นักวิชาการ มข. ชี้เศรษฐาลงพื้นที่อีสานรักษาฐานอำนาจ
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 รศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมคณะ เลือกที่จะมาลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของคนเสื้อแดง และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในพื้นที่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่เป็นปัจจัยสำคัญในการลงพื้นที่ของนายกฯ และคณะในครั้งนี้ ซึ่งนัยยะทางการเมืองในเชิงสังคมวิทยา ถือว่าเป็นการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ว่า นี่คือการรักษาฐานอำนาจ การให้ความสำคัญกับฐานเสียง และเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของการมุ่งมั่นในการทำงาน อย่างที่นายเศรษฐาเคยพูดไว้ว่า จะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ซึ่งพื้นที่ต่างจังหวัดในช่วงแรก ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายที่ได้นำเสนอออกมาเพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานที่ไม่เพียงเฉพาะจังหวัดขอนแก่น แต่รวมไปถึงหนองคาย และอุดรธานี ซึ่งอดีตถูกมองว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานอำนาจในส่วนนี้เอาไว้ และด้วยความที่หน้าตาของรัฐมนตรีในรอบนี้ทำให้คนผิดหวัง ประชาชนเกือบทั้งประเทศก็มีอาการซึม ฉะนั้นนอกจากการที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องรักษาฐานอำนาจเอาไว้แล้ว ยังต้องเร่งทำคะแนน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและแรงศรัทธากลับมาให้ได้ หลังจากที่เปิดตัวได้ไม่สวยงามมากนัก
รศ.ดร.ธนพฤกษ์กล่าวด้วยว่า เนื่องจากภาพลักษณ์ของนายเศรษฐาซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนกรุงและชนชั้นกลาง ซึ่งประชาชนคนรากหญ้าอาจจะเพิ่งมารู้จักในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้อาจมีความห่างเหินกับชาวบ้านและคนรากหญ้า แต่เมื่อเข้ามาทำงานขับเคลื่อนประเทศบนทิศทางของการวางนโยบายเรื่องปากท้องของประชาชน ตัวของนายเศรษฐาจึงจำเป็นที่จะต้องลงมาในพื้นที่เพื่อฉายภาพให้ชาวบ้านเห็นว่าพร้อมที่จะทำงาน พร้อมที่จะเป็นนายกฯของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดกับประชาชนคนรากหญ้ามากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการวางนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่หลายๆ นโยบายมุ่งเน้นไปที่เรื่องปากท้องและเรื่องภาคการเกษตร มีการลงพื้นที่ไปพบพ่อค้า แม่ค้า พบปะกลุ่มประมง และล่าสุดจะเดินทางมาพบปะกับประชาชนคนอีสานที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและแรงงาน ซึ่งเป็นการเล่นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในอันดับรั้งท้าย เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เติบโตขึ้น 7-8 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงต้องเร่งกู้วิกฤตนี้เพื่อเรียกแรงศรัทธาจากประชาชนกลับมา
“ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้สตาร์ตที่ภาพลบ ไม่ได้มีแต้มต่ออะไรเลย เพราะฉะนั้นการเร่งทำผลงาน แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลหลายๆ พรรค จะยอมรับว่าแกนของนโยบายเป็นแกนของพรรคเพื่อไทย แต่อย่าลืมว่าคนที่กุมบังเหียนที่เป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด อีกทั้งกระทรวงสำคัญหลายกระทรวงตกไปอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นสถานการณ์ของนายกฯคนใหม่ ต้องมีความประนีประนอม ต้องมีการพยายามดึงความร่วมมือ ควบคู่ไปกับการสร้างผลงานที่สามารถจับต้องได้ รวมทั้งตัวนายกฯจะต้องปรับบุคลิกส่วนตัวในบางเรื่องด้วย เพราะทุกวันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย คนเป็นนายกฯต้องมีความระมัดระวัง และกล้าที่จะเอ่ยคำขอโทษหากทำผิด” รศ.ดร.ธนพฤกษ์กล่าว