ทั่วไป

นักวิจัยพบ ‘ยาต้านไวรัสชนิดกิน’ มีแนวโน้มต้านโควิด-19 ได้ดี

Xinhua
เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 13.02 น.

วอชิงตัน, 7 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (6 เม.ย.) วารสารรายสัปดาห์ไซแอนซ์ ทรานสเลชันนัล เมดิซิน (Science Translational Medicine) เผยแพร่ผลการศึกษาที่พบว่ายาต้านไวรัสแบบกว้างขวาง (broad-spectrum antiviral drug) ชนิดรับประทานรายการหนึ่งสามารถต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระหว่างการทดสอบระยะแรกในเซลล์ปอดและเซลล์ทางเดินหายใจของมนุษย์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง

ยาต้านไวรัสรายการดังกล่าวชื่ออีไอดีดี-2801 (EIDD-2801) แสดงแนวโน้มดีในการต้านไวรัสโคโรนาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงไวรัสโคโรนาก่อโรคเมอร์ส (MERS) และไวรัสโคโรนาก่อโรคซาร์ส (SARS) ขณะทดสอบในหนูและเซลล์มนุษย์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยง โดยยาอีไอดีดี-2801 คล้ายคลึงกับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่มีศักยภาพต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยาอีไอดีดี-2801 และยาเรมเดซิเวียร์ ทำงานด้วยการเลียนแบบไรโบนิวคลีโอไทด์ (Ribonucleotide) อันเป็นองค์ประกอบหลักของโมเลกุลอาร์เอ็นเอ (RNA) และทำให้อาร์เอ็นเอของไวรัสเกิดข้อผิดพลาดที่นำไปสู่ภาวะอ่อนแอระหว่างจำลองตัวเอง

คณะนักวิจัยนำโดยทิโมธี ชีฮัน (Timothy Sheahan) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (UNC) พบหลักฐานเบื้องต้นที่ชี้ว่ายาอีไอดีดี-2801 มีแนวโน้มออกฤทธิ์ต้านไวรัสตระกูลโคโรนาหลายตัวได้ดี และอาจมีจุดเด่นมากกว่ายาเรมเดซิเวียร์ในบางกรณี

นักวิจัยให้หนูทดลองกินยาอีไอดีดี-2801 โดยเป็นหนูที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคซาร์สและโรคเมอร์ส และกินยาทั้งก่อนและหลังติดเชื้อครบ 48 ชั่วโมง ผลปรากฏว่ายาดังกล่าวช่วยฟื้นฟูการทำงานของปอด ลดปริมาณไวรัส และรักษาน้ำหนักร่างกายของหนูทดลองที่ติดเชื้อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ชีฮันกล่าวว่ายาอีไอดีดี-2801 เป็นยาชนิดรับประทานที่สามารถใช้เองที่บ้านหลังได้รับการวินิจฉัยโรค ซึ่งแตกต่างจากยาเรมเดซิเวียร์ที่เข้าสู่ร่างกายด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ

"ยานี้จะมีศักยภาพหลากหลายเทียบเท่ายาทามิฟลู (Tamiflu) ตราบเท่าที่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในมนุษย์" ชีฮันกล่าว พร้อมเสริมว่าปกติจะต้องมีการทดสอบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์ก่อนนำไปทดสอบในมนุษย์

"เนื่องจากตอนนี้ไม่ใช่เวลาปกติจึงอาจข้ามขั้นตอนดังกล่าวไป และมีการประเมินผลภายใต้การใช้อย่างการุณย์ (compassionate use) และเริ่มทดลองทางคลินิกในมนุษย์" เขากล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ ยาเพื่อการใช้อย่างการุณย์ (compassionate medicine) หมายถึงการใช้ยาที่ยังไม่ได้รับการรับรองสำหรับโรคนั้นๆ ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีแนวทางรักษาอื่นที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 25
  • 💞니나가 제일 귀여워💞(니나짱)
    แจกฟรีหรือซื้อเม็ดละแสนคะ ว๊ากก
    08 เม.ย. 2563 เวลา 10.22 น.
  • PAKJIRA
    สาธุค่ะ
    08 เม.ย. 2563 เวลา 01.33 น.
  • yingyong
    เรารอความหวังจากนักวิจัย
    07 เม.ย. 2563 เวลา 22.56 น.
  • M Sir7896💙💙
    สาธุๆ ขอให้ประสบผลสำเร็จทีเถอะ ก่อนที่ผุคนจะล้มตายไปมากกว่านี้ ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่ร้ายเเรงที่สุดตั้งเเต่ลืมตามาบนโลกใบนี้ 30กว่าปี
    07 เม.ย. 2563 เวลา 22.10 น.
  • สรุปแล้วมียาอยู่2ตัว ตัวหนึ่งต้านได้ดีกว่าอีกตัวหนึ่งแต่พูดวกไปวนมาไม่กล้ารับรองสรรพคุณ สรุปแล้วก็คือยังไม่มียานั่นแหละ
    07 เม.ย. 2563 เวลา 20.12 น.
ดูทั้งหมด