เมื่อวันที่ 8 พ.ค. รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "แชร์ผิดๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 มาใหม่อีกแล้วครับ ซึ่งเต็มไปด้วยประโยคผิดๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ"
1. "หมอจีนสรุปผล ทุกคนที่ติดเชื้อโควิด19 แล้วหายนั้น ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปรกติได้อีกเลย"
… ไม่จริงครับ คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสตัวนี้ พบว่าไม่ได้แสดงอาการอะไรรุนแรง มากมายไปกว่าเป็นไข้ตัวร้อนปวดเนื้อปวดตัว ฯลฯ และหายเป็นปรกติ สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติได้ในที่สุด (ที่กลัวๆ กันจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือต้องกักตัวที่บ้าน คือกลัวว่าเขาจะเอาเชื้อไปติดคนอื่นต่างหาก)
2. "เชื้อโควิด19 ประกอบไปด้วยเชื้อของโรคซาร์ส และเชื้อเอดส์"
… ไม่จริงครับ เชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสคนละพวกเชื้อเอชไอวี ที่ก่อโรคเอดส์เลย ขณะที่แม้ว่าจะเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับที่ก่อโรคซาร์ส แต่ก็เป็นเชื้อโคโรน่าไวรัสคนละสายพันธุ์กัน ลักษณะความสามารถในการแพร่กระจายและทำอันตรายต่อผู้ป่วยนั้นมีแตกต่างกัน
3. "โควิด19 จึงเป็นโรคที่หายขาดได้ยาก (ต้องกินยาตลอดชีวิตและทำวัคซีนได้ยาก) เพราะเชื้อส่วนที่เป็นเอดส์ยังฝังตัวอยู่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอเมื่อเครียด หนาว ร้อน เพราะภูมิคุ้มกันบกพร่อง"
… ตามที่บอกแล้วว่า โรคโควิด-19 นี้ ไม่ได้เกิดจากเชื้อเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ จึงไม่ได้จะมีเชื้อโรคเอดส์ฝังตัวอยู่แต่อย่างไร และผู้ที่ป่วยจากโรคโควิด-19 นั้น ก็ไม่ได้จะต้องกินยาไปตลอดชีวิตหลังจากที่หายป่วยแล้ว หรือจะมีอาการกลับมาเป็นใหม่เมื่อร่างกายอ่อนแอ สำหรับวัคซีนนั้น ก็มีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบไปมากกว่า 50 วัคซีนแคนดิเดตแล้ว และน่าจะพัฒนาให้ใช้ได้จริงในปีหน้า
4. "คุณต้องใช้ชีวิตที่เหลือ ด้วยการป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ถ้าดูแลไม่ได้ก็จะทรมาน และยังแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว"
… ตามที่ตอบในข้อแรกแล้ว คือ หลักปฏิบัติทั่วไปในตอนนี้ ถ้าใครที่หายจากการที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แล้ว จะไม่ถือว่าเป็นพาหะที่แพร่เชื้อได้อีก สามารถจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างคนปรกติ .. ถ้าเชื่อตามข้อความที่กล่าวกันมานั้น ก็จะเกิดความหวาดกลัวผิดๆ ต่อผู้ที่เคยติดเชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม
"สรุปคือ แม้ว่าข้อความที่แชร์กันนั้น จะมีข้อดีที่ช่วยเตือนให้เราระวังตัวต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่การที่ใช้เหตุผลแบบผิดๆ นั้น จะทำให้คนหวาดกลัวตื่นตระหนกโดยใช้เหตุครับ"…
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Jessada Denduangboripant