สร้างสถิติที่นั่งเต็มภายในเวลาไม่กี่อึดใจ สำหรับสเปเชียล ทอล์ก ‘ศาสนาผีในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน’
ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคมนี้ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
วิทยากรไม่ใช่ใคร ผายมือส่องสปอตไลต์ไปที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังเปรี้ยงปร้างของเครือมติชน
หนึ่งใน 2 แกนนำปราศรัยในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ที่จูงมือ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) แวะปักหมุดบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยและอุษาคเนย์เป็นประจำทุกเดือน
สำหรับเรื่องราวสุดเข้มข้นของ ‘ศาสนาผี’ ถูกเน้นย้ำ ผลิตซ้ำ และถ่ายทอดมาแล้ว ครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องด้วยอดีต 2 กุมารสยาม ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ว่า ศาสนาไทยๆ เรานั้น มีพื้นฐานจากความเชื่อผี หลอมรวมกับพุทธและพราหมณ์ในภายหลัง โดยยังคงเหลือร่องรอยหลักฐานอันเป็นประจักษ์พยาน
ดังเช่นในตอน ‘กรีก-โรมันในศาสนาพุทธ ทำขวัญนาค จากศาสนาผี ทวารวดี ศาสนาพราหมณ์’ โดยมีฉากหลังคือวัดพระปฐมเจดีย์ แห่งเมืองนครปฐม อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักหาใช่องค์เจดีย์ทรงลังกา หรือระฆังคว่ำอันคุ้นตา ทว่า คือ พระพุทธรูปห้อยพระบาท สมัยทวารวดีซึ่งบ่งชี้ถึงการเชื่อมโยงกับอิทธิพลภายนอก พบที่ วัดพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างริมถนนเพชรเกษม ไม่ไกลจากพระปฐมเจดีย์ ก่อนอัญเชิญมาประดิษฐานที่ลานฝั่งทิศใต้ของวัดพระปฐมเจดีย์จวบจนปัจจุบัน
พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูปที่คนร้ายลักลอบขนเศียรไปขายร้านค้าของเก่าแถบเวิ้งนาครเขษม กรุงเทพฯ ในช่วงหลัง พ.ศ.2501 เมื่อกรมศิลปากรเข้ายึดแล้วได้มอบหมาย มานิต วัลลิโภดม ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร ติดตามคืนจนครบ 4 องค์ แล้วอัญเชิญประดิษฐานที่ต่างๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ, ลานชั้นลดด้านทิศใต้องค์พระปฐมเจดีย์ และพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
“การนั่งห้อยพระบาทแบบนั่งเก้าอี้ ดูก็รู้ว่าไม่ใช่แบบพื้นเมือง ทั้งหมดนี้จะมาเชื่อมโยงกรีก-โรมันในศาสนาพุทธ เราอาจงงว่ากรีกมาเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธได้อย่างไร ขอย้ำว่าเกี่ยวมาก” สุจิตต์ย้ำ
ย้อนวาทะ ฝรั่งคลั่งสยาม
พระพุทธเจ้าของชาวกรีก อพอลโลของชาวอินเดีย
ก่อนจะลงลึกถึงคำอธิบายว่าเกี่ยวอย่างไร และมากมายขนาดไหน ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ย้อนขุดปมการรับรู้และเรียนรู้เรื่องศาสนาพุทธในสังคมไทยที่เน้นหนักไปในแง่ของพุทธประวัติ โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า พุทธศาสนามาจากไหน?
“ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของศาสนาพุทธเกี่ยวข้องใกล้ชิดมากกับกรีก-โรมัน แต่ในไทยเวลาพูดถึงศาสนาพุทธ เราเน้นด้านเดียวคือพุทธประวัติ ซึ่งผมคิดว่าเป็นงานวรรณกรรม ศาสนาพุทธไม่ได้อยู่โดดๆ เกิดมาโดดๆ อินเดียแต่เดิม ก็เหมือนที่ไหนๆ ในโลก คือ เริ่มต้นคือไม่มีศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู แต่หนีไม่พ้นนับถือศาสนาผี” อดีตสองกุมารสยามเล่า ก่อนยกตัวอย่างที่ช่วยให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย นั่นคือ ‘เจ้าแม่กาลี’ ซึ่งเป็น ‘ผีที่ถูกจับบวช’
“เจ้าแม่กาลี เดิมคือผีพื้นเมืองที่ถูกจับบวชเข้าศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไมเคิล ไรท์ เป็นคนพาผมไปไหว้เจ้าแม่กาลี ผู้ยิ่งใหญ่ของทมิฬ อินเดียใต้ คนเป็นหมื่นแต่งชุดสีแดงไปสักการะ เขาศรัทธามาก”
สุจิตต์รำลึกความทรงจำถึงเจ้าของฉายา‘ฝรั่งคลั่งสยาม’ ผู้ฝากผลงานไว้มากมายทั้งในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และพ็อคเก็ตบุ๊กสนุกชวนอ่าน จากนั้น พุ่งเป้ายังความเชื่อมโยงระหว่างกรีก-โรมันและพุทธศาสนาซึ่งใกล้ชิดแนบแน่นกว่าที่พุทธศาสนิกชนเคยรับรู้ เพราะที่แน่ๆ คือ พระพุทธรูปองค์แรกในโลก ถูกสร้างขึ้นเลียนแบบ ‘เทพอพอลโล’ ด้วยฝีมือช่างแบบกรีก-โรมันในช่วงหลัง พ.ศ.600 ก่อนหน้านั้น แม้เล่าเรื่องพุทธประวัติ แต่ยัง ‘ไม่กล้าทำ’ พระพุทธรูป จึงใช้สัญลักษณ์แทน เช่น รูปต้นโพธิ์ แทนพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ ดังปรากฏบนภาพสลักที่สถูปสาญจี อินเดีย
“เมื่ออินเดียนับถือทั้งผีทั้งเทพปนกันหมดแล้ว ถึงได้เริ่มมีพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ ข้อสำคัญคือ เมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าขึ้นมา แน่นอนว่าต้องมีการสร้างรูปเคารพ แต่สถูปสาญจียังไม่มีรูปพระพุทธเจ้า เพราะยังไม่กล้าทำ เวลาเล่าเรื่องพระพุทธเจ้า จึงใช้สัญลักษณ์ทั้งหมด จนกระทั่งหลัง พ.ศ.600 จึงเริ่มมีพระพุทธรูปองค์แรกในโลก ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถึง 400 ปี ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล สอนผมกับ ขรรค์ชัย มาตลอดว่าพระพุทธรูปองค์แรกเลียนแบบเทพอพอลโล พบที่เมืองคันธารราฐ ปากีสถาน ฝีมือช่างแบบกรีก-โรมัน ทำตามแบบเทวรูปกรีก” สุจิตต์อธิบาย ทั้งยังโชว์ภาพที่ ขรรค์ชัย ชมด้วยความสนใจ นั่นคือรูปประกอบบทความของไมเคิล ไรท์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2539 โดยมีคำอธิบายใต้ภาพว่า ‘พระพุทธเจ้าของชาวกรีกหรืออพอลโลของชาวอินเดีย’ ปรากฏภาพพระพุทธรูปที่ ‘ไม่ได้ปลงพระเกศา’ ทั้งยังมีมุ่นพระเกศาอีกด้วย
“นักประวัติศาสตร์ศิลปะพบว่าเทพอพอลโลคือสุริยเทพ หรือเทพแห่งแสงสว่างของกรีก การทำพระพักตร์แบบนี้เป็นเรื่องของมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ในสมัยโน้น หมายความว่ากรีกทำมาก่อน ส่วนทางอินเดียก็ต้องการทำรูปพระพุทธเจ้าให้อยู่ในลักษณะอันเป็นมงคล มีพลัง ก็ต้องทำตามแบบกรีกที่ทำมาก่อน เลยทำเป็นแบบอพอลโลซึ่งเส้นผมหยักศก จีวรก็คือผ้าห่มของกรีก-โรมัน”
อารยัน มุนดะ การค้า และสุวรรณภูมิ
พุทธไม่โดดเดี่ยว เอี่ยวเศรษฐกิจ-การเมืองโลก
สุจิตต์ ในฐานะอดีตบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยังเล่าด้วยว่า เคยโดน ‘ทัวร์ลง’ มาแล้วเมื่อคราวนำเสนอประเด็นข้างต้น
“ผมทำไว้ตั้งแต่ปี’46 เจอทัวร์กฐินผ้าป่าลง”
ตัดภาพมาในปัจจุบัน ถือว่าเป็นที่รับรู้และยอมรับกันในเชิงวิชาการ ใครพูดเรื่องนี้ ดราม่าที่เคยมี แทบไม่เหลือแล้ว
ถามว่า แล้วจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงระหว่างกรีก-โรมันกับอินเดียนั้น มาจากไหน?
แน่นอนว่าคำตอบคือ ‘การค้าขาย’ เมื่อนับพันปีที่แล้ว ก่อนยุคพระเจ้าอโศกมหาราชเสียอีก
“มันเริ่มมีการค้าขายกันแล้วอย่างใกล้ชิดระหว่าง กรีก โรมัน อินเดีย พ่อค้าอินเดียรู้จักกรีก-โรมันมาก่อนนานแล้ว เพราะดินแดนติดต่อถึงกัน กลุ่ม อารยัน ก็มาจากทางกรีก-โรมันนั่นแหละ ทีนี้เมื่อมีการค้าขายทองแดง ก็ยิ่งทำให้ความใกล้ชิดมีมากขึ้นในช่วง 2,500 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.1 ก่อนยุคพระเจ้าอโศกหลายร้อยปี
เหตุมันอยู่ที่ว่าอินเดียใต้เป็นพ่อค้าเลียบชายฝั่ง มาค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ เอาทองแดงตั้งแต่ลุ่มน้ำโขงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปค้ากับกรีกโรมัน ทำให้แถบนี้เกิดบ้านเมืองขึ้นมา อย่างเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี”
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังขยายความเพิ่มเติมว่า ชาวอารยัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน เริ่มอพยพสู่อินเดียเหนือเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน พวก ‘มุนดะ’ ซึ่งพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร จากลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ก็อพยพเข้าสู่อินเดียใต้
“อารยันมาทางลุ่มน้ำสินธุ เป็นพวกที่นับถือเทพ เทพี เอาภาษาตระกูลอินโด ยูโรเปียนเข้ามา ซึ่งจะเป็นต้นตอภาษาบาลี-สันสกฤต ส่วนพวกมุนดะ เข้าอินเดียใต้ รุ่นเดียวกับอารยันซึ่งเข้าทางเหนือ คนกลุ่มนี้ไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โขง-สาละวิน พูดมอญ-เขมร โขง-สาละวิน ชำนาญจับช้างป่า ทำให้เกิดการเคารพช้างป่าซึ่งต่อไปจะกลายเป็นพระพิฆเนศ”
จาก ‘โสเครติส ไดอะล็อก’ สู่ ‘ปุจฉา วิสัชนา’
เมื่อพระยามิลินท์ คุยเรื่อง ‘ชีวิต’ กับพระนาคเสน’
อีกประเด็นสำคัญที่ 2 กุมารสยามหยิบยกมาถกหน้าจอ คือ ‘ปุจฉา วิสัชนา’ ในทางพุทธ ซึ่งมีที่มาจาก Dialectic ศัพท์ไทยใช้ว่า ‘วิภาษวิธี’ เป็นที่รู้จักจาก โสเครติส ไดอะล็อก (Socratic dialogues)
“ปุจฉา วิสัชนา เป็นเรื่องใหญ่มากที่เรายังขาดการทำความเข้าใจ รวมทั้งผมเองด้วย ประเด็นสำคัญ คือ รากเหง้ามาจากไหน มันมาจาก Dialectic คือ ถาม ตอบ คือการถกเถียง ว่ากันว่าโสเครติส นักปรัชญาซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.74-144 เป็นคนเริ่มวิธีนี้ เราพบหลักฐานสำคัญในมิลินทปัญหา เอกสารที่เป็นข้อถกเถียงซักถามระหว่างพระยามิลินท์และพระนาคเสนเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ ซึ่งทุกคนย่อมสนใจใคร่รู้การเกิด การดับของชีวิต
วิธีการถาม-ตอบปัญหา มีอุบายวิธีที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ ด้วยการใช้อุมาโวหารจากข้อเท็จจริงของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนดับ แต่งเป็นภาษาสันสกฤตตั้งแต่ พ.ศ.500 ต่อมาชาวสิงหลแปลเป็นภาษาบาลี แล้วมาแปลเป็นไทยในสมัยอยุธยา พระยามิลินท์ก็คือพระเจ้าเมนันเดอร์สของกรีก เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล” สุจิตต์กล่าว
มาถึงตรงนี้ ยังเย้าเพื่อนซี้ว่า “ตอนขรรค์ชัยเรียน ม.ปลาย ส. ศิวรักษ์ แปลเรื่อง โสกราติส สังคมศาสตร์ปริทรรศน์พิมพ์ โอ้โห! เท่ฉิบหาย ซื้อมาเล่มนึง แย่งกันอ่าน ผลัดกันอ่าน ไม่รู้เรื่องหรอก (หัวเราะ) แต่ถ้าไม่อ่าน มันเสียฟอร์ม ต้องถือปกนี้ มันเรื่องเท่สมัยโน้น”
หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ฟังอดีตแล้วนั่งอมยิ้ม
วัฒนธรรมกรีก-โรมัน จากพระหัตถ์ ‘อเล็กซานเดอร์’
จากนั้นไปต่อกันที่เรื่องราวสุดเข้มข้นของ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการแพร่ขยายของวัฒนธรรมกรีกสู่ชมพูทวีป
“พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.188-221 หัวใจสำคัญอยู่ที่การเป็นนักรบจากกรีก เข้ามาถึงเปอร์เซีย ปัจจุบันคืออิหร่าน เมื่อรบได้เปอร์เซียแล้วเข้าสู่ลุ่มน้ำสินธุ การแผ่ขยายอำนาจของพระองค์ ทำให้วัฒนธรรมกรีกแผ่กระจายเข้ามายังลุ่มน้ำสินธุ สู่อินเดียทั้งหมดในสมัยหลัง
วัฒนธรรมกรีก-โรมันจากอเล็กซานเดอร์นี่แหละทำให้เกิดชุมชนกรีกบริเวณลุ่มน้ำสินธุและบริเวณอินเดียภาคเหนือเกือบทั้งหมด คนเชื้อสายกรีกก็ย่อมแต่งงานกับคนพื้นเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ชนชั้นนำถึงชนชั้นล่างอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องปกติ
นี่แหละเป็นเหตุให้ ไมเคิล ไรท์ เคยตั้งข้อสังเกตโดยเขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า พระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ.270-312) ทรงมีเชื้อสายกรีก” สุจิตต์อรรถาธิบาย แล้วเอ่ยถึงการประกาศ ‘ธรรมวิชัย’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘การชนะโดยธรรม’ ปรากฏในจารึกของพระองค์
หนีเกณฑ์ (แรงงาน) หรือศรัทธา?
ต้นเหตุวัดวาแน่นทั่วหัวระแหง
ปิดท้ายด้วยการวาร์ปมาสู่ประเด็นพุทธไทยที่ฝากไว้ให้ช่วยกันขบให้แตก ว่าจำนวนวัดวาอารามมากมายเหลือคณานับที่มักถูกให้คำอธิบายว่าวัดเยอะเพราะคนไทยในอดีตมีศรัทธามาก จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่?
“ผมถามตัวเองในใจว่าเมื่อมาถึงจุดนี้ สมัยอยุธยา สุโขทัย วัดแยะฉิบหาย จริงหรือที่เขาอธิบายกันว่า วัดมาก เพราะคนสมัยก่อนเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนามาก เขาอ่านพระธรรมแตกฉานกันหมดเลยเหรอ รู้เรื่องหมดเลยเหรอ ไหนว่าทำนา อ่านหนังสือออกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตรงนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เอ๊ะ! ทั้งวัดหลวง วัดราษฎร์เต็มไปหมด แสดงว่ามีพระสงฆ์จำนวนมาก คิดไป คิดมา คิดใหม่แล้วว่าอาจเกี่ยวกับการหนีเกณฑ์ด้วย เพราะบวชแล้วไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ปัจจุบันเรียกว่าหนีทหารนั่นแหละ เพราะถ้าไปทัพโอกาสรอดยากมาก บวชดีกว่า” สุจิตต์แย้มข้อสันนิษฐานในใจโดยไม่ฟันธง แต่ทิ้งไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ
“นี่คืออีกประเด็นที่ควรศึกษา สร้างความเข้าใจ แต่เวลาผมเหลือน้อย ต้องไปทำอย่างอื่น”
ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ย้ำอีกรอบก่อนจบรายการว่า
ศาสนาพุทธไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลก แต่เกี่ยวข้องเต็มไปหมดกับความเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองของโลก เพียงแต่เราละทิ้งไปต่างหาก นี่คือจุดอ่อนของระบบการศึกษาในเมืองไทย
รับชมรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ได้ทุกวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน เวลา 20.00 น. ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘มติชนออนไลน์’ ‘ข่าวสด’ ‘ศิลปวัฒนธรรม’ และ ยูทูบ ‘มติชนทีวี’
เทปล่าสุด พร้อมออนแอร์ 29 กันยายนนี้ ในตอน ‘นาคให้น้ำท่วมฟ้า มนุษย์ขอขมาน้ำและธรรมชาติ’
ติดตามความเคลื่อนไหว และชมคลิปสั้นสุดพิเศษได้ทางเฟซบุ๊ก ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’