1. เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่หลักเศรษฐกิจ แต่เป็นหลักการใช้ชีวิตที่ทำให้คนเป็นนักปราชญ์ พ่อไม่ต้องการให้คนในชาติมีวิถีชีวิตแบบหนูถีบจักร แต่ต้องการให้คนของท่าน เลื่อนระดับจิตวิญญาณของตนเองมาเป็นนักปราชญ์
ถ้ามองให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เริ่มต้นที่ภายนอก แต่เริ่มที่ภายใน ไม่ได้เริ่มที่ความรู้ในการประกอบวิชาชีพ แต่เริ่มที่ความรู้ว่าด้วยการดำรงชีวิตที่เป็นแก่นสาร เป็นหลักปรัชญาที่มุ่งให้มนุษย์ตั้งคำถามกับชีวิตว่าเราเกิดมาทำไม และควรมีชีวิตอยู่อย่างไร ตราบที่มองไม่เห็นความหมายที่แท้จริงของชีวิต เราจะไม่มีวันมองทะลุถึงแก่นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย
2. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสอนให้คนตามโลก ทำให้เรากลายเป็นหมาล่าเนื้อที่อดยากอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นระบบที่ทำให้มนุษย์มีอิสรภาพในตนเอง เป็นการผูกขาดอำนาจ และชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ บางทีอาจเลยไปถึงการผูกขาดความสุขทางกายภาพด้วย
เมื่อเราอยากมีอย่างเขา เราก็อยู่ในเกมของเขา ตกเป็นทาสเขา ถ้าทำตามระบบทุนนิยม จะมีคนเพียงไม่กี่คนที่กุมอำนาจของชาติไว้ ต่อเมื่อหันมาใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำนาจจะถูกกระจายออกเพราะทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นที่ มีสนาม มีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง สังเกตได้ว่า ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมของเราล้วนแต่มีสภาพเป็นราชสีห์ที่ไม่อาจส่งเสียงคำราม เรากลายเป็นสิงโตขนร่วงที่เป็นใบ้ ทุกคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ละเดือนต้องหาเงินใช้หนี้เป็นพัลวัน ไม่อาจใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการได้เลย
3. ต้นทุนที่แท้จริงของประเทศไทยคือสามสิ่งได้แก่ทรัพย์ยากร วัฒนธรรม และจิตใจที่เอื้ออารีของชาวไทย สามสิ่งนี้ล้วนถูกทำลายด้วยระบบทุนนิยม แต่ถ้าเราหันมาใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามสิ่งนี้จะงอกงามยิ่งกว่าเดิม ด้านหนึ่งทำลายจุดแข็งของเรา ทำให้เราออกจากเกมของตนเอง แล้วไปเล่นเกมของคนอื่นซึ่งเขามีความได้เปรียบกว่าหลายเท่า
ผลคือเรากลายเป็นคนง่อยที่สู้ใครไม่ได้ แก่นแท้เราเป็นปลาแต่เรากลับคว้ามีดปาดคอตัวเองด้วยการไปแข่งบินกับนก คำถามสำคัญที่สังคมไทยต้องตระหนักให้มากขึ้นคือ “ทำไมต้องแข่งขัน ! ” “ทำไมเราต้องลงไปเล่นในเกมของเขา ซึ่งเราไม่ถนัด ! ” เรากำลังถูกบีบให้แข่งขันโดยไม่จำเป็นอยู่รึเปล่า เป็นไปได้ไหม ที่เราจะมีพื้นที่เป็นของตนเอง
เหล่านี้คือสิ่งที่พ่อหลวงของเราพยายามผลักดันมาชั่วชีวิต ท่านพยายามให้เราหันกลับตั้งคำถามกับตนเองว่า “พวกเราคือใคร” “ฉันคือใคร” สังเกตว่า จุดเด่นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “แข่งยังไงให้ชนะ” แต่เป็น “ทำอย่างไรจึงไม่ต้องแข่ง ทำอย่างไรจึงไม่ต้องมีทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ ทำอย่างไรทุกคนจึงพออยู่พอกินไปพร้อมๆ กัน” ถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยจะหันกลับมา คิด วิเคราะห์ และทบทวนสิ่งเหล่านี้กันให้ดี
4. พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ในวิถีชีวิตของฆราวาสธรรมหากไม่ต้องการเดือดร้อนเรื่องเงิน อย่าใช้จ่ายเกินกว่าที่หาได้ คำสอนนี้เรียบง่ายและเป็นจริง คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงอย่างยิ่ง
ความจริงคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นวิถีชีวิตที่ถูกหลอมมาจากหลักธรรมะ เพราะการใช้ชีวิตคือการทำหน้าที่ เพราะการทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติทำคือการทำทุกสิ่งด้วยจิตว่าง เพราะการทำทุกสิ่งด้วยจิตว่างคือหนทางเดียวที่เราจะต่อสู่กับความอยากมี อยากได้ และอยากเป็น เมื่อเรามีความอยากน้อย เราจะแบ่งปันมาก เมื่อเราแบ่งปันมาก โลกก็จะพบกับสันติ สังเกตว่า ในหลวงทรงให้พึ่งพาตนเองก่อน กินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น ใช้อะไรก็ให้หัดทำสิ่งนั้น
นี่คือการสร้างพื้นฐานชีวิตให้มีความแข็งแรงก่อนเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อตนเองแข็งแรงแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เริ่มช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการแบ่งปัน ปลูกกินเอง เหลือจากกินก็เริ่มแจกจ่ายให้คนอื่นมีกินเหมือนเรา เมื่อคนรอบข้างมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี จึงเริ่มขายผลผลิตออกไป ขายได้เท่าไหร่ นั่นคือสิ่งที่นำมาเป็นทุนรอนเก็บไว้เป็นทุนชีวิต
เคล็ดลับทั้งหมดไม่ใช่แค่การลดรายจ่าย ย้ำว่าไม่ใช่แค่การลดรายจ่าย แต่เป็นการทำให้คนๆ หนึ่งเป็นผู้ไม่มีรายจ่าย เมื่อกลายเป็นคนไม่มีรายจ่ายแล้วชีวิตย่อมไม่ถูกครอบงำจากอำนาจต่างๆ เมื่อไม่ถูกครอบงำอิสรภาพย่อมเกิดขึ้น สามารถแบ่งปันคนรอบข้างได้อย่างแข็งแรง ต่อเนื่อง เป็นการให้สังคมก่อน แล้วจึงเอาประโยชน์จากสังคมในภายหลัง ไม่ใช่สูบเลือดสูบเนื้อจากสังคมจนสังคมผอมแห้งเหลือแต่กระดูก แล้วค่อยมาคิดหลอกตัวเองว่า “ไว้ตัวเองรวยเมื่อไหร่ค่อยตอบแทนสังคมก็ยังทัน!”
5. ระบบทุนนิยมส่งเสริมให้ทุกคนเข้าร่วมการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ทำให้รู้สึกว่า การไม่เข้าร่วมแข่งขันถือเป็นความผิดบาป ถือเป็นความล้าหลัง ถือว่าไม่พัฒนา ถือเป็นความล้มเหลวของชีวิต ดังนั้นเราจึงเห็นภาพคนตาลีตาเหลือก กระเสือกกระสนเพื่อลงสนามแข่งขันกันใหญ่ ทำให้รู้สึกว่าถ้าชีวิตจะสำเร็จก็ต้องลงสนามแข็งขัน
ความจริงก็คือ เมื่อคนเข้าร่วมแข่งกัน 100 คน จะเหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือคือผู้แพ้ทั้งหมด ของรางวัลใดๆ ทรัพยากรใดๆ ผลประโยชน์ใดๆ จะถูกผู้ชนะกินรวบทั้งกระดาน เมื่อทุกอย่างไปรวมกันอยู่ที่ผู้ชนะ เขาจะกลายเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้คุมนักโทษ เป็นคนออกกฎ และเกมแข่งขันครั้งต่อไป ผู้ที่เคยชนะจะใช้ต้นทุนที่สูงกว่า เข้าเป็นเครื่องมือในการยึดทุกอย่างทั้งหมด
ด้วยกลเกมเช่นนี้ จึงทำให้ทรัพยากรถูกจำกัดอยู่ในคนบางกลุ่ม ความสำเร็จถูกจำกัดอยู่ในบางกลุ่ม สังคมของเราจึงเต็มไปด้วยคนมีความทุกข์มากมายมหาศาล มีแต่คนเป็นหนี้ มีแต่คนหน้าชื่นอกตรม ส่วนคนเสพสุขคงเหลือแค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น การตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรชีวิตและครอบครัวของเราจึงพึ่งพาระบบทุนนิยมน้อยที่สุด” จึงเป็นคำถามที่เป็นจุดตั้งต้นสำคัญของการใช้ชีวิตในแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
6. สิ่งที่ทำลายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ไม่ใช่ระบบการศึกษาในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเหมือนที่คิดกัน แต่เป็นการประโคมข่าวในเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์แบบผิด ๆ จากสังคม และคนในครอบครัวของตนเอง
ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมของเรา ในบ้าน ในกลุ่มเพื่อน ในตรอกซอกซอย ในอินเตอร์เน็ต ในทุกการรับรู้ล้วน เต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นเร้าความโลภในใจคนให้ลุกโชน ความโลภกลายเป็นโรคร้ายระบาดไปทั่วหัวระแหง โลภอยากมีวัตถุมากกว่าเขา โลภอยากมีตำแหน่ง มีความสำคัญมากกว่าเขา โลภอยากมีชื่อเสียง ได้รับคำชื่นชมมากกว่าเขา โลภอยากมีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าเขา
เหล่านี้พระพุทธเจ้าเรียกว่า “โลกธรรม” หรืออีกนัยหนึ่งคือคุกที่จองจำสัตว์โลกให้หมกไหม้ในกองเพลิงแห่งความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดังนั้น ถ้าเราอยากมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวัฒนธรรมของชาติ ตัวเราเองก็ต้องลด ละ เลิกในพฤติกรรมที่ไปกระตุ้นให้คนตกเป็นทาสของโลกธรรมดังกล่าวด้วย
7. เมื่อพูดถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราจะไม่พูดถึงการแข่งขันเป็นเรื่องแรก เพราะเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ระบบที่สนับสนุนการแข่งขัน แต่เป็นระบบที่ต้องการดึงคนออกมาการแข่งขัน สองสิ่งนี้สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง สิ่งแรกที่เราต้องพูดถึงคือการพึ่งพาตนเอง เราต้องไม่พูดว่า เราอยากได้อะไร แต่เราต้องพูดว่า เราจะลดความอยากของเราได้อย่างไร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่มีวันเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในบ้านของเรา หรือในครอบครัวของเรา ตราบใดที่เรายังไม่ฉุกคิดกับตนเองว่า
“ทำอย่างไรเราจึงมองเห็นคุณค่าชีวิต และรู้จักคำว่า พอ”
8. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระบวนการส่งคืนตนเองให้ตนเอง คือรูปแบบชีวิตที่ทำให้คนกลับไปเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง เป็นดอกไม้ที่มีชีวิตชีวา เป็นผู้มีนิยามความสำเร็จในแบบของตนเอง มีรูปแบบการใช้ชีวิต การตื่น การกิน การนอน กรอบความคิด และการตัดสินใจภายใต้อิสรภาพของตนเอง
ส่วนระบบทุนนิยมนั้น ทำให้มนุษย์กลายเป็นสำเนาถ่ายเอกสาร ทุกคนจะมีชีวิตเหมือนกันหมด กินเหมือนกัน ตื่นนอนเวลาเดียวกัน ทำงานคล้าย ๆ กัน เชื่อมายาสมมุติเดียวกัน ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเปลี่ยนตนเองจากมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อให้มีความโหดเหี้ยมมากขึ้น เพื่อจะฉีกเนื้อผู้อื่นมาเป็นอาหาร แล้วส่งต่อตัวเองให้กลายเป็นอาหารของผู้มีอำนาจมากกว่า ที่สุดแล้วก็ชีวิตของเราจะกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง
9. ทุกวันนี้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถูกห่อหุ้มด้วยรูปลักษณ์ของเกษตรกรรม ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย สังคมไทยต้องตีโจทย์ให้แตกว่า แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ ทุกฐานะความเป็นอยู่ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกหน้าที่ และทุกศาสนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นรูปแบบชีวิตที่มุ่งเน้นให้มนุษย์เกิดความสันโดษ สันโดษในที่นี้ไม่ใช่การหลีกหนีสังคม แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้คนแต่ละคนกลับสู่ความเป็นตนเอง ไม่ตกเป็นทาสใคร กลับสู่ความเป็นราชสีห์ที่สามารถส่งเสียงคำราม เลือกชีวิตได้อย่างใจปรารถนา สร้างความมั่นคงภายใต้เงื่อนไขแห่งมิตรภาพ และการช่วยเหลือแบ่งปัน
10. พื้นฐานตั้งต้นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือความพอดี ความเพียร และความสุข เราต้องมีความศรัทธาอย่างแท้จริงว่า สามสิ่งนี้จะนำพาสิ่งดีงามทั้งหลายมาสู่ชีวิตเราได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่อาจเกิดขึ้นภายใต้จิตใจที่ขี้ขลาด และยอมจำนนต่อเสียงภายนอก ไม่อาจเกิดขึ้นกับผู้ตามกระแสอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่อาจเกิดขึ้นกับประเทศที่ฟังเสียงชาวโลกมากกว่าเสียงคนในชาติ ที่สุดแล้วการดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบที่เรายังยึดติดกับค่านิยมของความสำเร็จในรูปแบบเก่า ๆ
“พ่อของเราคือราชสีห์ผู้ส่งเสียงคำรามก้องโลก จะเดินตามราชสีห์ได้ เราเองก็ต้องเป็นราชสีห์เหมือนกัน”
เขียนด้วยรัก สำนึก และบูชา
Yongyuth ก็ถูกต้องแล้วที่คนรากหญ้าจะมีธรรมะเรื่องความพอเพียง หาไม่แล้ว ประเทศก็คงอยู่ไม่รอด ในหลวงสอน ให้มีคุณธรรม ในเรื่องความพอเพียงคนรากหญ้าก็เข้าใจเพราะคนรากหญ้ามีทุกข์เขาจึงมีธรรม เขาจึงเข้าใจหลักคำสอน ของพ่อหลวง มากกว่าพวกที่อยู่ บนกองเงินกองทองที่ไม่เคยทุกข์ ถึงไม่รู้จักธรรมะ เรื่องความพอเพียง เพราะฉะนั้น คนที่อยู่บนยอดยังไม่พอเพียงไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ข้างล่าง จะต้องไม่พอเพียง เหมือนกับพวกข้างบน ก็เห็นมีบางท่านเข้าใจผิดว่าข้างบนยังไม่พอเพียงแล้วข้างล่างจะให้พอเพียงได้อย่างไรท่านพูดผิดแล้ว
14 ธ.ค. 2562 เวลา 14.57 น.
Yongyuth คำว่า พอเพียง หรือเพียงพอ แสดงว่ามีพอ ไม่ถึงกับขาดแคลน เมื่อมีพอ ก็ไม่ลำบาก กายใจ เพราะเมื่อใจมันพอแล้ว ใจมันก็สงบ เมื่อใจสงบ มันก็เป็นสุขอยู่ในความพอดี มันก็เป็นบุญกุศลเพราะจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะมีความสุข ปิติปราโมทย์ เป็นอาหารใจ อันนี้ก็ต้องอาศัยหลัก ให้อาหารกาย เมื่อมันหิว ก็มีกิน กินอิ่มมันก็เป็นสุขมันก็หยุดพอทางกายหยุดแสวงหาอาหารเพราะมันอิ่มพอ ส่วนคนที่ตะกละ ยังกะชูชก กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม กินได้จนพุงแตก ต่าย ก็เพราะตัณหามันมาก มันเป็นเรื่องของใจที่ไม่เคยพอก็คือ ความอยาก หรือตัณหา นี่แหละ
13 ธ.ค. 2562 เวลา 00.47 น.
Monrissa_Bum เขียนดีมาก
12 ธ.ค. 2562 เวลา 22.35 น.
น้อท31มีนาคม2521 แต่ที่ยังไม่เข้าใจคือคนรวยดันมาสอนให้คนจนพอถ้ายังไม่พอก็อดทน คือเอางี้ดีกว่าสำหรับปรเทศไทยนะมือใครยาวสาวได้สาวเอา จบนะ
12 ธ.ค. 2562 เวลา 22.11 น.
ข้อคิดพอได้..ตัวหนังสือต้องปรับปรุง!...คนเรามันต้องดิ้นรนแก่งแย่งแข่งขันตั้งแต่เป็นอสุจิ..เพือชีวิตที่ดีกว่า งั้นคงไม่ต้องเรียนสูงๆเพื่องานเพื่อเงินเดือนที้สูงๆ ทำไมต้องทำทุกวิธีทางส่งลูกเข้าโรงเรียนสาธิตตั้งแต่อนุบาล ทำไมต้องแข่งกันสอบเข้าจุฬาฯธรรมศาสตร์ฯรร.นายร้อยฯถ้าจบมาแล้วก็ไม่ต้องสอบเข้ารับราชการหรือบริษัทห้างร้านชั้นนำ กลับบ้านไปปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เลี้ยงหมู2ตัวข้างบนข้างล่างเลี้ยงปลานิลเลี้ยงไก่ไว้กินไข่หายใจทิ้งไปวันๆ หาความสุขด้วยการพายเรืออีโปงเก็บดอกโสน..ฯลฯให้ทำแบบนี้ใช่มั้ย!
12 ธ.ค. 2562 เวลา 22.00 น.
ดูทั้งหมด