ไลฟ์สไตล์

ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 27 ส.ค. เวลา 03.28 น. • เผยแพร่ 25 ส.ค. เวลา 01.14 น.
Saurabh Raj Jain ผู้แสดงเป็น กฤษณะ ในซีรีย์ มหาภารตะ (ภาพจากเว็บไซต์ https://i.ytimg.com/vi/FtgtEN2wMdE/maxresdefault.jpg)

ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี

ไม่ทราบว่าเป็นการตัดสินใจถูกหรือตัดสินใจผิดของผู้เขียน ที่อาจหาญเขียนถึง “พระกฤษณะ” ซึ่งได้รับความเคารพว่าเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญอย่างยิ่งของอินเดีย (รวมถึงประเทศใกล้เคียง) และไทย ผ่านอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องคุณธรรมหรือความดีงามที่เราได้รับรู้กันมา เนื่องจากด้านที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ค่อยจะโสภานัก ผู้เขียนจึงขอเรียกมันว่าเป็น “ด้านมืด” ขององค์พระกฤษณะเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่จะนำเสนอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระกฤษณะ คืออวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์ โดยท้าวเธอยังเป็นบุตรคนที่ 8 ของท้าววาสุเทพกับนางเทวากี อวตารลงมาเพื่อปราบพญากังสะ (พญากงส์) กษัตริย์ผู้ดุร้าย [1]เรื่องราวของพระกฤษณะยังเชื่อมต่อไปถึงมหาสงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร นามว่า “ศึกมหาภารตะ” อีกด้วย การที่ พระกฤษณะเข้าไปมีส่วนร่วมกับมหาสงคราม ก็เนื่องจากว่า ท้าวเธอเป็นญาติกับสองพี่น้องเการพและปาณฑพนั้นเอง แต่ดูท่าแล้วจะเอนเอียงไปทางฝ่ายปาณฑพเสียเป็นส่วนมาก ในคราที่เหล่าพี่น้องปาณฑพแพ้สกาจนต้องเสียเมืองและถูกเนรเทศเข้าสู่ป่าเป็นเวลา 13 ปี ด้านพระกฤษณะเองก็แวะมาเยี่ยมเยือนพี่น้องปาณฑพอยู่บ่อยๆ และพร้อมยินดีให้การช่วยเหลือเหล่าปาณฑพอย่างเต็มที่

เมื่อสงครามกำลังก่อตัว เหล่าเการพและปาณฑพต่างประสงค์ตัวพระกฤษณะให้มาร่วมช่วยเหลือกองทัพฝ่ายตนเป็นอย่างมาก จึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระกฤษณะที่กรุงทวารกา โดยปาณฑพส่งอรชุน ส่วนเการพมีทุรโยธน์ ซึ่งไปถึงกรุงทวารกาก่อนอรชุนเล็กน้อย เมื่อไปถึงปรากฏว่าพระกฤษณะบรรทมหลับอยู่ ทุรโยธน์จึงเข้าไปนั่งที่พระราชอาสน์ใกล้แท่นบรรทมตรงเหนือหัวพระกฤษณะ ส่วนอรชุนนั่งลงพื้นตรงใกล้ๆ เท้าของพระกฤษณะ เมื่อกฤษณะลืมตาขึ้นมาเห็นจึงเห็นอรชุนก่อน แต่ก็ต้องอึดอัดใจเมื่อในห้องไม่ได้มีแต่อรชุน ดันมีทรโยธน์อยู่ด้วย เมื่อทราบประสงค์ของการมาของทั้งสองคน และเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย องค์กฤษณะก็ให้เลือกเอาระหว่าง

1. ตัวพระกฤษณะเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่จับอาวุธ ไม่บัญชาการรบ กับ 2. กองทัพของพระองค์อันเกรียงไกรที่ชื่อ “นารายัน” หรือ “นารายณีเสนา” ในการเลือกนั้นอรชุนมีสิทธิ์ก่อนเพราะอายุน้อยกว่า รวมถึงกฤษณะลืมตามาเห็นอรชุนก่อน ผลก็ปรากฏว่าอรชุนเลือกพระกฤษณะที่ไม่จับอาวุธ ไม่บัญชาการรบ ส่วนทุรโยธน์ได้กองทัพนารายันอันเกรียงไกรไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อมหาสงครามเริ่มขึ้น พระกฤษณะทำหน้าที่สารถีบังคับรถม้าศึกให้แก่อรชุน แต่ทว่ายังไม่ทันไรอรชุนก็เกิดอาการหวั่นไหว วิตก จิตใจโลเลเรี่ยวแรงอ่อนล้า ไม่อยากทำการรบ เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นบุคคลที่มีความสำคัญกับเขาทั้งหมด เช่น ภีษมะผู้เป็นพระอัยยิกา โทรณาจารย์และกฤษปาจารย์ผู้เป็นอาจารย์ ฯลฯ ความอ่อนไหวของอรชุนเป็นปัญหาในสงคราม พระกฤษณะจึงแสดงบทเพลงแห่งพระเจ้า “ภควัทคีตา” [2] แก่อรชุน เพื่อให้ตั้งมั่นในหน้าที่ของนักรบเป็นบทปลุกเร้าให้อรชุนฮึกเหิมขึ้นสู้และกระหายในสงครามอีกครั้ง บทภควัทคีตานี้นักปรัชญาบางท่านมองว่าเป็นการยุยงให้คนใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งขัดกับหลักทางพระพุทธศาสนา

แต่อย่างไรสงครามก็เกิดขึ้นและดำเนินไปได้ 3 วัน ฝ่ายเการพนำทัพโดยท้าวภีษมะขุนศึกเฒ่าผู้ชำนาญพิชัยยุทธ์สามารถบดขยี้กองทัพของฝ่ายปาณฑพจนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ตรงกันข้ามที่ฝ่ายปาณฑพ โดยเฉพาะอรชุนนั้นกลับไม่ตั้งใจทำการศึกอย่างจริงจัง อ่อนแอไร้กำลัง และเหยาะแยะ ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของสารถีอันมีนามว่ากฤษณะเป็นอย่างยิ่ง

จนกระทั่งท้าวเธอทนไม่ไหว กระโดดลงจากรถศึกหวังจะไปสังหารขุนศึกเฒ่าภีษมะแทนอรชุนและเหล่าพี่น้องปาณฑพเสียเอง ด้วยความลืมตัวเพราะโมหะอันเกรี้ยวกราด ตอนนี้พระกฤษณะไม่ต่างกับราชสีห์ที่กำลังโกรธแค้น อรชุนเมื่อเห็นดังนั้นจึงวิ่งเข้าไปกอดขาพระกฤษณะไว้ เพื่อเตือนสติให้นึกถึงสัจจะที่ว่าจะไม่จับอาวุธทำสงครามเสียเอง พร้อมกันนั้นอรชุนปฏิญาณตนว่านับจากนี้จะรบอย่างสุดกำลัง พระกฤษณะจึงคลายโมหะ เดินกลับไปที่ม้าศึกสานต่อหน้าที่สารถีพร้อมเป่าสังข์ ทำการรบเต็มรูปแบบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สงครามกุรุเกษตรดำเนินมาได้ 9 วัน ทั้งสองฝ่ายสู้รบได้อย่างดุเดือด ฝ่ายปาณฑพไม่สามารถโค่นฝ่ายเการพลงได้ ด้วยฝ่ายเการพมีแม่ทัพอย่างภีษมะ ยอดขุนศึกเฒ่าผู้มีความชำนาญในการรบและประสบการณ์สูงส่ง แถมยังสร้างความเสียหายให้ฝ่ายปาณฑพอยู่เนืองๆ ฝ่ายปาณฑพรู้ดีว่าหากจะกำจัดฝ่ายเการพให้ได้โดยเร็ว ต้องกำจัดภีษมะให้ได้เสียก่อน แม้จะด้วยวิธีใดก็ตาม ปฏิบัติการเล่นไม่ซื่อเพื่อทำร้ายคนแก่จึงเกิดขึ้น

วันที่ 10 ของสงคราม พระกฤษณะออกอุบายให้ศิขัณฑินแห่งเมืองปัจจาละ ลูกท้าวทุรปัทผู้เป็นเพศที่ 3 มาอยู่ข้างหน้าอรชุน ด้วยรู้ดีว่าภีษมะยึดหลักกติกาสงครามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นนักรบวรรณะของกษัตริย์จะไม่ลักลอบทำการรบหลังพระอาทิตย์ตกดิน และที่สำคัญคือจะไม่รบกับผู้หญิงหรือเพศที่ 3 ฉะนั้นฝ่ายปาณฑพเมื่อจะสังหารภีษมะ ต้องเอาศิขัณฑินีออกบังหน้าอรชุน ได้ผลเมื่อภีษมะเห็นเข้าก็ลดอาวุธลงไม่ทำการรบ โอกาสทองจึงเปิดทางให้อรชุนแผลงศรดังห่าฝนใส่ร่างของภีษมะพรุนตั้งแต่หัวจรดเท้า จนร่วงตกจากรถม้าศึก แต่ร่างไม่ถึงพื้นเพราะคันลูกศรค้ำยันร่างของภีษมะไว้เสมือน “เตียงลูกศร” เป็นอันยุติบทบาทขุนศึกเฒ่าในครานั้น

พระกฤษณะเข้าแทรกแซงในสงครามเป็นระยะๆ คราวหนึ่งเมื่ออรชุนสู้กับท้าวชยัทรถ พระกฤษณะเกรงว่าอรชุนจะไม่สามารถสังหารท้าวชยัทรถได้ตามคำสาบานก่อนที่อาทิตย์จะตกดิน เพราะอรชุนสาบานว่าหากสังหารท้าวชยัทรถไม่ได้อรชุนจะปลิดชีพตนเอง ดังนั้นพระกฤษณะจึงใช้จักรสุทัศน์ไปบดบังแสงอาทิตย์ให้ดูมืดมิดเสมือนอาทิตย์ลับขอบฟ้า เมื่อเหล่านักรบเห็นท้องฟ้ามืดเร็วกว่าปกติ ต่างก็แหงนหน้ามองขึ้นด้วยความแปลกใจไม่เว้นแม้แต่ท้าวชยัทรถ พระกฤษณะเห็นว่านี่เป็นโอกาสเหมาะจึงบอกให้อรชุนสังหารท้าวชยัทรถเสีย อรชุนจึงบรรจงแผลงศรเสียบคอของท้าวชยัทรถขาดกระเด็นไป ทันใดนั้นท้องฟ้าก็สว่างออก เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงแก่ฝ่ายเการพจนขวัญเสียตามๆ กัน

ฝ่ายเการพเสียผู้นำสำคัญและไพร่พลไปอย่างต่อเนื่อง ต่อมาแม่ทัพที่ทำหน้าที่บัญชาการรบของฝ่ายเการพในครั้งนี้คือ โทรณาจารย์อาจารย์ผู้สอนการยิงธนูให้แก่อรชุน การสังหารโทรณาจารย์นั้นยากยิ่ง พระกฤษณะรู้ดีว่าอรชุนคงจะไม่กล้าทำการรบอย่างเต็มที่กับอาจารย์ซึ่งเคารพนับถือผู้นี้เป็นแน่แท้ พระกฤษณะรู้ว่าโทรณาจารย์รักลูกชายที่ชื่ออัศวถามาดั่งแก้วตาดวงใจ ดังนั้นจึงออกอุบายให้ฆ่าช้างชื่ออัศวถามา (ชื่อเดียวกับบุตรชายโทรณาจารย์) แล้วให้ป่าวประกาศทั่วสมรภูมิว่าอัศวถามาตายแล้ว เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงหูโทรณาจารย์ผู้ที่กำลังรบอยู่ก็เสียใจเป็นอย่างมาก คิดว่าบุตรชายตนเองได้พลาดท่าเสียชีวิตในสนามรบเสียแล้ว จึงไม่มีเรี่ยวแรงและจิตใจจะรบอีก จากนั้นพระกฤษณะจึงกำกับยุยงให้ธฤตทยุมน์สังหารโทรณาจารย์เสียในทันที

เหตุการณ์ต่อมาเป็นเล่ห์กลอันแยบยลและเลือดเย็นอย่างยิ่งของพระกฤษณะ ซึ่งเกิดในคราวที่อรชุนทำการศึกกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างกรรณะ [3] ด้วยกรรณะมีฝีมือการยุทธที่เป็นเลิศไม่แพ้อรชุน ทั้งยังมีหอกศักติที่สามารถปลิดชีพคนได้แค่ครั้งเดียวอีกด้วย เป็นการยากยิ่งที่จะสังหารกรรณะซึ่งๆ หน้าได้ แผนการอันเลือดเย็นดังกล่าวจึงเกิดขึ้น พระกฤษณะวางแผนให้ฆโฏตกัจ บุตรแห่งภีมะ (ซึ่งเป็นหลานของอรชุน) มาสู้กับกรรณะก่อน เพื่อบีบให้กรรณะใช้ศักติสังหารบุตรชายของภีมะแทนอรชุน กรรณะจึงหมดอาวุธวิเศษที่ใช้ได้ครั้งเดียวไป

แต่กรรณะก็หาเกรงไม่ ในระหว่างที่เขากำลังรบกับอรชุน ล้อรถรบของเขาติดหลุมโคลนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ เขาขอพักการต่อสู้ จากนั้นจึงลงไปพยายามที่จะยกล้อรถของเขาให้ขึ้นมา แต่ไม่สามารถขยับล้อรถได้ พระกฤษณะเห็นว่านี่เป็นโอกาสเหมาะในการสังหาร เขาจึงบอกให้อรชุนรีบลงมือสังหารเสียในตอนนี้เพราะหากสู้กันซึ่งๆ หน้าแล้วยากนักที่จะสังหารเขาได้ อรชุนจึงยกคันธนูขึ้นตามคำสั่ง และปล่อยศรเสียบคอของกรรณะยอดขุนศึกเการพสิ้นชีพไปอีกคน การสูญเสียกรรณะสร้างความหายนะและเสียใจแก่ทุรโยธน์เป็นอย่างยิ่ง

ช่วงปลายสงครามทุรโยธน์หนีสงครามไปแอบใต้กอบัวในสระน้ำไทวปายน จนกระทั่งพี่น้องฝ่ายปาณฑพตามหาจนเจอ จึงได้ขอท้าทุรโยธน์มาสู้ตัวต่อตัว ทุรโยธน์จึงขอสู้กับภีมะด้วยคทา มีพลรามและกฤษณะมาชมการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่หากมองกันจริงๆ แล้วทุรโยธน์นั้นเหนือกว่าภีมะมาก และกำลังจะพ่ายแพ้แก่ทุรโยธน์อยู่รอมร่อ พระกฤษณะจึงออกอุบายทำเป็นคุยกับอรชุน (คุยเสียงดัง) ถึงคราวที่ฝ่ายปาณฑพเล่นสกาแพ้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้ภีมะนึกถึงสิ่งที่ฝ่ายเการพทำกับฝ่ายปาณฑพ รวมถึงเทราปตี มเหสีของ 5 พี่น้องปาณฑพ พร้อมบอกว่าการที่จะต่อสู้แบบยุติธรรมไม่สามารถเอาชนะทุรโยธน์ได้

อรชุนหลังจากที่คุยกับพระกฤษณะแล้ว จึงทำท่าลูบหรือตีไปที่หน้าขาของตน ส่งสัญญาณให้ภีมะ ทั้งคู่รู้ทันทีว่าสื่อถึงอะไร ทันใดนั้นเอง ภีมะก็ใช้คทาฟาดไปที่หน้าขาของทุรโยธน์ (ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎ เพราะคทามีกฎว่าหามจู่โจมไปบริเวณที่ต่ำกว่าเอว)[4] จนกระดูกแตกละเอียดล้มฟุบลงกับพื้นไม่สามารถขยับได้อีก พระกฤษณะยิ้มมุมปากอย่างพอใจ ปิดฉากเจ้าชายแห่งราชวงศ์กุรุลงนับแต่นั้น

หลังสิ้นสุดสงครามด้วยชัยชนะของฝ่ายปาณฑพ พระกฤษณะสวมมงกุฎแก่ยุธิษฐีระตามที่สัญญาไว้ แต่ทว่าพระกฤษณะเองก็โดนนางคานธารีผู้เป็นมารดาของเจ้าชายเการพทั้ง 100 คน ต่อว่าในเรื่องยุยงให้เหล่าพี่น้องฆ่ากันจนเกิดสงคราม พร้อมกับสาปให้โคตรวงศ์ยาทพของพระกฤษณะฆ่ากันเอง รวมถึงให้กฤษณะมีจุดจบที่อนาถที่สุด พระกฤษณะไม่กล่าวสิ่งใดนอกจากยิ้มรับ ไม่มีใครรู้ว่าในใจคิดอะไรอยู่ แต่อีกไม่นานคำสาปของนางคานธารีก็สัมฤทธิผล โคตรวงศ์ยาทพหันมาฆ่าล้างกันเอง พระกฤษณะอนาถใจเป็นที่สุดจึงเดินเหม่อลอยเข้าไปในป่า กระทั่งถูกพรานป่ายิงลูกดอกปักข้อเท้าเสียชีวิต กรุงทวารกาก็จมดิ่งลงก้นมหาสมุทรนับแต่บัดนั้น

ถึงตรงนี้เราเห็นว่าพระกฤษณะมีความเฉียบแหลมฉลาด (แกมโกง) ในการการวางแผนเพื่อที่จะเอาชนะปานใด? ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับท้าวศกุนิผู้เป็นลุงของฝ่ายเการพเท่าใดนัก เพียงแต่ว่าท้าวศกุนินั้นอยู่ฝ่ายผู้แพ้และตายในสงคราม ส่วนพระกฤษณะอยู่ฝ่ายผู้ชนะ (แถมมีส่วนช่วยอย่างมากต่อชัยชนะ) นี่คือเรื่องราวของมหาบุรุษแห่งยุคในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่โสภานัก ทั้งนี้การที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาจะด้วยเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นองค์ท่านเพื่อความคึกคะนองก็หาไม่ เพียงแต่ต้องการเล่าเรื่องบางเรื่องให้เป็นแง่คิดแก่ผู้อ่านหรือแลกเปลี่ยนความรู้กันเท่านั้น ซึ่งก็อีกนั่นแหละในสังคมก็มีเลวมีดีปะปนกันไป แม้พระกฤษณะผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพอวตารองค์หนึ่งยังมีมุมที่ไม่น่าพิสมัย นับประสาอะไรกับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส

กล่าวได้ว่าตำนานหรือประวัติศาสตร์นั้นมักเป็นบทเรียนที่ดีให้เราได้เสมอ โดยเฉพาะบทเรียนจากการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ที่ถือเป็นเสน่ห์อันกลมกล่อมของมหากาพย์ที่ชื่อมหาภารตะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] ดูเพิ่มที่ ศานติ ภักดีคำ. (2556). พระนารายณ์ ผู้ปราบยุคเข็ญแห่งโลก. กรุงเทพฯ:อมรินทร์. และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2514). ลิลิตนารายณ์สิบปาง. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย

[2] ดูเพิ่มเติมได้ที่ กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพ : ศิวาลัย.

[3] เรื่องกรรณะนั้นควรจะกล่าวสักเล็กน้อยว่าเขาเป็นพี่ชายของเหล่าปาณฑพทั้ง 5 พระกฤษณะรู้ดีแต่ปิดเรื่องนี้ไว้ไม่บอกอรชุนด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ในสงครามกรรณะเอาชนะน้องเหล่าปาณฑพ เช่น ยุธิษฐีระ ภีมะ และนกูล แต่ไม่ได้สังหารเนื่องจากให้สัญญากับกุนตีไว้ กล่าวกันว่าหลังจากที่เอาชนะนกูลได้แล้วกรรณะปล่อยตัวนกูลไป เขามองตามหลังนกูลไปและแอบร้องไห้ออกมาโดยไม่ให้ใครเห็น แต่เรื่องนี้ไม่คลาดสายตาของพระกฤษณะ จนถึงขนาดแอบยิ้มออกมา ด้วยรู้ทันทีว่ากรรณะจะไม่สังหารพี่น้องปาณฑพให้ใครในกองทัพต้องเสียขวัญ

[4] หลังจากที่เล่นนอกกฎทำร้ายทุรโยธน์ได้แล้ว ภีมะได้ทำการหยามเกียรติโดยการเดินไปใช้เท้าเหยียบหัวของทุรโยธน์ พร้อมเยาะเย้ยต่างๆ นานา จนยุธิษฐีระต้องมาห้ามปราม เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแก่พลรามอย่างยิ่งจนหมายจะเข้าสังหารภีมะ แต่พระกฤษณะมาดึงพลรามไว้ เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างรอยมลทินแก่ภีมะจนถึงวันนี้

อ้างอิง :

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). ศึกมหาภารตะ. กรุงเทพฯ : สยาม.

กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพฯ : ศิวาลัย.

จรัส พยัคฆราชศักดิ์. (2521).อารยธรรมอินเดีย. มหาสารคาม:มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.

ปีเตอร์ บรุค เขียน จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา แปล. (2544). บทละครแปล = The Mahabharata : a play based upon the Indian classic epic. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

ยวาหระลาล เนห์รู เขียน กรุณา กุศลาสัย แปล. (2548. พบถิ่นอินดีย. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง.

พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. (2514). ลิลิตนารายณ์สิบปาง. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย

รบเถิด อรชุน! เว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ http://ray-wat.blogspot.com/2008/11/blog-post_11.html

วีระ ธีรภัทร. (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 1 ตอน กำเนิดพี่น้องเการพและปาณฑพ. กรุงเทพฯ : โรนิน.

__. (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 2 ตอน เหตุแห่งสงครามบนทุ่งกรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.

__ (2555) เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 3 ตอนสงครามบนทุ่กุรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.

__. เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 4 ตอนอวสานสงคราม ทุ่งกุรุเกษตร. กรุงเทพฯ : โรนิน.

ศานติ ภักดีคำ. (2556). พระนารายณ์ ผู้ปราบยุคเข็ญแห่งโลก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2560

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 12
  • N 🚥🚦🚥 C
    ด้านมืดของพระกฤษณะ สุดท้ายท่านก็ต้องประสบชะตากรรมมืด ๆ ตามคำสาบแช่งของพระนางคานธารี . ถึงแม้จะเป็นองค์อวตาร ก็ช่วยให้ท่านพ้นคำสาบแช่งไม่ได้เลย
    16 ก.ย 2563 เวลา 07.48 น.
  • Nina 🪿🍅🌈
    สรุปความได้ครบถ้วนดีมากๆค่ะ ต่อให้เหตุและผลของยุคอดีตนั้น ต้องดำรงความดีงามไว้ ก็ใช่ว่าใช้ความสัตย์ซื่อจะใช้ได้กับผู้ที่จิตหยาบกระด้าง หากนับด้วยแค่การกระทำจะต้องมีถูกผิดเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าจิตเจตนาที่พยายามปรับเปลี่ยนให้เกิดความผาสุข คงต้องดูว่าบทนี้ไม่ได้เพียงสอนเพียงตัวละคร ยังค่อยๆขัดเกลา ความเป็นไปได้ต่างๆของจิตคิดริษยาของมนุษย์...
    23 ก.พ. 2563 เวลา 13.24 น.
  • สยุมพล332
    ทำไมไม่พูดถึงฝ่ายเการพที่ละเมิดกฏสงครามก่อนครับ ก่อนหน้านั้นที่รุมฆ่าอภิมันยุลูกของอรชุน เรื่องนี้ก่อสรุปท้ายแล้วไงครับว่าไม่มีขาวไม่มีดำ ตัวละครแต่ละตัวเทาๆทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าคนที่ทำผิดก่อนตั้งแต่เด็กจนโต เป็นฝ่ายเการพนะครับ
    17 ก.ย 2563 เวลา 03.11 น.
  • บางครั้ง เกลือจิ้มเกลือ ก็สมควร
    16 ก.ย 2563 เวลา 07.01 น.
  • widhya
    ต้องโกงจึงจะชนะ ต้องทำทุกทางให้มีเปรียบเพื่ออยู่เหนือ ... สังคมน่าคิดนะ
    17 ก.ย 2563 เวลา 03.17 น.
ดูทั้งหมด