การบวช เป็นการปฏิบัติด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชน เป็นการเดินออกจากความสุขในทางโลก ออกจากทุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ความรัก ลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง เพราะฉะนั้นคนที่จะบวชได้จึงต้องเป็นคนที่ตัดสินใจที่จะละทิ้งจากความสุขทั้งปวง
“ทำไมผู้ชายต้องบวช” และ “ทำไมต้องบวชตอนอายุ 20”
ตามประเพณีปฏิบัติในการบวชเป็นพระ ผู้ชายจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจความจริงของชีวิต เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนแห่งความจริงในโลก ที่สอนให้มนุษย์รู้สาเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ช่วยให้มนุษย์มีสติสัมปชัญญะที่จะนำไปสู่ในทางที่ดีที่ชอบ การบวชจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะต่อผู้ที่จะเป็นหลักของครอบครัว แถมยังได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนนำข้อปฏิบัติที่ได้จากการบวชพระมาใช้ในการดำรงชีวิตสืบต่อไปได้อย่างมีความสุข
เหตุที่ต้องบวชตอนอายุ 20 ปีขึ้นไปก็เพราะเป็นกฎตั้งแต่สมัยพุทธกาล เนื่องจากในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงผนวช เพื่อบำเพ็ญธรรมจนตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นพระนางยโสธราทรงให้พระราหุล (โอรส) ทูลขอราชสมบัติจากพระองค์ ซึ่งตอนนั้นพระราหุลมีพระชนมายุเพียง 7 ปี ทำให้พระพุทธองค์ทรงมองเห็นว่าทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งนอกกายที่ไม่ยั่งยืน จึงทรงให้พระสารีบุตรบรรพชาพระราหุลเป็นสามเณรที่ถือได้ว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นปู่ทราบข่าว จึงขอร้องต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ขออย่าได้ให้ทรงบวชใคร หากพ่อแม่หรือบุพการีผู้นั้นไม่ได้อนุญาต" หากอายุยังไม่ครบ 20 ปี ทำให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์เรื่อยมา หากว่าใครต้องการบวชจะต้องมีอายุครบ 20 ปีก่อนจึงจะบวชได้ และพระสงฆ์ผู้เป็นพระอุปชาจะไม่มีสิทธิ์บวชให้ใคร หากคนที่จะบวชอายุไม่ถึง 20 ปี
เตรียมตัวเพื่อบวช
ไม่ว่าสมัยนี้หรือสมัยไหน ขั้นตอนและอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการบวชนั้นเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่การกำหนดฤกษ์ยาม ลาผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือ ปลงผม แต่งกายนาค ทำขวัญนาค นำนาคเข้าโบสถ์ บรรพชาอุปสมบท และกรวดน้ำ ซึ่งก่อนจะถึงวันบวชผู้ที่จะบวชจำเป็นต้องไปหาผู้เป็นอุปัชฌาย์หรือพระเถระผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการบวช
หน้าที่ของผู้ที่จะบวชคือ ก่อนการบวชจำเป็นต้องหัดให้คุ้นเคยกับระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ไว้ และท่องคำบาลีต่าง ๆ ให้คล่อง โดยเฉพาะคำบรรพชาอุปสมบทถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรท่องจำให้ขึ้นใจเสียก่อนจะบวช
นอกจากนี้ ยังต้องท่องวิธีทำพินทุ อธิษฐาน และวิธีวิกัปจีวร คำกรวดน้ำ วิธีแสดงอาบัติ คำอนุโมทนา คือบทยถาสัพพี คำพิจารณาปัจจัยสี่ และคำสวดทำวัตรเช้า-เย็นด้วย
บวชให้พ่อ-แม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์
คำว่า"เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์" ไม่มีในพระไตรปิฎกและคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มาของประโยคนี้มาจากข้อความในพระไตรปิฎก ที่กล่าวว่า มีคนหนึ่งเป็นบิดาของภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ตอนใกล้ตายได้นึกถึงกุศลที่ทำในการถวายผ้าสาฏกเนื้อหยาบแก่ภิกษุที่เป็นบุตร แต่เพราะระลึกถึงกุศลที่ได้ถวายผ้ากับพระภิกษุจึงได้ไปสวรรค์
ซึ่งก็หมายความว่าการที่ลูกบวชไม่สามารถทำให้พ่อแม่ไปสวรรค์ได้ แต่ที่ได้ไปสวรรค์เพราะการทำบุญ ทำกุศลกับภิกษุ อย่าลืมว่าบุญใครทำ คนนั้นก็ได้ และบาปใครทำ คนนั้นก็รับไปเช่นกัน
บวชก่อนถึงเบียดได้
การที่ผู้ชายบวชเสียก่อนจึงค่อยแต่งงานมีครอบครัว เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณ เพราะอยากให้ผู้ชายได้ศึกษาธรรมะก่อนมีครอบครัว เพราะผู้ชายคือคนที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว จำเป็นต้องมีทั้งธรรมะและความรับผิดชอบในหน้าที่สามี และพ่อที่ดี
เมื่อผ่านการบวชมาแล้ว จะทำให้ผู้ชายมีความคิด ความรับผิดชอบ และมีหลักธรรมในการครองเรือนมากขึ้น เช่น ต้องรักลูกรักเมีย มีความรับผิดชอบ ไม่เจ้าชู้ ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุภายนอก โดยหากผู้ชายได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่จะแต่งงาน ก็จะทำให้สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นเสาหลักของบ้านได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายที่ยังไม่ผ่านการบวชเรียนจะแต่งงานไม่ได้ เรื่องแบบนี้เป็นความยินยอมของผู้ชายเองและครอบครัวด้วย
ตัดสินใจบวชว่ายากแล้ว การเป็นพระนั้นยากกว่า
นอกจากพระจะต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมแล้ว ภิกษุจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระวินัย สำรวมกับทุกอากัปกริยา รักษาศีล 227 ข้อ ซึ่งหากทำผิดข้อใดข้อหนึ่งเรียกว่า “อาบัติ และมี 4 ข้อที่เป็นเป็นความผิดร้ายแรง ได้แก่ เสพเมถุน ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน ฆ่าคน และกล่าวอวดอุตริ ซึ่งหากผิดอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ข้อนี้เรียกว่าปาราชิก ต้องสึกออกไปสถานเดียวและจะกลับเข้ามาบวชใหม่ไม่ได้อีก
นอกจากการรักษาศีลแล้ว วินัยของพระภิกษุก็เป็นเรื่องที่ต้องเคร่งครัดไม่แพ้กัน ภิกษุต้องมีพฤติกรรมที่สงบเรียบร้อย ญาติโยมเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส เช่น การเดิน การนอน การนั่ง การฉันอาหาร เป็นต้น เพราะหากไม่ได้ตั้งใจที่จะมารักษาศีล เป็นพระที่ดีก็อาจจะไม่คู่ควรกับการเคารพกราบไหว้ของญาติโยม
ถ้าคำถามคือ “จำเป็นหรือไม่ที่ลูกผู้ชายจะต้องบวช” คำตอบก็คงต้องบอกว่า “ไม่จำเป็น” แต่ผู้ชายที่บวชเรียนมาแล้ว จะต่างจากคนที่ยังไม่เคยบวชอย่างสิ้นเชิง เพราะการบวชไม่ใช่แค่ได้บุญอย่างเดียว แต่บวชเพื่อสงบกายใจให้พร้อมออกไปรับผิดชอบต่อชีวิตในอนาคตของทั้งตัวเองและคนที่รัก เพื่อให้มีเข็มทิศนำชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น สูงขึ้น และไม่หลงตกไปสู่อบายมุขต่าง ๆ
Ittipat ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย
22 ส.ค. 2560 เวลา 16.09 น.
$note การบวชไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสละชีวิตตนเข้าสู่เส้นทางธรรม ปฏิบัติตนให้ดีตามพระธรรมวินัย หากปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ ก็เป็นพระแท้ผู้เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม ช่วยให้ผู้ทำบุญปิดอบายไปสวรรค์ เหมือนอย่างพระสาวกของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้บวชทุกคน ขอให้ประพฤติตนดีน่ากราบไหว้ ไม่ทำเรื่องผิดพระธรรมวินัย เป็นอายุพระพุทธศาสนาสืบต่อไปครับ
22 ส.ค. 2560 เวลา 16.54 น.
บทความดีมากๆคับ น่าอ่านน่าสนใจ ทำให้ได้รู้บางเรื่อง ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ขอบคุณสำหรับบทความดีดีคับ ทำต่อไปเรื่อยๆ เป็นกำลังใจให้คับ
22 ส.ค. 2560 เวลา 17.32 น.
Amporn Rhyner เป็นลูกผู้ชายสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนทั้งนอกและในเพื่อเตรียมตัวเป็นบุคคลต้นแบบค่ะ
22 ส.ค. 2560 เวลา 17.42 น.
Just do it!!!😉😉😉😉 😊😊😊😊😊👍👍👍👍👍😇😇😇🙏🙏🙏🙇♀️🙇♀️
22 ส.ค. 2560 เวลา 16.46 น.
ดูทั้งหมด