ไลฟ์สไตล์

ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 24 ก.ค. 2566 เวลา 02.37 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2566 เวลา 23.17 น.
รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ (ซ้าย) อุ้ม

พระราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 6 มีข้าบาทบริจาริกาถวายงานรับใช้กษัตริย์เป็นมหาดเล็กชายหนุ่มที่พระองค์ทรงคัดเลือกไว้มากกว่าจะเป็นหน้าที่ของข้าราชสำนักฝ่ายในเพศหญิง ในบรรดานายในที่ทรงโปรด เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) คือบุคคลที่ว่ากันว่า เป็นนายในที่ทรงรักใคร่เชื่อถืออย่างมากแต่ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด (นอกเหนือจากการเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยอย่างยิ่ง)

จากบันทึกของม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล นามสกุลว่า “พึ่งบุญ” นั้นอ้างอิงพระราชดำรัสว่า สกุลนี้อยู่มาได้ก็เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงชุบเลี้ยงต่อกันมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ้าพระยารามราฆพ เกิดเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นบุตรเจ้าพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว. ละม้าย) และพระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา

สายตระกูล

สายตระกูลของเจ้าพระยารามฯ มาจากกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (พระองค์เจ้าไกรศร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ซึ่งในเวลาต่อมามีอำนาจไม่ใช่น้อย ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล เล่าเรื่องที่เจ้านายทรงบอกกันต่อๆ มาว่า กรมหลวงรักษ์ฯ ทรงปราดเปรื่อง มีอำนาจมากในรัชกาลที่ 3 ว่าการหลายแผนกซึ่งรวมขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง อีกทั้งยังเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดกรณีขุนนางถวายฎีกาเรื่องลูกชายถูกกรมหลวงรักษ์ฯ ทรงตัดสินประหาร รวมถึงคดีเรื่องพฤติกรรมทางเพศกับพวกโขนละครชาย ต่อมาจึงถูกลดพระยศเป็นหม่อมไกรศร จากนั้นก็ถูกประหารในพ.ศ. 2391 ผลกระทบถึงวงศ์วานเพราะถูกลดอิสริยศักดิ์ผู้สืบสาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หม่อมไกรศร (หม่อมไกรสร) มีลูกหลายคน โดยคนหนึ่งคือหม่อมเจ้ากัมพล (อำพล) ซึ่งมีลูกคนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ละม้าย นั่นเอง

ส่วนฝั่งมารดา พระนมทัด ม.จ. พูนพิศมัย บรรยายว่า “เป็นคนดีเรียบร้อย, เป็นคนมีสาสนา (สะกดตามต้นฉบับ), ไม่หลงไหลในบุญบาระมีจนเกินควร. และเป็นคนตรงนิ่งๆ ไม่พลิกแพลงยุ่งยิ่งกับใคร.”

พระนมทัดมีลูกกับ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ละม้าย พึ่งบุญ) เป็นบุตรชื่อเฟื้อ ดังกล่าว และบุตรอีกคนชื่อฟื้น ซึ่งก็คือ “พระยาอนิรุทธเทวา” นายในคนโปรดในรัชกาลที่ 6 เช่นกัน ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “นายใน” เล่าว่า สายตระกูลของกรมหลวงรักษ์ณเรศร์ที่ต้องโทษอยู่อย่างไม่ค่อยสง่างามในราชสำนัก จนกระทั่งรุ่นเหลน นั่นคือ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา เมื่อมีพระราชบัญญัติขนามนามสกุล จึงพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “พึ่งบุญ” เนื่องจากพึ่งบุญบารมีในรัชกาลที่ 6 จนยกระดับทางสังคมมีบารมีอีกครั้ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เจ้าพระยารามฯ สมัยเยาว์ เคยเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังในสำนักพระพันปีหลวงกับพี่สาวมาแล้ว ได้เรียนหนังสือที่วัดบพิตร์ภิมุข ชานันท์ ยอดหงษ์ บรรยายว่า เข้ามาถวายตัวเมื่ออายุ 14 ปี แต่บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย ลงอายุว่าถวายตัวเมื่ออายุ 13 ปี

เข้าถวายตัว

การถวายตัวครั้งนั้นเป็นการอยู่กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังพระองค์เสด็จนิวัติกลับพระนคร ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า ถวายตัวพร้อมกับพระยาอนิรุทธเทวา ผู้เป็นน้องชาย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาขนบธรรมเนียมราชการที่โรงเรียนมหาดเล็กของรัชกาลที่ 5 (โรงเรียนมหาดเล็กหลวง) จนถึงอายุ 18 ปี เมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในพระองค์ตำแหน่งสำรองราชการนายเวรขวา ดูแลเครื่องเสวยและปฏิบัติราชกิจทั่วไป

ในบันทึกของม.จ. พูนพิศมัย ยังเสริมว่า เป็นผู้รับใช้อยู่ในห้องบรรทม เจ้าพระยารามฯ เป็นผู้ได้ปรนนิบัติใกล้ชิดตั้งแต่ตื่นบรรทมจนถึงเข้าบรรทม ซึ่งม.ล. เฟื้อ ก็ไม่ขาดเฝ้าขาดงาน และสร้างความประทับใจได้อย่างรวดเร็ว ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก ความนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาในวันครบรอบ 21 ปี ขณะเป็นจ่ายง ใจความส่วนหนึ่งว่า “…เป็นอุปถากอันถูกใจหาผู้ใดจะเสมอเหมือนได้โดยยาก…” และ “…นับว่าเป็นคนหนุ่มที่อัศจรรย์ไม่เหมือนคนหนุ่มทั้งหลาย…”

ที่สามารถเป็นที่ประทับใจได้นั้น ไม่เพียงต้องมาจากลักษณะส่วนบุคคลแล้ว อีกประการหนึ่งคือ เจ้าพระยารามฯ เป็นผู้ได้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ตั้งแต่ตื่นบรรทมถึงเข้าบรรทม ร่วมโต๊ะเสวยแทบทุกมื้อ เป็นผู้ตามเสด็จ จนถึงแทบทุกกิจกรรมที่พระองค์ทรงริเริ่ม แม้แต่ในเวลาที่พระองค์ไม่สบพระราชหฤทัย ก็มีเจ้าพระยารามราฆพที่อยู่ข้างๆ ขณะที่ข้าราชการไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อรุ่นหนุ่มก็ได้เป็นตัวละครผู้หญิงในละครพูด ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เนื่องเพราะหน้าตาดีและเหมาะสมกับอายุ จึงมักได้เป็นนางเอกเสมอ

บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย เล่าถึงตำแหน่งของเจ้าพระยารามฯ ว่า

“ถึงเวลาเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน, เจ้าพระยารามได้เป็นนายขันหุ้มแพรกรมมหาดเล็กหลวงเป็นคั่นแรก แล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่ายง-พระนายสรรเพ็ชร์-แล้วเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ ถึง พ.ศ. 2464 ได้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ อันเป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา, และเป็นผู้ส่งสาตราวุธถวายตามพระราชประสงค์, จนทรงช้างชนะในยุทธหัตถีเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว…”

เมื่อพ.ศ. 2457 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เจ้าพระยารามราฆพ ยังได้เป็นอธิบดีกรมมหาดเล็ก ซึ่งปกติแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ให้เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดและไว้วางพระราชหฤทัย จากนั้นยังได้รับราชการตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2460 สามารถตามเสด็จโดยลำพัง

บทบาทอำนาจของเจ้าพระยารามราฆพขยายออกมานอกเหนือจากกรมมหาดเล็กด้วย โดยเป็นผู้ช่วยกระทรวงวังใน พ.ศ. 2456 ปีถัดมายังได้เป็นองคมนตรี เมื่อถึงปีพ.ศ. 2467 ยศทหารของเจ้าพระยารามฯ ยังขึ้นถึงตำแหน่งพลเอกกองทัพบก จากที่เริ่มต้นด้วยร้อยเอกกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. เมื่อยังอยู่ในตำแหน่งจ่ายง

ในปีเดียวกันยังได้เป็นพลเรือโท ต่อมาใน พ.ศ. 2468 ยังได้เป็นผู้ช่วยราชการกระทรวงทหารเรือ เมื่อเปลี่ยนรัชกาลในปีนั้นเองจึงได้ออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญปีละ 8,000 บาท ขณะนั้นเป็นอัตราสูงสุดสำหรับผู้ไม่ใช่เสนาบดีจึงพ้นจากหน้าที่ในกรมมหาดเล็กหลวงและหน้าที่ด้านการทหารทั้งหมด

ม.จ. พูนพิศมัย เล่าเพิ่มเติมว่า

“ในตอนปลายรัชกาลนี้, เจ้าพระยารามฯ มีอำนาจสูงสุด … จะไปไหนก็ปักธงตราของตัว (พื้นแดงมีมานพยืนเชิญพระขรรค์สีขาว) ที่หน้ารถ, โปลิศก็เป่านกหวีดบอกกันให้ดูหนทาง-อย่างในหลวงเสด็จ, เวลามีการงานที่บ้านคนเต็มหมดและปูพรมทาง พอเจ้าพระยามรามฯ เดินมาคนก็ลุกขึ้นยืนพรึ้บพร้อมๆ กัน. ทำให้พวกที่ถูกหาว่าจะเป็นขบถพูดนินทาในหลวงกันว่า-‘เที่ยวสงสัยคนอื่นว่าเขาจะเป็นขบถ, อ้ายขบถจริงๆ อยู่ข้างๆ…’ ที่จริง, ก็เป็นคำค่อนที่ค่อนจะแรงไป, แต่เห็นได้ว่าน้ำใจคนภายนอกปั่นป่วน-เพราะเหตุเล็กน้อยได้เป็นอันมาก…”

ทรัพย์สิน

เจ้าพระยารามฯ ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก พร้อมกับขึ้นเงินเดือน อีกทั้งยังได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ เมื่อครั้งอายุครบ 24 ปี รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์คำร้อยกรองพระราชทานพรและพระบรมราโชวาท เจ้าพระยารามฯ ได้รับพระราชทานคฤหาสน์“นรสิงห์” (ยังสร้างไม่สมบูรณ์) พระองค์มีพระราชหัตถเลขายืนยันการพระราชทานที่ดินแปลงนี้ ใจความดังนี้

“ที่ดินซึ่งได้ทำเปนสวนเพาะปลูกพรรณไม้ต่างๆ อันอยู่หลังโรงทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตำบลสวนดุสิตแปลงหนึ่งนี้เปนที่ของพระคลังข้างที่ มีจำนวนกว้างยาวคือ ทิศเหนือยาวไปตามถนนคอเสื้อ 4 เส้น 15 วา 2 ศอกคืบ ทิศใต้ยาวไปตามถนนลูกหลวง 4 เส้น 11 วา ทิศตวันออกยาวไปตามถนนฮก 6 เส้น 7 วา 2 ศอกคืบ ทิศตวันตกจดคลองแลยาวไปตามคลอง 6 เส้น 3 วาศอก…

ข้าพเจ้าเห็นว่าพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เปนผู้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดกราดกรำมาด้วยความจงรักภักดีอันมั่นคงต่อข้าพเจ้ามาช้านาน บัดนี้สมควรจะให้ที่บ้านอยู่เพื่อความศุขสำราญจะได้เปนกำลังที่จะรับราชการสืบไป จึงทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ยกที่ดินอันกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) สืบไป พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) จะปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงในที่รายนี้ ฤๅจะซื้อขายให้ปันแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามแต่ใจพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ทุกประการ แต่ข้าพเจ้าขอคงอำนาจไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ประพฤติตนไม่สมควรจะปกปักรักษาที่นี้ได้เมื่อใด ฤๅข้าพเจ้าเห็นสมควรจะแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้ามีอำนาจจะเรียกคืนที่รายนี้ฤๅแลกเปลี่ยนได้ทุกเมื่อทุกเวลา เว้นแต่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาถือเอาอำนาจอันนี้ เพื่อคืนฤๅแลกเปลี่ยนเอาที่รายนี้จากพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ฤๅจากผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับทรัพย์มรฎกของพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ไม่ได้เปนอันขาด ถ้าพระเจ้าแผ่นดินฤๅผู้ใดผู้หนึ่งที่มีอำนาจจะต้องประสงค์ที่รายนี้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ก็ขอให้พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้รับพระราชทานราคาตามสมควรแก่ที่นี้เถิด

หนังสือสำคัญฉบับนี้ ได้ลงชื่อแลประทับพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินแลสำหรับตัวข้าพเจ้ามอบให้ พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) รักษาไว้ แลได้คัดสำเนาความต้องกันมอบให้เจ้าพนักงานกรมพระคลังข้างที่รักษาไว้เปนพยานด้วยฉบับหนึ่ง”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระรูปคู่กับเจ้าพระยารามฯ บนพระรูปมีพระราชหัตถเลขาว่า “ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นพยานแห่งความสเนหา”

ลักษณะนิสัยและชีวิตส่วนตัว

สำหรับเรื่องส่วนตัวแล้ว บันทึกของม.จ. พูนพิศมัย อธิบายเสริมว่า เจ้าพระยารามฯ มีผู้หญิงหลงใหลมากมายมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ไม่เพียงเป็นเพราะได้เป็นนายโรงเอกของละครแล้ว เจ้าพระยารามฯ ก็เป็นผู้มีบารมีอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เจ้าพระยารามฯ มักสนุกในการ “ทำให้คนสงสัยว่าติดคนนั้นบ้างคนนี้บ้างอยู่เสมอ” แต่ไม่ได้ชอบใครจริงจัง ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เจ้าพระยารามฯ เคยพูดว่า

“ใครเขาจะรักหม่อมฉันจริง, นอกจากอยากเป็นท่านผู้หญิงใส่สายสะพายกลัดเข็มพระบรมนามาภิธัยให้เต็มไหล่!”

วิทยานิพนธ์ของชานันท์ ยอดหงษ์ บรรยายว่า รัชกาลที่ 6 และเจ้าพระยารามฯ ใกล้ชิดกันมาก มาเริ่มห่างกันเมื่อก่อนพระองค์สวรรคตเพียงปีเดียว เมื่อช่วงเวลานั้นเจ้าพระยารามฯ แต่งงานกับประจวบ ลูกสาวเจ้าพระยายมราช (ตลับ สุขุม) ข้าราชการผู้ใหญ่ที่รัชกาลที่ 6 ทรงเคารพนับถือ ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า แต่งงานเมื่อ “ประจวบ” อายุ 10 ปี ในพ.ศ. 2467 เมื่อประจวบอายุ 14 ปีก็มีลูกผู้หญิงชื่อรุจิรา และมีบุตรชื่อมานน “และมีลูกกับเมียน้อยอีกหลายคน”

การแต่งงานครั้งนั้นยังทำให้ได้รับพระบรมราชานุญาตไม่ต้องร่วมในเวลาทรงกีฬาขณะที่ประทับในพระนคร

ความในบันทึก ม.จ. พูนพิศมัย ยังบอกเล่าอีกว่า เมื่อครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับมหาดไทยนั้น เจ้าพระยายมราช ทูลกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “รับไว้ชั่วคราว, ข้าพระพุทธเจ้าคิดจะให้พระยารามฯ เขารับต่อไป.” ภายหลังเจ้าพระยายมราชมาทูลว่า “เจ้าพระยารามฯ เขาไม่เอา. เขาบอกว่าราชสำนักไกลไม่ได้, ถ้าไปไกลก็หลุดเลย!”

ปลายรัชกาลที่ 6

ในช่วงที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระประชวร เจ้าพระยารามฯ ก็มาเข้าเฝ้าทุกคืน งานเขียนของชานันท์ ยอดหงษ์ ยังเล่าโดยอ้างอิงบทความชื่อ “I lost a king” โดย ราล์ฟ วาลโด เมนเดลสัน ซึ่งบรรยายว่า เมื่อใกล้สวรรคต เจ้าพระยารามราฆพเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 6 ทรงวางพระราชหัตถ์ที่มือจนกระทั่งสวรรคต หลังสวรรคต มีบันทึกว่า พระราชสมบัติส่วนพระองค์ที่พระองค์ทรงซื้อมาด้วยทุนส่วนพระองค์เองก็มักตกเป็นของเจ้าพระยารามฯ และพระยาอนิรุทธเทวา

ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาล สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ภายหลังมีการตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนัก ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เจ้าพระยารามฯ กราบถวายบังคมลา ทูลว่าจะไปหาวิชาความรู้ในยุโรป พร้อมด้วยครอบครัว

“…ความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปประเทศมิได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกหรือนึกคิดของเจ้าพระยารามได้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด. แม้ผู้หญิงฝรั่งซึ่งน้อยคนนักจะหนีพ้นกลับมาได้, เจ้าพระยารามฯ ก็ไม่ชอบ. การได้อยู่ในยุโรป 7 ปีกว่านั้น, เจ้าพระยารามก็คงคลุกคลีอยู่กับคนไทยด้วยกันเป็นส่วนมาก และนอกจากเที่ยวเตร่แล้วก็เล่นไพ่ตองเป็นงานประจำ. ผิดกับคนไทยทั้งปวดหมด, แม้หม่อมราโชทัยผู้เป็นล่ามของราชทูตไทยไปยุโรปใน พ.ศ. 2400 ก็ยังเขียนรำพรรณอยากให้เมืองไทยมีสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง, และแม้นักเรียนที่เรียนตก, ก็เก็บเอาความชั่วต่างๆ ของยุโรปกลับมาฝากบ้านด้วย. แต่-เจ้าพระยารามฯ ไม่รับมาทั้งชั่วและดี, จึงควรยกให้เป็นคนพิเศษ, เพราะยุโรปประเทศก็ต้องแพ้เจ้าพระยารามฯ เหมือนกัน!”

เจ้าพระยารามฯ กลับมาเมืองไทยในช่วงที่รัชกาลที่ 7 เสด็จไปยุโรป พ.ศ. 2477 ใช้ชีวิตอย่างสงบ ดำรงตำแหน่งในบริษัทจำกัดบ้าง เป็นประธานหรือกรรมการบ้าง เมื่อถึงพ.ศ. 2506 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวังและประธานกรรมการพระราชวัง โดยยังไปปฏิบัติหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณตามที่สุขภาพอำนวย

เอกสารประวัติของเจ้าพระยารามฯ บรรยายว่า ท่านเริ่มป่วยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2510 เข้ารับการรักษาในเดือนเดียวกัน และถึงอสัญกรรมในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510 รวมอายุ 77 ปี 16 วัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ ร.ว., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ