ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ฮิคิโคโมริ ระเบิดเวลาของสังคมญี่ปุ่น

ลงทุนแมน
อัพเดต 17 มิ.ย. 2562 เวลา 10.51 น. • เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

ฮิคิโคโมริ ระเบิดเวลาของสังคมญี่ปุ่น / โดย ลงทุนแมน

ฮิคิโคโมริ (Hikikomori ; 引き籠もり) หมายถึง บุคคลผู้ปฏิเสธที่จะออกจากบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ไม่ทำงาน ไม่พบปะ ติดต่อกับใครนอกจากคนในครอบครัวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน..

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นี่คือคำนิยามของคำว่า ฮิคิโคโมริ จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

ฮิคิโคโมริ คืออะไร? และส่งผลต่อสังคมญี่ปุ่นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

จากเหตุการณ์ล่าสุด
ชายวัย 51 ปี ถือมีดบุกแทงผู้ใหญ่และนักเรียน ที่ป้ายรถเมล์ เมืองคาวาซากิ
จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 19 ราย..

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ชายผู้นี้ถูกคาดว่าเป็น บุคคลที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮิคิโคโมริ”

บุคคลที่เป็นฮิคิโคโมริ จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้อง
โดยอาจไม่มีอาการแสดงถึงความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจแต่อย่างใด
แต่เรื่องนี้อาจเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่

สาเหตุของฮิคิโคโมริ อาจเกิดจากความผิดหวังจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ล้มเหลวในการสอบ โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือที่ทำงาน หรือประสบความล้มเหลวในการทำงานและธุรกิจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เริ่มต้นจากการสูญเสียความมั่นใจ และมีความเครียดสะสม

จนกลายเป็นความเบื่อหน่ายที่จะต้องพบปะผู้คน และรับแรงกดดันจากสังคม

ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ประสบภาวะซึมเศร้า จนหลายคนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

Cr. BBC

จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2016 พบว่า
มีประชากรที่คาดว่าเป็น ฮิคิโคโมริ
อายุระหว่าง 15-39 ปี จำนวน 541,000 คน
อายุระหว่าง 40-64 ปี จำนวน 613,000 คน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มากกว่าเพศหญิง

รวมช่วงอายุ 15-64 ปี จะมีจำนวนมากถึง 1,154,000 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจำนวนที่แท้จริงอาจมีอยู่ถึง 2 ล้านคน
ซึ่งคิดเป็น 1.6% ของประชากรญี่ปุ่น 127 ล้านคน

แต่หากมองเฉพาะประชากรวัยแรงงานชาวญี่ปุ่น อายุ 15-64 ปี ที่มีอยู่ 76.5 ล้านคน
สัดส่วนของฮิคิโคโมริจะมีอยู่ถึง 2.6%

บรรดาฮิคิโคโมริไม่ทำงาน และไม่มีรายได้ใดๆ
จึงจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากเงินบำนาญของพ่อแม่เพื่อยังชีพ

บางรายปลีกตัวออกจากสังคมตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี จนมีอายุถึง 50 ปี
แต่ก็ยังคงพึ่งพาพ่อแม่ซึ่งแก่ชรามากขึ้นทุกที

จนเกิดเป็นปัญหาในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ปัญหา 80-50”
หมายถึง พ่อแม่ในวัย 80 ปี ซึ่งดำรงชีวิตอยู่อย่างอัตคัดด้วยเงินบำนาญ
แต่ยังมีภาระต้องดูแลลูกที่เป็นฮิคิโคโมริในวัย 50 ปี

ผลสำรวจยังพบว่า ฮิคิโคโมริจำนวนไม่น้อยโดดเดี่ยวจากสังคมมามากกว่า 5 ปี
บางคนปลีกตัวเองมานานถึง 30 ปี

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นโสด ไม่ออกไปทำงาน ไม่มีรายได้ และไม่จ่ายภาษี

กรณีนี้น่าสนใจกับสภาพสังคมในญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบปัญหาประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างมาก
และสัดส่วนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมานานเกือบ 30 ปี
จนถูกขนานนามว่า “3 ทศวรรษที่หายไป”

วัยแรงงานซึ่งควรจะเป็นความหวังของเศรษฐกิจ
กลับถูกซ้ำเติมด้วยประชากรนับล้านคนที่ไม่ทำงาน ไม่สร้างรายได้

แต่หากมองว่าคนในวัย 40-50 ปี จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างไร
หรือจะกลับมาประกอบอาชีพอะไร
ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก

หนทางสำหรับฮิคิโคโมริจำนวนไม่น้อย จึงเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองลง

หรืออีกหนทางที่เลวร้ายยิ่งกว่า ก็คือการทำร้ายชีวิตคนอื่นในสังคม

เรื่องนี้อาจมีสาเหตุเป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ยิ่งมนุษย์ปลีกตัวออกจากสังคมนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลายเป็นสั่งสมความเก็บกดเอาไว้

สุดท้ายอาจแปรเปลี่ยนเป็นความโหดร้าย
เฝ้ารอเวลาที่จะย้อนกลับมาทำลายสังคม

ทำให้บางครั้งบุคคลเหล่านี้ อาจเอาชีวิตของผู้อื่นไปด้วย..

ดังเช่น มือมีดที่ก่อเหตุฆาตกรรมที่เมืองคาวาซากิซึ่งมีอายุ 51 ปี

หรืออดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและประมงของญี่ปุ่นวัย 76 ปี ผู้เลือกที่จะปลิดชีพของลูกชายซึ่งเป็น ฮิคิโคโมริ วัย 44 ปี เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยไว้ก็อาจไปทำร้ายผู้อื่น

ในสังคมญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่า เป็นสังคมที่สงบสุขที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

หากมองในอีกแง่มุม
สังคมที่แสนสงบแห่งนี้อาจเป็นแหล่งซุกซ่อนระเบิดเวลา
ซึ่งมีจำนวนอยู่มากกว่า 1 ล้านคน..

Cr. Times Newspapers

———————-
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
———————-

References
-http://www.bbc.com/future/story/20190129-the-plight-of-japans-modern-hermits
-https://apjjf.org/2017/05/Tajan.html
-https://www.statista.com/statistics/612575/japan-population-age-group/
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Hikikomori
-https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2579068

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • ชุมสาย
    เอาง่ายๆ แต่ปฏิบัติกันค่อนข้างยาก (มักจะบอกว่ายาก) ยึดทางธรรมะ-ทางสายกลางไม่ตึง ไม่หย่อน ยึดหลักกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ความแน่นอน คือ ความไม่แนนอน โรคอะไรก็ไม่เกิด (ยกเว้นโรคทางกาย)
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 07.58 น.
  • Chor
    ลองกลับไปใช้ชีวิตพอเพียงดูสิ น่าจะดีขึ้นนะ
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 07.53 น.
  • yoOHOyo
    ประสบการณ์ตรง ฮิคิโคโมริ ไม่เหมือนคนติดบ้านทั่วไปนะครับ ผมเคยเป็นอยู่พักนึงตอนที่ต้องออกจากมหาลัยกลางคัน ไม่อยากเจอใครเพราะไม่ต้องการให้ใครถามว่าทำไมถึงออก แม่ก็อายคนอื่นตอนโดนถาม ผมเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน มีแม่ซื้อข้าวให้กิน ทำงานบ้านบ้างเล็กน้อย แต่ก็ขลุกอยู่กับคอม เดินไปมาแค่ห้องนอนกับห้องน้ำ เวลาต้องออกไปนอกบ้านผมจะเลือกเวลากลางคืนที่ไม่ต้องเจอคนแถวบ้าน ถ้าเจอก็จะแกล้งทำเป็นไม่เห็น ไม่ทักทายใคร ความรู้สึกตอนนั้นคือห้องนอนตัวเองคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด อึดอัดน้อยสุด เป็นอยู่ 2 ปี จนไปบวชจึงหาย
    18 มิ.ย. 2562 เวลา 02.20 น.
  • Mr ton
    คนไทยเป็นเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะหน้าร้อน ถามว่าออกไปข้างนอกร้อนไหม บอกเลยว่าเกรียม ดังนั้นคนไทยจึงอยู่บ้านเปิดแอร์เปิดพัดลม นั่งเล่นเน็ต คุยแชท ชอปปิ้ง สั่งข้าวก็ได้ grabbike มี lineman ก็มี ... คนเก็บตัวในบ้านเรามีน้อยกว่าครับ สังคมเราเฮฮาวันหยุดเยอะ
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 15.37 น.
  • maruneko
    ชอบอยู่ห้องนะ ไม่ไปไหนก้อได้ แต่ก่อไม่ซึมเศร้านะ นอนรูดโทรศัพท์ ช้อปปิ้งไป ตามพอสมควร
    17 มิ.ย. 2562 เวลา 14.50 น.
ดูทั้งหมด