ทั่วไป

ทฤษฎีสมคบคิด : ฟังหูไว้หูด้วยวิจารณญาณ | เกษียร เตชะพีระ

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 05 ก.ค. 2566 เวลา 09.58 น. • เผยแพร่ 05 ก.ค. 2566 เวลา 08.51 น.

ขณะที่เราไม่ได้อยู่ในโลกมืดที่เต็มไปด้วยการสมคบคิดกันวางแผนร้ายทั่วทุกหัวระแหง แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้อยู่ในโลกสวยที่ไม่มีใครสมคบคิดกันวางแผนร้ายใดๆ เลยเช่นกัน

ความเป็นจริงมักไม่สุดขั้วสุดโต่ง แต่ขยับเคลื่อนไปมาในระหว่างแถบความเป็นไปได้สองด้านสองปลายดังกล่าวเสมอ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เราคงมิอาจปัดปฏิเสธได้ว่าการวางแผนสมคบคิดกันนั้นมีอยู่จริง แต่น้อยนักที่เราจะค้นพบมันด้วยวิธีการของเหล่านักทฤษฎีสมคบคิด ทว่า เราค้นพบมันได้ด้วยวิธีคิดปกติธรรมดามากกว่า

กล่าวคือ ด้วยการตั้งข้อสงสัยอย่างไม่ประมาทต่อเรื่องเล่าทางการและข่าวลือซุบซิบต่างๆ ขณะเดียวกันก็พินิจพิจารณาหลักฐานเท่าที่ปรากฏอย่างรอบคอบรัดกุม พร้อมทั้งยึดหลักว่ามันควรประกอบกันเข้าเป็นข้อคิดเรื่องราวที่เป็นปึกแผ่นสอดคล้องคงเส้นคงวาภายในด้วย

โดยเปรียบต่างตัดกัน วิธีคิดแบบบ้าทฤษฎีสมคบคิด มีบุคลิกลักษณะที่ระแวงสงสัยข่าวสารข้อมูลประดามีทั้งหมดอย่างล้นเหลือเฟือฟายถ้าหากมันไม่สอดรับกับทฤษฎีสมคบคิดของตัว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตีความหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีซึ่งตนรับเชื่ออย่างเกินเลยไปไกลลิบลับ และเนื้อหาก็ไม่เป็นปึกแผ่นสอดคล้องคงเส้นคงวากันภายในด้วย (ดูตารางประกอบ)

หรือจะอธิบายไปในทางพุทธธรรมก็ได้ว่าวิธีคิดแบบปกติธรรมดานั้นคือการเจริญโยนิโสมนสิการ อันแปลตรงตัวว่า “การทำในใจโดยแยบคาย”

และแปลโดยนัยได้ว่า “ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด การคิดเป็น การคิดตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัย การคิดสืบค้นถึงต้นเค้า เป็นต้น” (พระพรหมคุณาภรณ์, โยนิโสมนสิการ : วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม, 2556, น.15-16)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพื่อช่วยให้เราจำแนกทฤษฎีสมคบคิดออกจากการวางแผนสมคบคิดที่อาจเป็นไปได้ (เปรียบเทียบ สนธิ ลิ้มทองกุล,“อเมริกาเชิดก้าวไกล ใช้ไทยแทรกเพื่อนบ้าน”, กับ สฤณี อาชวานันทกุล, “มหากาพย์หุ้นสื่อ ไอทีวี”,) ผมใคร่เสนอข้อระวังสังเกตและคิดคำนึงเพิ่มเติมดังนี้ :

1. การเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดในสังคมการเมืองไทยดกดื่นเด่นชัดในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองปลายสมัยรัฐบาลทักษิณ (พ.ศ.2548-2549) ด้วยฝีมือ “สื่อเลือกข้าง”

2. เฟกนิวส์หรือข่าวปลอมเกาะเกี่ยวอคติ (ภยาคติ โมหาคติ โทสาคติ ฉันทาคติ) ของเรา โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่าเรากำลังฝืนทวนกระแสหลักของโลกและสังคม มีโอกาสที่โลกจะหมุนดังใจเราน้อย เรายิ่งหิวกระหายเฟกนิวส์ที่ตอกย้ำอคติของเรา

3. เฟกนิวส์คือชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ต่อกันเป็นแผ่นภาพทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theories) ซึ่งอธิบายว่าโลกเป็นไปเช่นนี้ ฝืนความปรารถนาของเราเช่นนี้ เพราะมีกลุ่มผู้คนสมคบคิดทำให้มันเป็น (agency) ไม่ได้เกิดจากโครงสร้างที่เหนือการกำกับควบคุมของเรา (structure) และฉะนั้น จึงอยู่ในวิสัยจะฝืนทวนมันได้ถ้าเพียงแต่เราเปิดโปงกำจัดพวกสมคบคิดเหล่านั้น

4. [เฟกนิวส์+ทฤษฎีสมคบคิด] ปลอบหลอกเราให้รู้สึกดีว่าเราล่วงรู้ความนัยลึกล้ำบางอย่างที่คนอื่นไม่รู้ เราฉลาดกว่า รู้มากกว่าคนอื่น คนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเรานั้นโง่ ยังไม่รู้ข้อมูลจริงข้อมูลลึกพอสร้างความรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ทะนงภาคภูมิในตัวเองจากความหลงเชื่อยึดติดของเราเองนั้น

5. ทฤษฎีสมคบคิดพิสูจน์จริง/เท็จยากเพราะโดยลักษณะของการสมคบคิดวางแผนย่อมแอบทำกันอย่างปิดลับอยู่แล้วในตัว บ่อยครั้งการเอ่ยอ้างทฤษฎีสมคบคิดมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ จึงมักเป็นการมองย้อนไปในอดีตแบบคนฉลาดหลังเหตุการณ์ (with the benefit of hindsight)

6. ทฤษฎีสมคบคิดตั้งอยู่บนฐานคติความเชื่อและจุดยืน 3 ประการ กล่าวคือ :

A. เชื่อว่าพวกผู้สมคบคิดวางแผนนั้นคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จทุกอย่าง ไม่มีปัจจัยตัวแปรนอกความคาดหมายของแผนการเลยราวกับพวกเขามีมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า (Godly Omnipotence)

B. เชื่อว่าตัวนักทฤษฎีสมคบคิดเองเหมือนประกาศกผู้มีตาวิเศษที่หยั่งรู้ตื้นลึกหนาบางดินฟ้ามหาสมุทรของการวางแผนสมคบคิดได้ทุกอย่างทุกประการ (Omniscient Messiah)

C. ลักษณะสองประการแรกส่องสะท้อนบุคลิกด้านกลับของนักทฤษฎีสมคบคิดกับเหล่าสาวกผู้รับฟังรับเชื่อตามของพวกเขา คือมองและพูดจากจุดยืนไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ได้แต่คาดเดาไปส่งเดชเรื่อยเปื่อย (speculative utter powerlessness)

7. ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองอันแหลมคมหนึ่งๆ เอาเข้าจริงประเด็นไม่ใช่ไม่มีการวางแผนสมคบคิดใดๆ อยู่เลย (no plot) แต่เป็นว่ามันมีการวางแผนสมคบคิดกันมากมายหลายแผนเกินไป (too many plots) ต่างหาก

และในบรรดาแผนสมคบคิดต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่แน่ว่ามันจะทำงานไปในทางเดียวกันหรือสอดรับคล้องจองกันเสมอไป มันอาจขัดแย้งสวนทางปัดแข้งปัดขาปั่นป่วนเสียกระบวนกันเองก็เป็นได้

สรุปก็คือ เราอาจควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะมีแผนการร้ายสมคบคิดดำรงอยู่ แต่มองเห็นข้อจำกัดของมันด้วยในขณะเดียวกัน

8. กล่าวในทางสังคมศาสตร์ วิธีคิดแบบบ้าทฤษฎีสมคบคิดนั้น บอดต่อปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่ให้น้ำหนักความสำคัญกับปัจจัยเชิงเจ้าตัวผู้กระทำการอย่างล้นเหลือ (Agency vs. Structure), มันยังบอดต่อความเป็นจริงทางภววิสัย แต่ให้น้ำหนักความสำคัญกับปัจจัยอัตวิสัยอย่างเกินเลย (Subject vs. Object)

9. ในทำนองเดียวกัน วิธีคิดแบบบ้าทฤษฎีสมคบคิดปัดปฏิเสธเงื่อนไขปัจจัยความเป็นไปได้ของสภาพจริงในสังคมที่คอยจำกัดจำเขี่ยหรือบิดเบือนพลังสัมฤทธิผลของเจ้าตัวผู้กระทำการให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่คาดหมายได้เต็มที่ อันได้แก่ แรงจูงใจที่เจ้าตัวไม่ยอมรับว่ามี (unacknowledged motives), สภาพเงื่อนไขที่เจ้าตัวไม่รับรู้ถึง (unknown conditions) และผลลัพธ์ที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจให้เกิด (unintended consequences)

10. ทั้งนี้ มิพักต้องพูดถึงเหล่าอุบัติเหตุหรือการณ์จร (accidents & contingencies) ซึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบของสภาพการณ์จริงที่คอยขัดขวางแผนสมคบคิดที่วางไว้ให้ไม่บรรลุผลตามที่วิธีคิดแบบบ้าทฤษฎีสมคบคิดทึกทักเอาเอง อาทิ กระสุนด้าน, คิดผิด, เล็งผิด, ยิงผิด, เปลี่ยน ใจ, ใจฝ่อ, แผ่นดินไหว, น้ำท่วม ฯลฯ

ดังที่สังคมการเมืองไทยกำลังประสบพบเห็นอยู่อย่างมหัศจรรย์แกมขำขื่นหลังเลือกตั้งปัจจุบัน!

youtube
ดูข่าวต้นฉบับ