ชั้นบรรยากาศโอโซน ประกอบด้วยบรรยากาศอันเบาบางซึ่งห่อหุ้มและปกป้องโลกจากรังสีที่เป็นอันตรายที่ส่งผ่านมาจากดวงอาทิตย์ และชั้นบรรยากาศโอโซนนั้นเอง ที่เป็นผู้พิทักษ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก
แต่จากผลกระทบที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โอโซนมีปริมาณที่ลดลงจนอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตที่ยังคงอยู่อาศัยบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ หลายหน่วยงานใช้ความพยายามในการรณรงค์ให้มนุษย์มีส่วนรับผิดชอบต่อการดูแลชั้นบรรยากาศของโลกที่แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เรื่องราวของสภาวะโลกร้อนที่เริ่มส่งผลจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทีละน้อย กับเหตุเภทภัยทางธรรมชาติ เริ่มขยับเข้ามาเป็นเรื่องใกล้ตัว และสร้างความสูญเสียอย่างหนักในหลายพื้นที่ ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นเตือนให้มนุษย์ปรับวิถีชีวิตให้มีความเป็นมิตรกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก่อนจะสายเกินไป
ปี 2018 เป็นวาระครบรอบ 30 ปีของพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer ซึ่งคือสนธิสัญญาสากลที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุม, ยับยั้ง, และรณรงค์ให้ลดการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อรักษาชั้นบรรยากาศโอโซนที่เริ่มจะสูญสลายไปเนื่องจากสารเหล่านี้
โดยพิธีสารได้เปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามเป็นประเทศภาคีสมาชิกในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2530 (1987) และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 (1989) เป็นต้นมา ทำให้ทุกปี วันที่ 16 กันยายน เป็นวันอนุรักษ์ชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก ปัจจุบัน 191 ประเทศได้ร่วมกันลงนามเพื่อประกาศความพร้อมเพรียงในการร่วมพิทักษ์โอโซน ในขณะที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน 2531 และกฎปฏิบัติต่างๆ เริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2532 เป็นต้นมา
การประกาศเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของไทย ทำให้ภาครัฐควบคุมแนวทางการใช้สารเคมี ได้แก่ CFC จำนวน 5 ชนิด และ Halon จำนวน 3 ชนิดในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือสารที่อยู่ในกระป๋องสเปรย์
ปัจจุบันการใช้สาร CFCยังคงมีหลงเหลือในอุตสาหกรรมบางชนิด แต่ภาครัฐได้เข้ามาให้การสนับสนุน โครงการเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศในอาคารใหญ่ๆ กว่า 700 แห่ง โครงการเปลี่ยนระบบทำความเย็นของอาคารเพื่อลดการทําลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ (Building Chiller Replacement Project) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องทําความเย็น ลดการใช้ระบบทําความเย็นที่มีส่วนทําลายโอโซนในชั้นบรรยากาศตามเป้าหมายของพิธีสารมอนทรีออล
WWF- ประเทศไทยชวนคุณมาช่วยกันต่อลมหายใจให้กับชั้นบรรยากาศของโลก ด้วยการตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบแอร์ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิเสธการซื้อเครื่องปรับอากาศที่ไม่มีมาตรฐาน และบอกลาอุปกรณ์กระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟม ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย - มาช่วยกันนะคะ