ทั่วไป

เปิดแนวทางรักษา "โควิด" ล่าสุด แอดมิตอาจไม่ถึง 5 วัน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์

Khaosod
อัพเดต 29 ก.ย 2565 เวลา 12.33 น. • เผยแพร่ 29 ก.ย 2565 เวลา 12.33 น.

เปิดแนวทางรักษา "โควิด" ล่าสุด เป็นผู้ป่วยนอกหรือแอดมิต ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์ กรณีขอใบรับรองแพทย์กำหนดเวลารักษา 5 วัน ถ้านานกว่านี้ต้องมีเหตุผล

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวในงานอบรมออนไลน์เตรียมความพร้อมสำหรับช่วง Post Pandemic จัดโดยกองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ ว่า แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อใน รพ. กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ไกด์ไลน์) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 25 มีการปรับแนวทาง 5 ประเด็น คือ 1.เปลี่ยนการแยกกักผู้ติดเชื้อ เป็นแนะนำปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2.ปรับการให้บริการทางการแพทย์แบบผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงต่อโรครุนแรง 3.ปรับคำแนะนำในการแอดมิต 4.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มอาการต่างๆ และ 5.ปรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้า รพ. และมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจขอให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอรับการรักษา เมื่อตรวจหาเชื้อแล้วพบโควิด แต่ไม่มีอาการให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก หากตรวจไม่พบเชื้อ ให้พิจารณารักษาตามความเหมาะสม และปฏิบัติตาม DMHT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัด 5 วัน ถ้ามีอาการรุนแรงให้พิจารณารับไว้ใน รพ. กรณีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง พิจารณาส่งตรวจ ATK ซ้ำ

พญ.นฤมล กล่าวต่อว่า ส่วนคำแนะนำการรับผู้ป่วยไว้ใน รพ. พิจารณา 6 ข้อ ดังนี้ 1.มีไข้ อุณหภูมิตั้งแต่ 39 องศาฯ ขึ้นไป วัดอย่างน้อยสองครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมงในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง 2.มีภาวะขาดออกซิเจน 3.มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกำเริบของโรคประจำตัวเดิม 4.เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ที่ไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน เช่น อยู่บ้านคนเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

5.มีภาวะอื่นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. ตามดุลยพินิจของแพทย์ และ 6.ข้อแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุว่า ผู้ป่วยเด็กให้รักษาใน รพ.เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือต้องการออกซิเจน เช่น เด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วง หรือชักจากไข้สูง ฯลฯ

พญ.นฤมล กล่าวอีกว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนใหญ่หายได้เอง

2.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ หรือภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันเป็นอย่างน้อย อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ถ้าจะให้ควรเริ่มยาภายใน 5 วันนับจากวันที่มีอาการ โดยให้ตัวใดตัวหนึ่ง ไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสตัวอื่น เพราะไม่มีการศึกษารองรับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน โดยเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง คือ โรคมะเร็ง ไม่รวมที่รักษาหายแล้ว กลุ่มนี้มีการใช้ยา 3 ตัว เลือกตัวใดตัวหนึ่ง คือ โมลนูพิราเวียร์ หรือ เรมดิซิเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ต้องรับแอดมิตใน รพ.โดยเร็ว แต่การรักษายังใช้แนวทางเดิม คือ แนะนำให้ยาเรมดิซิเวียร์ โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก

พญ.นฤมล กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ยาต้านไวรัสในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ให้รักษาตามเดิม กลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่ให้ยาต้านไวรัส แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือเรมดิซิเวียร์ ส่วนกลุ่มที่มีปอดอักเสบ ให้ยาเรมดิซิเวียร์ เป็นต้น

"การพิจารณาระยะเวลารักษาและลดแพร่เชื้อ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน กรณีเป็นผู้ป่วยในให้พักรักษาตัวใน รพ. จนอาการของโรคปกติ ระยะเวลาอาจจะไม่ถึง 5 วันตามดุลยพินิจของแพทย์ และให้ปฏิบัติ DMHT เคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน โดยนับรวมเวลาที่อยู่ใน รพ. และที่บ้านรวมกัน" พญ.นฤมล กล่าว

ด้านผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนทำกิจกรรมต่างๆ ในคนไม่มีอาการ อย่างการเข้าประชุมในโรงแรม โรงเรียน ฯลฯ แต่ให้ดูที่อาการเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับไกด์ไลน์ดังกล่าว ระบุถึงกรณีที่ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ให้ระบุ 5 วัน ถ้าจะให้พักนานกว่านั้น ควรมีเหตุผลความจำเป็นทางการแพทย์ที่ชัดเจน

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • drone0955131728
    แจกฟรี...จุลินทรีย์ป้องกัน และรักษาโรคโควิด...จุลินทรีย์ป้องกัน และรักษาโรค มดเอ็กซ์ ซุปเปอร์วัน...
    29 ก.ย 2565 เวลา 16.12 น.
ดูทั้งหมด