ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรยากาศการเมืองไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเร่าร้อน เพียงเรายกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอยู่ขึ้นมาสักสองสามประเด็น ก็มากพอให้คนสองคนมีปากมีเสียงกันได้แล้ว (ยุบสภาดีไหม? ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ไหม? ใครชอบพรรคพลังประชารัฐบ้าง?)
ไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกคับข้องใจ ไม่สบายใจ หรือโกรธเกรี้ยว เมื่อพบว่าครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองไปในทางเดียวกับเรา โดยเฉพาะ"ครอบครัว" สายใยแรกสุดของมนุษย์ทุกคน
อึดอัด แต่ทำอะไรไม่ได้
อาจเพราะแต่เล็กจนโต ครอบครัวคือแหล่งข้อมูลเดียวที่เรามี ทั้งในเรื่องการเมือง มุมมองศาสนา ไปจนถึงเรื่องครอบจักรวาลอื่น ๆ เด็ก ๆ มักจะพัฒนาความคิดและมุมมองต่อโลก โดยมีอิทธิพลทางความคิดของพ่อแม่คลุมอยู่อีกชั้นหนึ่งเสมอ
แต่เมื่อถึงวัยที่เด็กเหล่านี้เริ่มเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์แยกแยะด้วยตัวเอง มุมมองการเมืองของคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มไม่ลงรอยกับความคิดของคุณลูก
"เมื่อความคิดของตัวเองไม่ตรงกับของครอบครัว เด็กจะรู้สึกไม่มั่นคง และเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จนสุดท้ายนำไปสู่การมองบุคคลที่เขาเคยเคารพนับถือในมุมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" แบรนดี้ ลูอิส (Brandi Lewis) นักบำบัดจาก Reach Counseling Solutions ในนอร์ธแคโรไลนาให้ข้อมูลกับrewire.org
ซึ่งในที่สุดความรู้สึกสงสัยเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามถึง "ความสัมพันธ์" ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน
อย่าเมินใคร เพียงเพราะต่างวัยกัน
สำหรับฝั่งผู้ใหญ่ อย่ามองลูกหลานของคุณแค่ "อายุ" เพราะอายุไม่ได้ทำให้ความคิดใครผิด และการเคารพเสียงของเยาวชนคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ดีควรทำ
เด็กสมัยใหม่มีสื่อในมือ พวกเขารับและกลั่นกรองข่าวสารแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นแค่เพียงเขาอายุน้อย ไม่ได้แปลว่าเขาประสบการณ์น้อยด้วย
อดทนเข้าไว้ ให้ใจร่มเย็น
จำไว้ให้ขึ้นใจว่าการที่พ่อแม่เห็นต่างไม่ได้แปลว่าเขารักเราน้อยลง
พ่อแม่เรา ปู่ย่าตายายเรา กำลังอยู่ในช่วงชีวิตที่แตกต่างจากเรา ดังนั้นในขณะที่วัยรุ่นซีเรียสเรื่องการเรียนหรือกฎระเบียบในสังคม พวกเขาอาจกำลังกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ หรือความสงบของบ้านเมืองมากกว่า การใช้น้ำเย็นเข้าลูบและหมั่นควบคุมอาการหัวร้อนขณะเถียงเรื่องการเมืองเวลาคุยกับที่บ้านจึงเป็นวิธีรับมืออย่างแรกที่เราแนะนำ
เห็นต่าง แต่ต้องเห็นตรงกันบ้างแหละ!
หากเย็นไม่ไหวแล้ว (โว้ย) แต่ยังไม่สามารถหาจุดร่วมระหว่างกันได้ ให้ลอง "ฟัง" ให้มากกว่าพูด และลองคิดดี ๆ ว่าเราทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันเรื่องอะไรบ้าง
เช่น คนส่วนมากย่อมอยากมีสวัสดิการรัฐที่ดี มีประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ การเงินไม่ฝืดเคือง มีการศึกษาเข้าถึงคนทุกหย่อมหญ้า หรือเรื่องเล็ก ๆ อย่าง อยากให้แถวบ้านไม่มีโจร
เมื่อมีเป้าหมายเดียวกัน ความ "เห็นต่าง" จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั้งสองฝ่ายไปถึงเป้าหมายได้ง่าย ลองช่วยกันคิดว่าจากมุม "การเมือง" ของตัวเอง จะมีวิธีใดบ้างทำให้ไปถึงฝั่งฝัน จากนั้นลองนำมาเปรียบเทียบกันดูว่าวิธีของใครเวิร์ก ไม่เวิร์ก วิธีนี้อาจทำให้การเถียงกันกลายเป็นการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์แทน
พูดง่าย ๆ ว่าแทนที่จะก่นด่าหรือเหยียดหยามอีกขั้วความคิด ให้ลองหา "จุดร่วม" ที่กว้าง และง่ายที่สุดสำหรับทั้งฝั่งลูกหลานและผู้ใหญ่ เพราะเชื่อสิว่าไม่มีใครอยากทำลายสายสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวที่สุดของตัวเอง อย่าง "ครอบครัว" ลงหรอก
แล้วคุณล่ะ มีวิธีอย่างไรในการ "รักษาน้ำใจ" คนในครอบครัวเมื่อต้องคุยเรื่องการเมือง มาแชร์กันค่ะ :)
-
อ้างอิง
Toii การเห็นต่างบางคนก็สุดโต่ง ทำให้ครอบครัวแตกแยกฆ่ากันตายก็มีให้เห็น แต่ขอถาม ใครที่มาเป็นรบ. เอาเงินมาให้เรากินใช้ไหม ถ้าเราไม่ทำมาหากินด้วยตัวเอง เพราะทุก รบ.ก็กินกันทั้งนั้น กินมากกินน้อยก็ว่ากันไป
20 ส.ค. 2563 เวลา 01.19 น.
J ก็มองให้เป็นเรื่องนอกบ้านไป เรื่องไม่ดีไม่ควรเอาเข้าบ้าน
20 ส.ค. 2563 เวลา 01.20 น.
Archangel Que มีปัญหาก็คุยกัน จะครอบครัวจะเพื่อน ได้หมด
แต่ถ้าบ้าการเมืองจัดจนสมองไปหมดแล้วอย่าคุยเดี๋ยวโดนโบก
20 ส.ค. 2563 เวลา 01.25 น.
Wolffia Original™ มันต้องเปิดวิชากฏหมายและรัฐธรรมนูญ ให้ศึกษาแล้วสอบจะได้รู้เท่ากัน ไม่ใช้รู้แค่3-10ข้อ ตามทีเค้าบอก ขอดีของเด็กคือใจกล้า แต่ข้อเสียคือตามเพื่อน เห็นใครทำได้ก็ทำตาม เก่งยังไงก็ไม่เท่าอาจารย์ เพราะถ้าเก่งเกินอาจารย์ก็คงไม่ต้องเรียนหนังสือ
20 ส.ค. 2563 เวลา 01.38 น.
ไร้สาระคำว่าครอบครัวคือการต้องยอมรับซึ่งกันและกันถ้าทะเลาะกันแค่เรื่องความเห็นต่างก็บ้าแล้ว555
20 ส.ค. 2563 เวลา 02.00 น.
ดูทั้งหมด