ตลาดชานมไข่มุกในบ้านเรายังคงคึกคัก หลังจากกระแสชานมจากไต้หวันเข้ามาตีตลาดในไทย จนกลับมาอิตติดตลาดอีกครั้ง กลายเป็นกระแสให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งจะยิ่งคึกคักขึ้นไปอีกเมื่อผู้ประกอบการไทยก็กระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างไม่แคร์ไต้หวัน
“ชานมไข่มุก” เครื่องดื่มที่มีท็อปปิ้งเคี้ยวหนึบหนับ ดูจะเป็นเทรนด์สุดฮิตของบ้านเราขณะนี้เลยก็ว่าได้ คล้ายๆกับยุคที่กาแฟสดได้รับความนิยมแบบสุดๆเช่นกัน ตอนนี้หันไปทางไหนก็มีแต่ร้านชานมไข่มุกอยู่เกลื่อนกลาด ทั้งที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ และแบรนด์ที่เป็นของคนไทยด้วยกันเอง เฉพาะในย่านสยาม แหล่งช็อปปิ้งที่วัยรุ่นนิยมไปเดินกัน ก็มีร้านชานมไข่มุกอยู่มากกว่า 20 ร้าน ไม่นับร้านคีออสเล็กๆ ตามตรอกซอกซอยด้วย เอาเป็นว่า เลือกกันไม่ถูกกันเลยทีเดียว
ช่วงแรกๆที่ชานมไข่มุกได้รับความนิยมมากๆ ก็มาจากการที่แบรนด์ของไต้หวัน ต้นตำหรับสูตรชานมไข่มุกสุดพิเศษ ที่ทำเอาคนไทยแห่แหนไปเข้าคิวรอซื้อกันยกใหญ่ แต่ก่อนที่จะมาเป็นชานมไข่มุกนั้น เกิดจากความเบื่อ ที่อยากจะปรับเปลี่ยนสูตรของน้ำชาที่แสนจะธรรมดา เป็นเครื่องดื่มที่แปลกใหม่น่าสนใจ ซึ่งที่มาก็เกิดจากระหว่างการประชุม ของร้านชา “ชุนฉุ่ยถัง” (Chun Shui Tang Teahouse) ที่กำลังหารือกันเรื่อง เมนูใหม่ ในการเรียกยอดขายของทางร้าน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณ หลินชิ่วฮุย (Lin Hsiu Hui) ได้เกิดไอเดียนำเอา ขนม (Fen Yuan) ที่มีลักษณะ คล้ายกับขนมโมจิ ของญี่ปุ่น เทลงไปในน้ำชาอัสสัมของตัวเอง แล้วลองชิม ซึ่งมันดี มันลงตัว หลังจากนั้น ก็เลยเกิดเป็นเมนูชานมไข่มุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และเมื่อในปี 2016 ผู้นำประเทศไต้หวันใช้นโยบาย New Southbound Policy เปิดให้เข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า และเริ่มต้นเดินหน้าในการโปรโมทเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณภาพไม่ต้องพูดถึง ต้องพรีเมี่ยมเท่านั้น จนกลายเป็นกระแส และทำให้ตลาดชานมไข่มุกกลับมาคึกคัก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน สร้างงานกว่า 3 แสนตำแหน่งในประเทศ อีกทั้ง สามารถทำรายได้จากอุตสาหกรรมไข่มุกสูงรองลงมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย
ปัจจุบันตลาดชานมไข่มุกทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 62,500 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2023 มูลค่าตลาดจะเติบโตไปอยู่ที่ 103,000 ล้านบาทสำหรับประเทศไทย ตลาดชานมไข่มุก มีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท
ส่วนเจ้าดังเจ้าอื่นๆ ที่เพิ่งเข้ามาเปิดในประเทศไทย บางร้านมีการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ในนามของร้านอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อปี 2561 การคำนวณงบการเงินจึงไม่สามารถระบุได้ ว่าเป็นมูลค่าของชาไข่มุกเท่านั้นหรือไม่ และบางเจ้าเปิดในนามส่วนบุคคลไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จึงไม่มีข้อมูล
ขณะที่ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย โดยส่วนใหญ่แบรนด์จากไต้หวันราคาจะค่อนไปทางสูง ด้วยวัตถุดิบที่เจ้าของแบรนด์เองบอกว่า พรีเมี่ยม แถมยังนำเข้าจากไต้หวัน เมื่อนำเข้ามาอาจจะมีเรื่องภาษีที่ทำให้ราคาโดดขึ้นไปน้องๆ Starbuck เลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคกับผู้บริโภคไทย ขอให้ได้ลองสักครั้ง ต่อให้ต้องไปต่อคิวรอยาวเหยียดก็ยอม
แม้การแข่งขันในตลาดชานมไข่มุกจะท้าทาย แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาในตลาด ท่ามกลางกระแสชานมไข่มุกไต้หวันที่ดูจะโค่นยากซะเหลือเกิน ซึ่งแบรนด์น้องใหม่ในตลาดที่ว่านี้ คือ “Bearhouse” ชานมไข่มุกสัญชาติไทย ด้วยสูตรเฉพาะที่เกิดจากความตั้งใจของเด็กรุ่นใหม่สองคน ที่รักในการชิมอาหาร ซึ่งก็เป็นการต่อยอดมาจากการเป็น Youtuber ที่ใช้ชื่อช่องว่า “Bearhug” ที่จะเน้นรีวิวอาหารเป็นหลัก จนมีผู้ติดตามมากกว่า 2.8 ล้านคน และได้ต่อยอดมาเป็นธุรกิจชานมไข่มุกที่แสนจะน่ารักขึ้น ตัวโลโก้เป็นรูปหมีสีน้ำตาลนั่งคุดคู้น่าเอ็นดู แต่ทางเจ้าของแบรนด์บอกว่า มันคือรูปไข่มุก ที่ทางร้านปั้นเอง ดูแล้วคล้ายกับหมีน้อยน่ารักอย่างที่เห็น
กานต์ อรรถกร รัตนารมย์ อายุ 27 ปี และ ซารต์ ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช อายุ 26 ปี เจ้าของ ร้าน Bearhouse เปิดเผยว่า ใช้งบลงทุนไปทั้งหมด 8 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน ครัวกลาง การวิจัย และตกแต่งร้าน ซึ่งแน่นอนว่า จุดเด่นของ“Bearhouse” อยู่ที่ “ไข่มุกโมจิ” เป็นไข่มุกสูตรเฉพาะที่คิดค้นและทำเอง ตัวไข่มุกจึงไม่กลม มีแป้งข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ มีกลิ่นของโมจิ หนึบหนับกำลังดี และมีขนาดเล็กกว่าปกติ ราคาอยู่ที่ 55 - 90 บาท
ร้านชานมไข่มุก“Bearhouse” เพิ่งเปิดได้ไม่ถึงสองเดือน แต่กระแสตอบรับดีเกินคาด อาจจะด้วยฐานคนดูของช่อง Bearhug ที่มีอยู่แล้ว และตัวซารต์กับกานต์เอง ก็มีคนรู้จักมากพอสมควร จึงเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในการโปรโมทร้านไปในตัว ในแต่ละวันจึงมีลูกค้ามารอต่อแถวเพื่อซื้อชาไข่มุกยาวตลอดทั้งวัน และทำให้ต้องเพิ่มเครื่องจักรและกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยยังมองว่า ตลาดชาไข่มุกที่มีมูลค่า 2,500 ล้านบาทนี้ยังมีโอกาสเติบโต เพราะเมื่อเทียบกับตลาดร้านกาแฟ 17,000 ล้านบาท เล็กกว่าถึง 7 เท่า และในช่วงแรกที่เปิดขาย มียอดขาย 700 - 800 แก้วต่อวัน หลังจากนี้คาดมียอดขาย 1,000 แก้วต่อวัน ส่วนทั้งปี 2562 นี้ คาดว่า จะมียอดขาย 15 ล้านบาท
กานต์ ยอมรับว่า ตลาดชานมไข่ทุกค่อนข้างท้าทาย เบื้องต้นจึงตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 2 ปีจะขยายสาขาในรูปแบบ Full Scale ทั้งหมด 5 สาขา โดยกลุ่มเป้าหมายของ “Bearhouse” คือวัยรุ่น แต่หลังจากเปิดร้านก็มีการปรับตัวไปตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้การทำธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของ”Bearhouse" ไปในตัว
สุดท้ายแล้วเป้าหมายของ“Bearhouse” ไม่ใช่แค่ผลกำไร แต่คือการเปิดเป็นคาเฟ่ในสไตล์ของตัวเอง แม้ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาจะมีนักธุรกิจให้ความสนใจ ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เพื่อไปเปิดในต่างประเทศบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งกานต์บอกว่า ส่วนตัวยังอยากจะทำให้ธุรกิจ“Bearhouse”มีฐานที่มั่นคงก่อน ซึ่งยังต้องดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสมในอนาคต
“Bearhouse” สาขาแรกตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ใครอยากลองชิม ช่วงนี้อาจจะต้องต่อคิวนานหน่อย เพราะว่า Bearhouse กำลัง Fever เลยล่ะ
♡ N O K ♡ เลิกกินละค่ะ ตั้งแต่แก้วละร้อยกว่าบาท ดูด 3-4 ปื้ดหมด ได้แต่น้ำตาลๆๆๆๆ กับไขมัน
19 มิ.ย. 2562 เวลา 09.20 น.
Kai-Patra ขี้เกียจด่า เจ็บคอ
19 มิ.ย. 2562 เวลา 09.34 น.
ดูทั้งหมด