ไลฟ์สไตล์

ตามรอยปริศนา "สะพานหัน" หันได้อย่างไร? เคยมีที่กรุงเก่า?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 01 พ.ย. 2565 เวลา 06.41 น. • เผยแพร่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 10.53 น.
สะพานหันในสวนบางแวก ซ้ายสุดเห็นก้อนหินถ่วงปลายไม้ให้ยกหันได้สะดวก ทางขวาสุดเห็นไม้ยาวพาดรั้ว เป็นไม้สำหรับเกี่ยวสะพานมาหายามที่อยู่คนละฟาก (ภาพโดย เอนก นาวิกมูล)

มีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงสะพานหัน ไม่บอกว่าสะพานหันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันหนึ่งผู้เขียนไปอ่านใมโครฟิมล์ ในหอสมุดแห่งชาติ พบว่านายกุหลาบเคยกล่าวถึงประวัติสะพานหันไว้ในสยามประเภท เล่ม 2 ตอน 14 วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 118 พ.ศ. 2442 โดยเขียนแทรกอยู่ในเรื่อง “ต้นเหตุภานเหล็กมีในกรุงสยาม” เก็บความมาเรียบเรียงใหม่ให้อ่านเข้าใจง่ายดังนี้

สะพานหันเคยมีที่กรุงเก่า สร้างข้ามคลองตะเคียน และคลองวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในกรุงเทพฯ ร.1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานทำสะพานปักเสา “มีกระดานข้างบนหันได้” สำหรับคนเดินข้ามคลองรอบกรุงตรงแถวถนนหน้าวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิเข้ามาในกำแพงพระนคร ถ้ามีเรือเสาเข้ามาจากทะเล จะเข้าคลองนั้นก็จะได้หันหลีกให้เรือเสาลอดเข้าออกได้เหมือนเช่นสะพานหันที่กรุงเก่า

เมื่อสะพานหันชำรุด เจ้าพนักงานจึงทำสะพานขึ้นใหม่ในต้นรัชกาลที่ 2 ทว่าเป็นเพียงสะพานปูกระดานสองแผ่นเช่นสะพานธรรมดา หันไม่ได้ แต่แม้กระนั้นคนก็ยังเรียกสะพานนั้นว่าเป็น “สะพานหัน”

สมัย ร.4 มีการสร้างสะพานเหล็กตรงสะพานหันเดิมพร้อมๆ กับสะพานเหล็กในทีี่อื่นๆ แต่คนคงเรียกสะพานใหม่ตรงนั้นว่าสะพานหันอีก ไม่ยอมเปลี่ยนไปเรียกเป็นอื่นเลย นับว่าชื่อสะพานหันอยู่ทนมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายกุหลาบกล่าวประวัติสะพานหันไว้เพียงแค่นี้ ไม่ได้บอกว่า ต่อมาสะพานหันกลายรูปไปอีก แสดงว่าสะพานหันแบบที่มีร้านค้าอยู่ข้างบน อย่างที่เห็นตามโปสการ์ดและหนังสือสมัย ร.5 เป็นสะพานแบบที่สร้างหลัง พ.ศ. 2442 สะพานอย่างที่ว่านี้ มักกล่าวกันว่าเหมือนสะพานริอัลโตที่เมืองเวนิซ

ปัจจุบันสะพานหันเป็นแค่สะพานคอนกรีตสั้นๆ หาความสวยงามไม่ได้ สะพานแบบริอัลโต ถูกรื้อทิ้งไปเสียเมื่อปีใดยังค้นไม่ได้

ผู้เขียนสงสัยเรื่องสะพานหันมานาน ประวัติศาสตร์สะพานหัน ค้นได้แล้วแต่สะพานหัน หันได้อย่างไรเป็นปัญหาติดขัดมาตลอด สะพานหันสูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีใครพรรณนาถูก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2541 ผู้เขียนพายเรือเที่ยวคลองรอบสวนข้างบ้าน คลองนี้อยู่ละแวกวัดชัยฉิมพลี พอเลี้ยวจากคลองหลังบ้านไปสู่อีกคลองเท่านั้นก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังหันสะพานข้ามคลองอยู่ ผู้เขียนร้องอย่างตื่นเต้นว่า“นี่ไงสะพานหัน สะพานหันโว้ย” แล้วผู้เขียนก็ยกกล้องขึ้นถ่ายอย่างรวดเร็ว

สะพานหันหันได้อย่างไร สะพานหันหันได้ก็เพราะมีแกน มีของหนักเช่นหินถ่วงให้หมุนได้ง่ายข้างหนึ่ง

“ผมเห็นพี่พายไป-มา นานแล้ว แต่พี่ไม่เห็นสะพานเพราะผมหันเก็บข้างคลอง” คุณสไบ ปิตะนีรวัตร์ เจ้าของสะพานกล่าวได้อย่างอารมณ์ดี “ผมเพิ่งสร้างสะพานหันนี้เมื่อต้นปีที่แล้ว อาศัยฟังจากแม่แล้วผมก็มาคิดเอาเองกว่าจะทำเสร็จก็เสียเวลาไม่น้อยเหมือนกัน”

ชายสไบให้ความรู้ต่อไปว่า แต่ก่อนในสวนเคยมีสะพานหันหลายแห่ง แต่เลิกใช้กันเสียหมด จึงไม่มีให้เห็น ทางอีสานก็นัยว่ามีสะพานหันแต่คนอีสานเรียกว่า “สะพานขาเดียว” เพราะไม่ต้องปักเสาสองฟาก สะพานขาเดียวมีที่อำนาจเจริญ เป็นต้น

สะพานหันของชายสไบมีไม้ยาวสำหรับเกี่ยวสะพานให้หันไปหายามข้ามฝั่งไปแล้วด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าเอาไม้มาเกี่ยวสะพานไปใช้ง่ายๆ เขาจึงคิดทำห่วงคล้องกุญแจไว้ที่ปลายสะพานอีกจุก นับว่าช่างคิดไม่เบา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2560

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ชื่อของสะพานนี้อาจเสมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่จะคอยช่วยเตือนสติให้เราได้ระวังกับภัยที่อยู่ข้างหน้าด้วยก็ได้.
    23 ก.ย 2562 เวลา 00.52 น.
  • Panta
    ช่างคิด
    22 ก.ย 2562 เวลา 22.53 น.
ดูทั้งหมด