“คนรวย” เสีย“ภาษี” แบบไม่มีวันจน! “คนชนชั้นกลาง” เสีย“ภาษี” แบบไม่มีวันรวย !
“…คนจนจะหมดไปจากประเทศไทย…”
นี่คือปณิธานที่เราได้ยินจากผู้บริหารประเทศ พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจมากมาย ทั้ง “บัตรคนจน” และโดยเฉพาะ “การปฏิรูประบบภาษี” ซึ่งระบบภาษีแบบก้าวหน้า(Progressive Taxation) หรือระบบภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งไทยเรานำมาใช้นั้นได้กำหนดอัตราภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มขึ้นเมื่อฐานภาษีเพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าใครก็ตามเมื่อบวกลบกลบค่าลดหย่อนต่างๆ (ประกัน, กองทุน, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนบุตร คู่สมรส บิดามารดา, เงินบริจาค และเงินที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีกระตุ้นเศรฐกิจ หรือการ Shop ช่วยชาตินั่นเอง) แล้วเกิดเป็นรายได้สุทธิจริงๆ จึงจะนำมาคิดคำนวณเสียภาษี โดยมีความตั้งใจให้เป็นลักษณะภาษี “ที่ช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้”
สำหรับแผนปฏิรูปภาษีที่กำหนดจะใช้ในปีหน้า (2562) นั้นยิ่งควรทำให้ประชาชนผู้เสียภาษี ได้หน้าชื่นตาบานกันใหญ่ เพราะมีของลดแลกแจกแถมกันเยอะมาก เพดานการเสียภาษีก็ขยับสูงขึ้น อัตราภาษีนิติบุคคลก็น้อยลง อันเป็นการรับลูกเพื่อสร้างการกระจายรายได้ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ แม้คนจนตามคำนิยามของรัฐบาลจะมีจำนวนน้อยลงแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจนมีอัตราลดลงต่ำแต่คนรวยมีอัตราเพิ่มแบบเท่าทวีและชนชั้นกลางก็แบกรับภาษีส่วนใหญ่ของประเทศอยู่เช่นเดิม!!
ปฏิรูปภาษีปี62 มีอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามแนวทางปฏิรูปภาษีปี 62 ของรัฐบาลสะท้อนอะไรบ้าง อย่างแรกเราคงจะได้ยินคำว่า“เดี๋ยวพี่เอาชื่อบริษัทรับเงิน” น้อยลง เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นปรับน้อยลงมาจนสูงสุดของขั้นบันไดที่จะต้องเสีย 25 % เท่าเทียมกันกับภาษีที่นิติบุคคลต้องจ่ายในรอบนี้ จากเดิมที่คนที่มีรายได้สุทธิเกิน 2 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษี 30 % ของส่วนที่เกิน และเกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษี 35 % ของส่วนที่เกิน และนั่นหมายความว่าจะมีสตางค์หมุนกลับเข้ากระเป๋าคนรวยกลับมายิ่งขึ้นไปอีก
อย่างที่สองภาษีเงินได้นิติบุคคลก็จะได้จ่ายน้อยลงไปกว่า3 % พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมดาภาษีเงินได้นิติบุคคล จะเสียจากกำไรของการประกอบการ รวมทั้งสิ้นในการจัดการต่างๆ 28 % แต่ตอนนี้จะรวบตึงให้เหลือเพียง 25 % นั่นหมายความว่าจะมีกำไรกลับเข้ากระเป๋าเหนาะๆ 3 % ทีนี้คนรวยก็เตรียมยิ้มได้เลย เพราะเงินได้ส่วนบุคคลก็รับเองได้ไม่เสียหายอะไร ยังได้กำไรจากนิติบุคคลคืนมาอีก
เมื่อรวมกับมาตรการลดหย่อนสารพัด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีคนที่รายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีน้อยลงทุกปีและการลดหย่อนภาษีนี้ก็ไม่ได้ช่วยคนจนแต่อย่างใด เพราะผู้มีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท อย่างคนจนทั่วไปนั้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องเสียภาษีอยู่แล้ว หมายความว่าชีวิตพวกเขาก็จะเป็นอยู่อย่างเดิม ในขณะที่ชนชั้นกลางพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่มีรายได้สุทธิไม่ถึง2 ล้านบาทสักทีก็ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบเดิมและในที่สุดคนรวยก็ได้สตางค์เพิ่มซึ่งก็สามารถย้อนกลับไปเป็นเงินซื้อผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีก มีเงินส่งเบี้ยประกันชีวิต ซื้อกองทุน เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีความมั่นคง แถมยังได้เอามาปล่อยเช่าให้คนชั้นกลางอีกทอด มีเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยไม่ต้องเสียภาษี
คนจนไม่ต้องเสียภาษีแถมยังมี“บัตรคนจน” แล้วไงจะเอาอะไรอีก?
และแม้จะบอกว่ารัฐมีทางออกให้ผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้เข้าชื่อเป็นบัญชีผู้ถือบัตรคนจน หรือในชื่อจริงที่ว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ต่างๆ จากการเข้ามาลงทะเบียน แต่ปัญหานั้นก็ดูจะเกิดจากการคัดคนเข้ามาในระบบช่วยเหลือนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การคัดคนแบบยื่นรายได้ในปีที่ผ่านๆมานั้น ได้รวมเอาทั้งคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และคนที่แค่ว่างงานเข้ามาในระบบ โดยการรับสมัครใหม่ในแต่ละปีไม่ได้มีการตรวจสอบสถานะผู้ที่ได้บัตรในปีที่แล้วแต่อย่างใด ซึ่งคนว่างงานเหล่านั้น อาจจะได้งานไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับสิทธิ์อุดหนุนต่างๆ แล้วแบบนี้ใครเขาจะคืนบัตร ได้นิดได้หน่อยก็ถือว่าได้ ไม่นับคนที่ถือบัตรคนจน ปากบอก “อ้ายเป็นคนจน” แต่มีคนเลี้ยงดู มีของหรูใส่ ประเภทนี้อีก
ซ้ำร้ายคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆแต่ไม่ถึงเกณฑ์ คือ จนจริงแต่อายุไม่ถึง 17 ปี ก็ถือบัตรคนจนนี้ไม่ได้เลย หรือว่าเป็นคนที่เกิดมรสุมชีวิต ที่นาน้ำท่วม ประสบภัยธรรมชาติกะทันหัน ซึ่งตอนแรกไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ก็ไม่ได้รับสิทธิ์เลยใช่ไหม?
เก็บ“ภาษีคนรวย” ไปด้วยจะช่วยได้ไหม!
เช่นนั้นก็มีอีกวิธี ที่ต่างชาติเขานำเอามาใช้ นั่นก็คือ “ภาษีคนรวย” (Wealth Tax) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคนรวยจาก“ทรัพย์สิน” ไม่ใช่“เงินได้สุทธิ” ที่พ่วงมาด้วยการลดหย่อนต่างๆ คือว่ามาเลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นทรัพย์สินในชีวิตมีอะไรบ้าง แล้วเก็บภาษีตามเกณฑ์อีกทาง หลังจากจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว
ซึ่งทุกวันนี้ก็มีหลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้ เช่น ฝรั่งเศสที่จัดเก็บภาษี ผู้มีสินทรัพย์เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยคำนวณจากทรัพย์สินที่เกินจาก 31 ล้านขึ้นไป (คือถ้ามีทรัพย์สิน 50 ล้านบาท 31 ล้านบาทจะไม่ถูกนำมาคิดภาษีคนรวย แต่ 29 ล้านบาทที่เกิน ต้องเสียภาษี) หรือ สเปนที่จัดเก็บภาษีผู้ที่มีสินทรัพย์เกิน 39 ล้านบาทขึ้นไป นอร์เวย์ที่จัดเก็บผู้ที่มีทรัพย์สินเกิน 6 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีคนรวยนั้น ช่วยได้จริงๆ
แต่ที่ช่วยไม่ได้ก็คือเมื่อเป็นแบบนี้คนรวยทั้งหลายก็ไม่อยากถือสัญชาติที่มีการจัดเก็บภาษีคนรวย เพราะเขาก็จะมองว่าเขาต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ความมั่งคั่งของพวกเขาต้องหดหายโดยไม่จำเป็น เลยเปลี่ยนสัญชาติมันซะเลย นั่นทำให้ เงินทุนในประเทศหดหายไปหมด คืออาจจะจัดเก็บภาษีจากพวกเขาได้ในหลักพันล้าน แต่เงินที่หมุนเวียนจากพวกคนรวยในระดับหมื่นล้านจากการใช้จ่ายของพวกเขา หายออกนอกประเทศ ก็เลยทำให้มาตรการเก็บภาษีคนรวยพลอยต้องถูกยกเลิกไป
หรือจะเหลือทางเลือกเพียงทางเดียว นั่นก็คือ การตั้งมาตรฐานการเก็บภาษีคนรวยในเกณฑ์ระดับโลก เป็นค่ากลางที่ทุกชาติใช้ แต่แค่คิดก็รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้ยากขนาดไหน ไหนจะต้องมีการออกมาโวยวายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอย ความผันผวนทางเศรษฐกิจเอย… ก็คงต้องอยู่กันไปแบบนี้เหมือนที่เคยเป็นมาทุกทีใช่ไหม?
*****************
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644417
https://brandthinkbiz.com/p/หรือ-ภาษีคนรวยโลก-จะเป็นทางออกของความเหลื่อมล้ำ-lwbux4
https://today.line.me/th/pc/article/สรุปแผนปฏิรูปภาษี+ปี+2562-19eJw2
Tommytorn Ph.D เขียนได้ดีมาก เก่งมาก และนี่คือความจริงที่เฮียมากๆครับ
20 พ.ย. 2561 เวลา 00.12 น.
P. ƃuou˙Ԁ เรื่องจริง!!!
20 พ.ย. 2561 เวลา 00.14 น.
กบ นฤชยา อินตะนัย คนจนย่ำอยู่กับที่ คนรวยรวยเอา โกงกินแดกห่าขายประเทศ พวกลูกเห็บหมา
20 พ.ย. 2561 เวลา 00.17 น.
Tik Shaya🌹 เห็นด้วยจริงๆ
ชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือนนี่แหละที่โดนเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
คนรวยเค้ามีหนทางเลี่ยงโน่นนี่ได้
ส่วนคนที่ขายจองข้างทาง รถเข็น ไม่เห็นต้องยื่นภาษี
เผลอๆ รายได้เยอะกว่าชนชั้นกลางอีกด้วยนะ
ชนชั้นกลางนี่แหละที่เลี้ยงประเทศ จ่ายภาษีทุกปีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน รัฐบาลเคยมีสวัสดิการอะไรให้บ้างมั้ย
20 พ.ย. 2561 เวลา 01.05 น.
Wit-ME เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ครับ
20 พ.ย. 2561 เวลา 00.09 น.
ดูทั้งหมด