ทั่วไป

สุวรรณภูมิในอาเซียน : 'มโหระทึก' คือกลองกบขอฝน แหล่งผลิตในไทย จ.มุกดาหาร 2,500 ปีมาแล้ว

MATICHON ONLINE
อัพเดต 22 พ.ค. 2563 เวลา 05.31 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2563 เวลา 11.47 น.
(ซ้าย) กบ 4 ตัว ประติมากรรมสำริดติด 4 มุม หน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร [รูปกลองมโหระทึกจากวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

กลองมโหระทึก แต่เดิมเรียก “กลองกบ” เป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ของคนทั้งชุมชนใช้ตีขอฝนในพิธีกรรมทำขวัญเซ่นสังเวยผีฟ้าพญาแถนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

ฝนตกเมื่อกบร้อง คนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วยกย่องนับถือกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้บันดาลให้ฝนตก จึงทำรูปกบอย่างน้อย 4 ตัว เป็นสัญลักษณ์ประดับหน้ากลองมโหระทึกทั้ง 4 มุม เมื่อฝนแล้งแล้วตีกลองมโหระทึกเสียงกลองดังถึงกบก็บันดาลฝนตกลงมาให้คนทำนา ทั้งนี้เพราะสังเกตเห็นกบร้องและปรากฏตัวทุกครั้งเมื่อมีฝนตกน้ำนอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คันคาก (คางคก) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มเดียวกันกบ ได้รับยกย่องนับถือเหมือนกบ คนสมัยก่อนจึงผูกนิทานเรื่องพญาคันคาก หรือคางคกยกรบชนะแถน แล้ว บงการให้แถนเมื่อถึงฤดูฝนปล่อยน้ำจากฟ้าลงมาตามต้องการของชาวบ้านใช้ทำนาโดยชาวบ้านจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณการปล่อยน้ำ ครั้นได้น้ำพอเพียงการทำนาแล้วจะแกว่งโหวดส่งเสียงบอกแถนหยุดส่งน้ำ

‘นำเข้า’ จากจีน, เวียดนาม

ข้อมูลและความรู้จากนักค้นคว้าชาวยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้ว หล่อหลอมนักวิชาการไทยโดยเฉพาะนักโบราณคดี มีความเชื่อสั่งสมสืบต่อกันมาว่ากลองมโหระทึกในไทยถูก “นำเข้า” จากจีนและเวียดนาม ราว 2,500 ปีมาแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้เพราะในไทยไม่พบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกและเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าพอจะผลิตได้

‘ผลิตเอง’ ที่มุกดาหารและสองฝั่งโขง

ล่าสุดพบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่ากลองมโหระทึกจำนวนหนึ่งถูกผลิตขึ้นในอีสาน คือ มุกดาหาร และสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) ดังนั้นเท่ากับยืนยันว่ากลองมโหระทึกในไทยมีที่มาอย่างน้อย 2 ทาง คือ ทั้งนำเข้าและผลิตเองที่ จ. มุกดาหาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พ.ศ. 2552 นักโบราณคดีกรมศิลปากร สำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี พบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกอยู่โนนหนองหอ บ้านนาอุดม ต. นาอุดม อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร

สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญวิชาก่อนประวัติศาสตร์ (อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) บอกว่า

“นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ศึกษาแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ พบทั้งก้อนทองแดง, เบ้าหลอมสำริด, ชิ้นงานสำริด, และชิ้นส่วนแม่พิมพ์สำหรับหล่อกลองมโหระทึกด้วยวิธีหล่อแบบขับขี้ผึ้ง”

“วัตถุดิบหลักคือทองแดง มีแหล่งเหมืองทองแดงอยู่ที่เมืองวิละบุรี ใกล้เมืองเซโปน แขวงสะหวันเขต ในลาว”

 

 

พบใหม่กลองมโหระทึก

จ.มุกดาหาร มีผู้พบกลองมโหระทึกใบล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่บ้านโพน (ต.บ้านเหล่า อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร) อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว (ราว พ.ศ.500) น่าจะผลิตขึ้นเองในเขตมุกดาหารหรือใกล้เคียง

เอนก สีหามาตย์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) บอกว่านักโบราณคดีที่ไปสำรวจตรวจสอบพบว่ากลองมโหระทึกใบนี้ถูกทิ้งไว้เพราะชำรุดก่อนนำมาทิ้ง แล้วมีรายงานไว้ดังนี้

กลองมโหระทึกที่พบนี้สันนิษฐานว่าเป็นกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ 1 (Heger I)หรือแบบเหลิงสุ่ยชง (Leng Shui Chong) ใช้วิธีการหล่อแบบใช้โลหะแทนที่ด้วยขี้ผึ้ง มีอายุประมาณ 2,000-1,900 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมสำริดในจีนตอนใต้ และวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนาม และมีรูปลวดลายคล้ายกับกลองมโหระทึกที่พบในเวียดนาม กลองมโหระทึกใบนี้ไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดความชำรุดก่อนนำมาทิ้ง

กลองมโหระทึกพบใหม่ใบนี้ที่บ้านโพน ต.บ้านเหล่า อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร หน้ากลองขนาด 95 เซนติเมตร ถือว่าใหญ่สุดในไทย เพราะใหญ่กว่ากลองมโหระทึกดอนตาล หน้ากลองขนาด 86 เซนติเมตร [ปัจจุบันอยู่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ต.ดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

กลองกบแขวนตี

กลองกบ หรือกลองมโหระทึกดั้งเดิมมีหูระวิงติดอยู่ข้างตัวกลอง 2 ด้าน สำหรับผูกร้อยเชือกใช้แขวนตี (ไม่ตั้งตีเหมือนกลองฝรั่ง)

มีภาพเขียนบนผนังถ้ำ (พบที่ จ. กาญจนบุรี) เป็นพยาน นอกจากนั้นกลุ่มชาวจ้วงในมณฑลกวางสียังสืบเนื่องประเพณีแขวนตีกลองทอง (มโหระทึก) จนทุกวันนี้

มโหระทึก

“มโหระทึก” ชื่อนี้ต้องทำความเข้าใจ 2 เรื่อง ดังนี้

1. “มโหระทึก” เป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งโดยไม่ระบุว่าอะไร? มีรูปร่างหน้าตาขนาดแบบไหน? พบชื่อนี้เก่าสุดในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น ราวเรือน พ.ศ. 2000

2. “มโหระทึก” ต่อมาราวเรือน พ.ศ. 2400 ถูกใช้เรียกแล้วถูกทำให้หมายถึงกลอง สำริด หรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ส่วนกลุ่มอุษาคเนย์และจีนที่มีกลองแบบเดียวกันไม่เรียก “มโหระทึก” แต่เรียกกลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ด้วยชื่อต่างๆ ดังนี้

“กลองสำริด” ที่เรียกอย่างนี้เพราะทำจากโลหะผสมของทองแดงกับดีบุกหรือตะกั่ว แล้วเรียกทองสำริด แต่เรียกสั้นๆ ว่าสำริด

“กลองกบ” ที่เรียกชื่อนี้เพราะบางใบมีรูปกบติดอยู่หน้ากลอง เชื่อว่าตีแล้วฝนตกเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

ชาวจ้วง (มณฑลกวางสี มีกลองแบบนี้จำนวนมากที่สุดหลายพันใบ) เรียก “ถงกู่” หมายถึง กลองทองสำริดหรือทองแดง

เวียดนาม เรียก “กลองทอง” ส่วนลาว เรียก “ฆ้องบั้ง” เพราะทำจากโลหะ ต้องเรียกฆ้อง

จีนฮั่นเรียก “หนานถงกู่” แปลว่ากลองทองแดงของพวกคนป่าคนดงทางใต้หมายความว่าไม่ใช่กลองของจีนฮั่น แต่เป็นวัฒนธรรมของพวกที่ไม่ใช่ฮั่น ซึ่งเป็นคนป่าคนดงอยู่ทางใต้ (ของฮั่น) คือพวกอุษาคเนย์ ซึ่งมีเหตุจากจีนฮั่นไม่ผลิตกลองชนิดนี้ หรือกลองชนิดนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น

มโหระทึกวัดบวรฯ ตั้งตีแบบกลองฝรั่ง

กลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถูกเรียกว่า “มโหระทึก” แล้วใช้ตั้งตีเหมือนกลองทิมปานีของตะวันตก พบหลักฐานเก่าสุดสมัย ร.4 พระราชทานไว้ที่วัดบวรนิเวศ มีในคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ดังนี้

“ที่วัดบวรนิเวศวิหารมีประเพณีกระทั่งมโหระทึกและบันลือสังข์ ประโคมในขณะพระภิกษุสงฆ์ลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ในพระอุโบสถทั้งเช้าเย็น…………..”

 

“มหรทึกมีอยู่ใบเดียว ไม่ใช่คู่อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้เลกวัดเป็นผู้มีหน้าที่ประโคม เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแต่พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ……………”

[จากหนังสือ เครื่องดนตรีไทย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500หน้า 55-56]

มโหระทึก กลองอินเดีย

“มโหระทึก” ชื่อที่พบในกฎมณเฑียรบาล (สมัยอยุธยาตอนต้น) เป็นกลองขึงหนังจากอินเดีย

ส่วน “มโหระทึก” ที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักวิชาการไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มโบราณคดี มีความหมายเพิ่งสร้างใหม่ว่ากลองสำริดหรือกลองกบ (สมัยก่อน ประวัติศาสตร์)

มโหระทึกในกฎมณเฑียรบาลเป็นกลองอินเดียแบบหนึ่ง ถูกนำเข้าสู่ราชสำนักก่อนสมัยอยุธยาจากทมิฬอินเดียใต้ เพื่อประโคมในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังจากนั้นผสมกับเครื่องประโคมพื้นเมืองอุษาคเนย์ เช่น ฆ้อง ฯลฯ แล้วถูกยกเป็นเครื่องประโคมในราชสำนักรัฐโบราณก่อนสมัยอยุธยา กระทั่งสืบเนื่องถึงราชสำนักอยุธยา

ภาษาทมิฬเรียกกลองแบบนี้ว่า “อึฎึกกิ” (Udukki หรือบางเมืองเรียก Idakka) เป็นกลองสองหน้า ขึงหนังรอบตัว มีเอวคอด บรรเลงโดยใช้ไม้ตีหรือใช้มือตีก็ได้ [ข้อมูลเหล่านี้ได้จากไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรม หลายปีก่อน พ.ศ. 2540 (จำไม่ได้ปีไหน? ต่อมาเขียนอธิบายเพิ่มอีกครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. 2540]

พิธีพราหมณ์ในอินเดียต้องบรรเลงประโคมนำโดยพราหมณ์เป่าสังข์ แล้วตามด้วยพราหมณ์ตีกลองหลายใบพร้อมกัน (เรียก “ปัญจวาทยะ” แต่บางแห่งเรียก “ปัญจตุริยะ”) ในบรรดากลองเหล่านั้นมี “อึฎึกกิ” อยู่ด้วย เมื่อตีด้วยไม้จะมีเสียงดังมากกว่ากลองใบอื่น

ครั้นอยู่ในราชสำนักอยุธยานานไป (ชวนให้เดาว่า) ก็หล่อหลอมคำทมิฬ “อึฎึกกิ” กลายคำเป็น “อึกทึก” แล้วมีความหมายเพิ่มขึ้นในภาษาไทยว่ากึกก้องอื้ออึงโครมคราม ครั้นนานไปเพื่อยกย่องความสำคัญยิ่งใหญ่ของเสียงจึงเพิ่ม “มหา” เข้าไปให้อลังการเรียก “มหาอึกทึก” แล้วแผลงคำเป็น “มโหระทึก” (ตามแนวทางคำที่มีอยู่ก่อนคือ มโหรสพ หรือ มหรสพ)

ขุนดนตรี

“ขุนดนตรี ตีหรทึก” ข้อความในกฎมณเฑียรบาลหมายถึงเชื้อสายพราหมณ์ ราชทินนาม “ขุนดนตรี” เป็นผู้มีหน้าที่ใช้ไม้ตีมโหระทึก เป็นหลักฐานสำคัญมากยืนยันว่ามโหระทึกเป็นกลอง “อึฎึกกิ” ของอินเดียใต้ เพราะคำว่า “ดนตรี” เกี่ยวข้องกับตระกูลพราหมณ์อยุธยาที่สืบสายจากพราหมณ์ทมิฬอินดียใต้

พราหมณ์ราชสำนักอยุธยาเจตนาให้พราหมณ์ตีมโหระทึกซึ่งเป็นกลอง “อึฎึกกิ” มีราชทินนาม “ขุนดนตรี” สืบเนื่องจากประเพณีพราหมณ์ทมิฬอินเดียใต้ในระบอบตันตระที่ยกย่องดนตรี

[คำอธิบายละเอียดอยู่ในบทความเรื่อง “ความลี้ลับของเกระละ ภาคที่ 2” ของ ไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 18 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2540) หน้า 52-55 และมีรวมอยู่ในหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง (หรือยัง) สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2551 หน้า 41-42]

ดูข่าวต้นฉบับ