ไลฟ์สไตล์

"อังกะลุง" เครื่องดนตรีโบราณอินโดนีเซีย สู่ "มรดกโลก" ทางภูมิปัญญาโดย UNESCO

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 17 พ.ย. 2566 เวลา 14.25 น. • เผยแพร่ 16 พ.ย. 2566 เวลา 10.44 น.
ชาวซุนดา อินโดนีเซีย กับ อังกะลุง

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 (ค.ศ. 2010) อังกะลุง (Angklung) หรือ “อุงคลุง” เครื่องดนตรีที่มีต้นกำเนิดใน อินโดนีเซีย ถูกรับรองและประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”

สำหรับชาวอินโดนีเซีย การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอังกะลุงด้วยสัญชาติ อินโดนีเซีย ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญหลังการฟ้องร้องเพื่อถือสิทธิความเป็นเจ้าของสมบัติวัฒนธรรมแห่งชาตินี้ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ทั้งเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงนัยทางการเมืองเรื่องมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกที่บางครั้งถูกบิดเบือนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและการเรียกร้องผลประโยชน์ระดับชาติ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อังกะลุงถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย“ชาวซุนดา” ชนพื้นเมืองแห่งเกาะชวา อินโดนีเซีย โดยเริ่มนิยมและแพร่หลายจากบริเวณชวาตะวันตก เครื่องดนตรีนี้ออกเสียงอย่างชวาว่า“อุง-คะ-ลุง” มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงเมื่อ 400 ปีก่อน เกิดจากความเชื่อในสมัยก่อนว่าเสียงของไม้ไผ่สามารถสร้างความพอพระทัยแก่ “เทวีศรี” เทพีแห่งข้าวและความอุดมสมบูรณ์ของชาวซุนดาได้ [อ่านเพิ่มเติม : “เทวีศรี” กับตำนาน “กำเนิดข้าว”]

ในแต่ละปี ช่างฝีมือของหมู่บ้านจะใช้ไผ่ดำ (Black bamboo, ไผ่ดำชวาหรือไผ่ดำอินโดนีเซีย ลำต้นสีเขียวเข้มอมม่วงและกลายเป็นสีดำเมื่อแก่) มาสร้างเป็นอังกะลุง เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวซุนดาจะประกอบพิธีกรรมและเล่นอังกะลุงเพื่อขอให้เทพเจ้าอำนวยพรให้พืชผลทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์

อย่างที่ทราบกันว่าอังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ โดยทั่วไปอังกะลุงจะประกอบด้วยไม้ไผ่ 2 ลำ ประกอบอยู่บนฐาน จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภท “เครื่องตี” ช่างฝีมือจะเหลาไม้ไผ่เป็นกระบอกขนาดต่าง ๆ ซึ่งขนาดที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนดระดับเสียงของอังกะลุง จากนั้นจะเล่นโดยการ “เขย่า” ให้กระบอกกระทบกับรางไม้ หรือเคาะฐานไม้ไผ่ให้เกิดเป็นโทนเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นเสียงระดับเดียวหรือโน๊ตตัวเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อังกะลุงจึงเป็นเครื่องดนตรีที่แตกต่างจากเครื่องดนตรีประเภทอื่นตรงที่ไม่สามารถบรรเลงให้เกิดเพลงได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเล่นร่วมกันเป็นวงหรือเล่นประกอบกับเครื่องดนตรีอื่นโดยการเขย่าอังกะลุงแต่ละตัวตามจังหวะของตัวโน๊ตนั้น ด้วยหลักการนี้ ผู้เล่นจะต้องร่วมมือกันสร้างท่วงทำนองจากอังกะลุงตามระดับเสียงที่แตกต่างกันนั่นเอง

สำหรับข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของยูเนสโก [www.unesco.org] กล่าวถึงอังกะลุงในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” โดยอธิบายเป็นเนื้อหา ดังนี้

“อังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีของชาวอินโดนีเซีย ประกอบด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2-4 กระบอกห้อยอยู่ในโครงไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหวาย กระบอกจะถูกเหลาและตัดอย่างระมัดระวังโดยช่างฝีมือระดับสูงเพื่อสร้างโน้ตบางระดับเมื่อเขย่าหรือเคาะโครงไม้ไผ่ อังกะลุงแต่ละเครื่องจะสร้างโน้ตหรือคอร์ดเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้น ผู้เล่นหลายคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อเล่นท่วงทำนอง อังกะลุงแบบดั้งเดิมใช้บันไดเสียงเพนทาโทนิก [Pentatonic scale หรือ บันไดเสียงที่มี 5 โน๊ต – ผู้เขียน]แต่ใน ค.ศ. 1938 Daeng Soetigna นักดนตรีชาวอินโดนีเซียประยุกต์อังกะลุงให้เล่นด้วยบันไดเสียงไดอะโทนิก [Diatonic scale, บันไดเสียงที่ประกอบด้วยโน๊ต 7 ตัว 8 เสียง เรียงกันเป็น 8 ตัว – ผู้เขียน]เรียกว่า ‘Angklung Padaeng’

อังกะลุงมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอินโดนีเซีย โดยเล่นในพิธีการต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และการขลิบ ไผ่ดำที่ใช้ทำอังกะลุงจะเก็บเกี่ยวในช่วง 2 สัปดาห์ของปีเมื่อจักจั่นร้อง และจะตัดอย่างน้อยสามส่วนเหนือพื้นดินเพื่อให้แน่ใจว่ารากยังคงขยายพันธุ์ต่อไป

การศึกษาอังกะลุงได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและในสถาบันการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ การเล่นอังกะลุงเป็นการละเล่นที่ส่งเสริมความร่วมมือและความเคารพซึ่งกันและกันของผู้เล่น ควบคู่กับวินัย ความรับผิดชอบ สมาธิ การเสริมสร้างจินตนาการ และความจำ…”

แม้จะมีความเก่าแก่หลายร้อยปีและถูกอิทธิพลจากเครื่องดนตรีตะวันตกสมัยใหม่กลบทับ แต่อังกะลุงยังคงเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย บ่อยครั้งที่รัฐบาลอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพจะจัดการแสดงอังกะลุงเพื่อต้อนรอบแขกผู้ทรงเกียรติที่ทำเนียบประธานาธิบดี นอกจากนี้ ด้วยเสียงอันไพเราะแต่เรียบง่าย ทำให้เสียงของอังกะลุงกลายเป็นเสียงดนตรีที่มักได้ยินได้จากห้องเรียนทั่วไปในอินโดนีเซียและอีกหลายประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) เพราะเป็นสื่อที่เหมาะสมสำหรับครูในการสอนหรือแนะนำนักเรียนให้รู้จักเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย

ถึงตรงนี้ท่านที่เข้าใจว่าอังกะลุงเป็น “เครื่องดนตรีไทย” หรือเป็นเครื่องดนตรีที่ถือกำเนิดในไทยคงกระจ่างใจว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แล้วเครื่องดนตรีอินโดนีเซีย นี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด ?

คำตอบถือ พ.ศ. 2451 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยผู้นำเข้าคือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งขณะนั้นมียศ “จางวางศร” ผู้ตามเสด็จ “สมเด็จวังบูรพาฯ” ไปยังเกาะชวาและเดินทางกลับพร้อม “อุงคลุง” ชุดหนึ่ง ก่อนจะดัดแปลงให้เหมาะสำหรับการบรรเลงในวงเครื่องดนตรีไทยและเพี้ยนจากคำชวาเดิมเป็น “อังกะลุง” ที่คนไทยรู้จักกันในทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Google Doodle (November 16, 2022) : Celebrating the Angklung

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) : งานศิลปหัตถกรรมประเภท อังกะลุง. (ออนไลน์)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) : UNESCO ประกาศให้อังกะลุงอินโดนีเซียเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ. (ออนไลน์)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565

ดูข่าวต้นฉบับ