Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ตลาดหุ้นกู้ กำลังเผชิญกับปัญหาท้าทาย เมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่บางราย ที่เคยให้ผลตอบแทนสูง กลายเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ นี่คือคีย์เวิร์ดยอดฮิตในบทสนทนาของนักลงทุนทั้งตลาดในเวลานี้
ทำให้หลายคนทั้งคนที่ลงทุนไปแล้ว และคิดจะริเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นกู้ กำลังสับสนว่า การลงทุนในหุ้นกู้ ผลตอบแทนเป็นอย่างไรกันแน่ และเงินของเราที่ลงทุนไปจะปลอดภัยหรือไม่
Prachachat BITE SIZE สัปดาห์นี้ สรุปทุกเรื่องที่ควรทำก่อนการซื้อหุ้นกู้ เพื่อชีวิตที่ลงทุนได้อย่างสบายฝจ ไม่ต้องเก๊กซิมภายหลัง
ทำความรู้จัก “หุ้นกู้”
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนจากประชาชนหรือนักลงทุน ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของบริษัท
ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ คือ บริษัทกู้เงินจากเรา ๆ ผู้เป็นนักลงทุน ไปใช้เพื่อลงทุนขยายกิจการ หรือขยายการลงทุนไปด้านอื่น ๆ ตามที่แต่ละบริษัทระบุไว้ แล้วจ่ายผลตอบแทนคืนให้ตามที่กำหนด ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ เราจะมีสถานะในบริษัท คือ “เจ้าหนี้” ต่างจากการไปซื้อหุ้นสามัญ ที่เราจะมีสถานะคือ “เจ้าของ”
หุ้นกู้ มีผลตอบแทนแบบไหน ?
หุ้นกู้ จะให้ผลตอบแทน 2 รูปแบบหลัก คือ
- ดอกเบี้ย หุ้นกู้แต่ละชุด จะกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ทุก 3 เดือน หรือทุก 6 เดือน และเมื่อหุ้นกู้ครบอายุ จะได้เงินต้นทั้งหมดคืน
- ให้ส่วนลด หรือ Zero-Coupon ซึ่งเป็นการจำหน่ายหุ้นกู้ในราคาถูกกว่าระบุไว้ เมื่อเราถือจนครบอายุแล้วนำไปไถ่ถอน เราก็จะได้เงินตามจำนวนที่ระบุไว้
หุ้นกู้มีแบบไหนบ้าง ?
หุ้นกู้ จะมีอยู่ 6 แบบหลัก ๆ ที่เคยพบเห็นกัน หรือพบเห็นประจำ ได้แก่
- หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน : หุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ หากล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิในสินทรัพย์ที่วางค้ำประกัน เหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ
- หุ้นกู้ชนิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน : หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางค้ำประกันไว้ หากล้มละลาย ต้องแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วนที่ถือ
- หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ : หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร เท่ากับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิ : หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์ ลำดับหลังจากเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ
- หุ้นกู้แปลงสภาพ : หุ้นกู้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด
- หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ : หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะไถ่ถอนเมื่อ “เลิกกิจการ”
ซื้อหุ้นกู้ทั้งที อย่าเพิ่งเชื่อโฆษณา
โฆษณาประชาสัมพันธ์ คือประตูบานแรกของการขายหุ้นกู้ใหม่ ซึ่งในโฆษณาบอกไว้หมดเลยว่า อายุของหุ้นกู้กี่ปี ให้ดอกเบี้ยเท่าไร จ่ายดอกเบี้ยทุกกี่เดือน เครดิตเรตติ้งระดับเท่าไร
เมื่อเห็นโฆษณาแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าน่าจะให้ผลตอบแทน มีดอกผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นไปได้ แต่การชี้ชวนลงทุนผ่านโฆษณาหลายรูปแบบ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้ผลกำไรอย่างที่โฆษณา
สิ่งสำคัญที่เราควรอ่านก่อนจะลงทุน คือ หนังสือชี้ชวน และเอกสารสรุปข้อมูลตราสารหนี้ เพราะในเอกสาร จะบอกรายละเอียดสำคัญไว้ครบถ้วนกว่า เรื่องการจำหน่าย วงเงินที่จำหน่าย นำเงินไปใช้ลงทุนอะไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ระยะเวลาของหุ้นกู้นานเท่าไร ไปจนถึงรายละเอียดของบริษัท ตั้งแต่ลักษณะของธุรกิจ ฐานะทางการเงินในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร
อันดับความน่าเชื่อถือ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องพิจารณาควบคู่กันไป คือ อันดับความน่าเชื่อถือ หรือเรตติ้งของบริษัทนั้น ๆ ทั้งเรตติ้งของตัวบริษัทเอง และเรตติ้งของตัวหุ้นกู้
สำหรับการจัดเรตติ้งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่ม Investment Grade หรือกลุ่มน่าลงทุน กับกลุ่ม Speculative Grade หรือกลุ่มที่มีความไม่แน่นอน มีระดับไล่ไปตั้งแต่ AAA จนถึง D และไม่ถูกจัดอันดับเครดิต
ทั้งนี้ เกณฑ์การวัดในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จะวัดใน 5 เรื่อง คือ
- ลักษณะของบริษัทผู้ออก
- ผลประกอบการของบริษัท
- การมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ข้อตกลงและสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม
- ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
เครดิตเรตติ้งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของตัวบริษัทและหุ้นกู้ที่ออกจำหน่าย ถ้าเรตติ้งดี ย่อมหมายความว่าโอกาสเบี้ยวหนี้ยิ่งต่ำ
อย่างไรก็ดี เรตติ้งต่าง ๆ มีโอกาสปรับให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้เสมอ ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ในตลาดทุน ณ เวลานั้น
ลงทุนหุ้นกู้ ดียังไง แล้วเสี่ยงอะไรบ้าง ?
ข้อดีของหุ้นกู้ คือ มีดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากธนาคารบางประเภทและพันธบัตรรัฐบาล มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ เพราะระบุเวลาชัดเจนเลยว่า หุ้นกู้ที่ซื้อไป มีระยะเวลาการถือกี่ปี จ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ กี่เดือน รวมทั้งเป็นหนึ่งในตัวช่วยการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ หรือถ้าหากต้องการสภาพคล่อง ก็สามารถซื้อ-ขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้
แต่การลงทุนหุ้นกู้ ก็ยังมีความเสี่ยงบางอย่างที่ต้องเผชิญอยู่ ทั้งในด้านความเสี่ยงเรื่องมูลค่าหุ้นกู้ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ยของตลาด หรือเรื่องสภาพคล่องที่อาจหายไปบางส่วน ทั้งจากการนำไปลงทุนหุ้นกู้ก็ดี หรือดอกเบี้ยที่อาจลดลงได้ หากเราซื้อหุ้นกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate)
แต่ในความแน่นอน มีความไม่แน่นอนแฝงอยู่เสมอในโลกของการลงทุน นักลงทุนอาจเจอกับความโป๊ะแตกของการลงทุนหุ้นกู้ ที่ให้ผลตอบแทนไม่ตรงปก กลายเป็นความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่อาจจะประสบการณ์น้อย หรือรู้สึกว่า กว่าจะลงทุนในหุ้นกู้แต่ละตัวได้ มีขั้นตอนมากมาย ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน การลงทุนในกองทุนรวม ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการลงทุน
ทั้งนี้ การลงทุนทุกอย่าง มีความเสี่ยง ทางที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญการลงทุน และศึกษาเอกสารชี้ชวนการลงทุน รวมทั้งศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจ ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องมานั่งเก๊กซิม
ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.8 ได้ที่ https://youtu.be/DuN3WNI2kDE