ในพระราชสำนัก

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย รพ.จุฬาภรณ์

MATICHON ONLINE
อัพเดต 17 พ.ค. 2565 เวลา 14.06 น. • เผยแพร่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 14.06 น.

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย รพ.จุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคล ตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย เปิดตัวเครื่องดิจิทัลเพทซีที รุ่น Biograph Vision 600 Edge (ไบ-ออ-กราฟ-วิ-ชัน-หก-ร้อย-เอ็จ) และทอดพระเนตรการให้บริการของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร และกราบทูลถวายรายงานโครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นจากพระปณิธาน และพระวิสัยทัศน์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในปีพุทธศักราช 2549 ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพวินิจฉัยในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่นับเป็นการยกระดับความก้าวหน้าไปอีกขั้นในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไทยในช่วงเวลานั้น โดยเป็นหน่วยงานที่มีการนำเครื่องไซโคลตรอนและเครื่องเพทสแกนเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางมะเร็งวิทยา ประสาทวิทยา และหทัยวิทยา มุ่งหวังที่จะให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงเป็นสถานที่วิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

การนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย ซึ่งอาคารแห่งนี้ออกแบบเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานผลิตสารเภสัชรังสีซึ่งต่อเติมมาจากอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติเดิม โดยแบบแปลนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้เป็นสถานที่การผลิตยา มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 2 ชั้น ประกอบด้วย พื้นที่ชั้น 1 เป็นส่วนปฏิบัติการผลิตสารเภสัชรังสี ซึ่งติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน พร้อมระบบควบคุมเครื่อง และเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพ ชั้น 2 เป็นพื้นที่ติดตั้งเครื่องมือของระบบสนับสนุนการผลิตต่างๆ เช่น ระบบปรับและระบายอากาศของห้องสะอาด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากนั้น เสด็จเข้าภายในอาคารเพื่อทอดพระเนตรห้องไซโคลตรอนที่ติดตั้งเครื่องไซโคลตรอนเครื่องที่สองด้วยรุ่น HM-20S (เอช-เอ็ม-ทะ-เวน-ตี้-เอส) แบบ Self-shielded (เซ้ล-ชิล) โดยมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงขึ้น และมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ และมีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ณ ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากกว่า 20 ชนิด

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรในส่วนพื้นที่สำหรับการสังเคราะห์สารเภสัชรังสี ซึ่งเป็นห้องสะอาดที่มีการควบคุมปริมาณอนุภาคฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GMP PIC/S (จี-เอ็ม-พี-พี-ไอ-ซี-เอส) สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสี และทรงร่วมกิจกรรมประกอบชุด Casette (คาส-เซ็ท) เพื่อเตรียมการสังเคราะห์สารและกดปุ่มเพื่อเริ่มต้นการผลิตสารเภสัชรังสี โดยในส่วนนี้มีการแยกพื้นที่สำหรับการสังเคราะห์สารเภสัชรังสีออกเป็นพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตสั้น หรือ Short-lived hot lab

และพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตยาว หรือ Long-lived hot lab เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างกัน และพื้นที่การผลิตแต่ละห้องจะมีการติดตั้งตู้ปฏิบัติการรังสีสูง หรือ Hot cells ซึ่งเป็นตู้ตะกั่วเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการควบคุมระดับความสะอาด ความดัน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ การขนส่งสารเภสัชรังสีสำหรับให้บริการแก่ผู้ป่วย ต้องบรรจุในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ และบรรจุลงในถังที่มีเครื่องกำบังรังสี ที่มีการติดฉลากและติดป้ายกำกับทางรังสีตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการกระจายยาตาม GDP (จี-ดี-พี) และหลักการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีตามข้อกำหนดของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากนั้น เสด็จขึ้นชั้น M เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่การให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โดยบูรณาการสู่การเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบครบวงจรในแห่งเดียว เปิดให้บริการตรวจแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทุกสิทธิการรักษา และผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ การนี้ เสด็จทอดพระเนตรห้องรับรองผู้ป่วย และการทำงานของเครื่องแบ่งสารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติ ซึ่งก่อนที่จะทำการตรวจด้วยเครื่องเพทสแกน ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยใช้เครื่องแบ่งสารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัตินี้ โดยเครื่องจะคำนวนปริมาณความแรงรังสีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมอุปกรณ์ฉีดสารเภสัชรังสีอัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีให้กับผู้ปฏิบัติงาน

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรเครื่อง “PET/MRI (เพท-เอ็มอาร์ไอ) Biograph mMR 3 Tesla” ที่เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติของเครื่องที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภาพวินิจฉัยเพื่อการตรวจรอยโรคขนาดเล็กและอวัยวะที่ซับซ้อนได้แม่นยำและถูกต้อง อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งสมอง มะเร็งนรีเวช มะเร็งศีรษะและลำคอ พร้อมเสด็จทอดพระเนตรเครื่อง “Digital PET/CT (ดิจิทัล-เพท-ซีที) Biograph Vision 600 Edge” ที่เริ่มเปิดให้บริการเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ.2565 นี้ เพื่อนำมาเสริมประสิทธิภาพและรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลดระยะเวลาในการรอคอยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเครื่องดิจิทัลเพทซีที Biograph Vision 600 Edge มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เรียกว่า ALPHA เพื่อช่วยยกระดับการเก็บข้อมูล การสร้างภาพ และการวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระบบ Flow motion AI ซึ่งสามารถทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลผู้ป่วยให้สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายแบบ Personalized Medicine พร้อมระบุตำแหน่งและขอบเขตของอวัยวะได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเก็บข้อมูลในบริเวณรอยโรคของผู้ป่วยมีความคมชัดสูง ลดระยะเวลาในการตั้งค่าการเก็บข้อมูล และคงมาตรฐานคุณภาพการตรวจ เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วย และยังมีระบบ Oncofreeze (ออน-โค-ฟรีซ) AI ช่วยเรียนรู้รูปแบบการหายใจจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย และแก้ไขตำแหน่งที่คลาดเคลื่อนให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ภาพรอยโรคบริเวณทรวงอกที่คมชัด

นอกจากนี้ การออกแบบตกแต่งภายในศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาใช้ในการตกแต่งห้องตรวจวินิจฉัยและห้องให้การรักษาสำหรับผู้ป่วย ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ไม่เกิดภาวะเครียดขณะที่กำลังฉีดสารเภสัชรังสี หรือขณะที่เครื่องเพทสแกนกำลังทำงาน และเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยให้มีจิตใจเข้มแข็งต่อไป

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนหลากหลายชนิด สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยมาตรฐานการผลิตยาตาม GMP PIC/S และมาตรฐานการกระจายยาตาม GDP PIC/S และการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเพทสแกนแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา โดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงไปใช้ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม

โดยสามารถเบิกจ่ายตรงตามสิทธิการรักษา รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้มากที่สุด อาทิ การตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทด้วยเครื่องเพทซีทีราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพทซีที ราคาเริ่มต้นที่ 20,000 บาท และเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอ เริ่มต้นที่ 25,000 บาท โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายผ่านทาง LINE @petscanchulabhorn หรือโทรนัดหมายที่เบอร์ 09-6091-8369 ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีหรือเพทเอ็มอาร์ไอ และรองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้

สนองพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย และการแพทย์นานัปการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ดูข่าวต้นฉบับ