ทั่วไป

เครือข่ายผู้บริโภค กทม. เสนอ รมว. คมนาคม เก็บค่ารถไฟฟ้าสีชมพูสูงสุด 20 บาท

Khaosod
อัพเดต 29 พ.ย. 2566 เวลา 03.38 น. • เผยแพร่ 28 พ.ย. 2566 เวลา 16.09 น.

สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ยื่นหนังสือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูราคาสูงสุด 20 บาท ลดค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค

วันที่ 28 พ.ย. 2566 สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมนโยบายการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท และร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยมีนายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย กรมขนส่งทางราง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ร่วมรับฟังปัญหาของผู้บริโภค

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า หลังการหารือสภาผู้บริโภค กระทรวงคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมการขนส่งทางราง รฟม. รฟท. และ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันในเป้าหมายที่จะร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้บริโภคได้เข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเฉพาะการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทาง รวมถึงในเส้นทางสายสีชมพูที่เพิ่งเปิดให้บริการและมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมระบุว่าเพียง 2 วันแรกมีประชาชนใช้บริการมากถึง 1.4 แสนคน โดยเฉพาะในวันที่ 24 พฤศจิกายนวันเดียวมีผู้ใช้บริการมากถึง 98,828 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเกิน 1 แสนคน เพราะรถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนโดยแท้จริง

“ปัจจุบันมีผู้โดยสารกว่าแสนคนต่อวันที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่ จึงอยากขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปริมาณผู้โดยสารที่มีจำนวนมากโดยให้คำนึงถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นของประชาชน โดยกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงกันกับสายสีแดงและสายสีม่วงจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้เพิ่มมากขึ้น”

นายคงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับลดอัตราค่าโดยสาร คือการเพิ่มรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร้านค้า โฆษณา ตลอดจนการเร่งรัดจัดทำกฎหมายภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีจากโอกาสทางนโยบาย (Opportunity Policy Tax) จากมูลค่าที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านของเอกชน เป็นต้น ซึ่งทั่วโลกต่างนำรายได้จากส่วนนี้ไปสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนรถไฟฟ้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายคงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การสร้างถนนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนเดินทางได้ เช่นเดียวกับการอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพื่อลดภาระค่าโดยสารและทำให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น โดยผู้บริโภคควรจะเป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ และค่าโดยสารที่ลดลงทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดการใช้น้ำมัน ลดมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในฐานะเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ขอสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เหมือนสายสีแดงและสายสีม่วง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้จริง

ขณะที่นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันว่า จะนำข้อเสนอของผู้บริโภคไปเสนอต่อ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้การกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีคณะกรรมการเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชนอยู่แล้วเนื่องจากการกำหนดราคาค่าโดยสารถูกระบุไว้ในสัญญาสัมปทานระยะเวลา 30 ปี

“บทบาทของกระทรวงคมนาคมต้องการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยราคาที่เป็นธรรม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพอยู่แล้ว จึงจะนำข้อมูลทั้งหมดที่เป็นความเห็นของผู้บริโภคเสนอต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป” ที่ปรึกษา รมว. คมนาคม กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Taa
    ถูกกว่ารถเมล์
    28 พ.ย. 2566 เวลา 19.03 น.
ดูทั้งหมด