น ส่วนขยะพลาสติกก็รับบทตัวร้ายในการทำลายประชากรเต่าทะเล พอไม่มีเต่าทะเลที่คอยกำจัดพ่อแม่แมงกะพรุนตามธรรมชาติ แตนทะเลวัยเบบี๋เหล่านี้จึงเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ไม่มีที่ท่าจะลดลง มีแต่ต้องเฝ้าระวังเท่านั้น
หากโดนพิษ : เมื่อโดนพิษแตนทะเล ผิวหนังจะบวมแดงเป็นจ้ำคล้ายรอยมดกัด จะรู้สึกคันยิบๆ แต่ไม่ควรเกาเพราะจะยิ่งทำให้อักเสบและกลายเป็นแผลเป็น เมื่อขึ้นจากน้ำควรรีบราดด้วยน้ำส้มสายชูให้เข็มพิษสลายไป จากนั้นค่อยไปอาบน้ำ หากแผลยิ่งรุนแรงและไม่ดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์ได้เลย
วิธีป้องกัน : สวมชุดว่ายน้ำมิดชิด เลือกแบบที่แนบกายที่สุด การสวมเสื้อยืดตัวโคร่งลงน้ำจะยิ่งเป็นการกักตัวเจ้าแตนทะเลให้อยู่ใกล้ผิวเรามากขึ้น
สัตว์ร้ายที่เรารวมมาในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอันตรายริมทะเลที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่าลืมว่าภัยร้ายไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้อีกหลายรูปแบบ อย่างการกินสัตว์ทะเลที่แพ้หรือมีพิษ เช่น ปลาปักเป้า ไข่แมงดาทะเล หรือตัวท็อปของอาการแพ้ซีฟู้ดอย่างกุ้งหรือปู รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความประมาท เช่น การไม่สวมชูชีพ หรือการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาก่อนลงทะเล เราขอเป็นอีกเสียงที่ช่วยเตือนให้นักเดินทางทุกคนมีสติแม้ในวันพักผ่อน และขอให้ฤดูร้อนของทุกคนเต็มไปด้วยความสุขนะคะ :)
-
อ้างอิง
To๋ng # 5989 ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ..สรุปคือไปเที่ยวทะเล พกน้ำส้มสายชูไปด้วย แก้บรรเทาพิษสารพัด
01 เม.ย. 2564 เวลา 00.04 น.
สวัสดี สัตว์เหล่านั้น มีมานานแล้ว ถ้ามนุษย์ไม่ไปรุกรานก่อน น้อยมากที่จะโดน แต่ก็ต้องของคุณที่บอกวิธี ถ้าโดนจริงๆ จะได้แก้ถูกจุด
31 มี.ค. 2564 เวลา 21.53 น.
กลัวก็นอนอยู่บ้าน
04 เม.ย. 2564 เวลา 04.41 น.
Chum-พล สัตว์ที่ว่าร้ายถ้าเราระวังไม่ไปในถิ่นมัน ก็ปลอดภัย
คนร้าย มาอยู่ใกล้เรา ถ้ามันจะเอา ถิ่นเรา ถิ่นไหนก็ไม่ปลอดภัย
01 เม.ย. 2564 เวลา 08.40 น.
ғ ן ן z α เม้นทะเลแสบสุด
21 มิ.ย. 2564 เวลา 23.03 น.
ดูทั้งหมด