ไอที ธุรกิจ

กระทรวงเกษตรฯ เคาะปิดบัญชี 'เยียวยาเกษตรกร' กว่า 8 ล้านคน

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 12.35 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 08.52 น.

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการปิดโครงการรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จากที่มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รวมกว่า 8 ล้านคน แต่การตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับกระทรวงการคลังและระบบประกันสังคม พบว่า เหลือเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาครั้งนี้เพียงกว่า 6 ล้านคน เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าว กระทรวงเกษตรมีความกังวลว่าจะมีเกษตรกรรายใดตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือบ้าง จึงให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบรายชื่ออย่างรอบคอบ ซึ่งเบื้องต้นยอมรับว่ามีเกษตรกรบางส่วนที่ออกไปประกอบอาชีพอิสระ ที่มีรายได้สูงกว่า ดังนั้นจึงอาจได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปอย่างทั่วถึง อยากให้เกษตรกรที่คงเหลืออยู่ไปยื่นอุทธรณ์กับหน่วยงานเจ้าของทะเบียน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับเกษตรกรที่เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะให้สิทธิ์การเยียวยาอย่างไร และพิจารณาจากสิทธิ์ที่ยังคงค้างอยู่หรือไม่ เนื่องจากทะเบียนเกษตรกรที่ใช้อยู่ในขณะนี้ได้อัพเดท ในปี 62 อาจจะมีเกษตรกรที่เสียชีวิตระหว่างนี้อยู่บ้างจึงต้องพิสูจน์กัน

อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยาดังกล่าวต้องการช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือยังดำรงชีวิตอยู่ ไม่ได้ต้องการช่วยคนตาย ส่วนทายาทที่หลงเหลืออยู่ก็มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

รายงานข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีหนังสือถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอให้ชะลอการโอนเงินให้แก่ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 91,426 ราย ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีการโอนเงินให้แก่ข้าราชการที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าว ล่าสุดเมื่อ 28 พ.ค. 2563 ธ.ก.ส. สรุปยอดโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร เข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 15 – 28 พ.ค. 2563 รวม 11 วัน จำนวน 6,211,592 ราย วงเงินจำนวน 31,057.96 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พ.ค. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร จำนวน 490,818 ราย จำนวนเงิน 2,454.09 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับการรับเรื่องอุทธรณ์เยียวยาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 28 พ.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 31,391 รายจำนวน 31,685 เรื่อง จำแนกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่

1. กรมส่งเสริมการเกษตร 28,890 เรื่อง

2. กรมปศุสัตว์ 1,956 เรื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. กรมประมง 289 เรื่อง

4. การยางแห่งประเทศไทย 501 เรื่อง

5. สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย 39 เรื่อง

6. กรมหม่อนไหม 7 เรื่อง และ

7. กรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 3 เรื่อง

ทั้งนี้ หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 1,540 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานรับผิดชอบ 28,709 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,436 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกษตรกรไม่มีชื่อ หรือถูกตัดสิทธิ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ด้วยตนเองที่หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการรับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาจากเกษตรกร และสามารถตรวจสอบสถานะอุทธรณ์ได้ทางเว็บไซต์ www.moac.go.th ซึ่งในการอุทธรณ์เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคจะทำการตรวจสอบข้อมูลการอุทธรณ์และส่งให้กับหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบซึ่งใช้ระยะเวลา 3 วัน และจึงส่งให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาต่อไป

ดูข่าวต้นฉบับ