ไอที ธุรกิจ

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี จัดการ “ขยะอินทรีย์” ตลาดไท ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 30 มี.ค. 2563 เวลา 07.38 น. • เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 23.00 น.

นักวิจัยและอาจารย์สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ดร.เอื้องฟ้า บรรเทาวงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุจยา ฤทธิศร และ คุณนันท์นภัส ศรโชติ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด “จัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไท ด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน” โดยได้ทุนงานวิจัยสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

ดร.เอื้องฟ้า เผยว่า ตลาดไทเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 12,000 ตัน ต่อวัน สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรซึ่งจะถูกนำมาคัดเลือกและคัดแยกเอาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย มีตำหนิออก ทำให้ตลาดไทมีขยะที่เป็นเศษผักและผลไม้กลายเป็นขยะเหลือทิ้งจำนวนมากประมาณ 120 ตัน ต่อวัน ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในพื้นที่ “ในการจัดขยะมูลฝอยที่แยกได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเฉพาะขยะมูลฝอยที่เป็นสารอินทรีย์ สามารถใช้กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และการกินของสัตว์หน้าดินคือ ไส้เดือน ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน” จึงได้ทำการวิจัยการจัดการขยะอินทรีย์แบบครบวงจรในตลาดไท ด้วยระบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ทำการเปรียบเทียบสายพันธุ์ไส้เดือนเหมาะสมในการกำจัดและลดปริมาณขยะอินทรีย์ในพื้นที่ตลาดไท โดยใช้ไส้เดือน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนดินสายพันธุ์ท้องถิ่น Perionyx excavatus (PE) สายพันธุ์ Eudrilus eugeniae ชื่อสามัญ African Night Crawler (AF) และสายพันธุ์ Eisenia fetida ชื่อสามัญ Tiger worm

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำการทดลองโดยนำไส้เดือนดิน เลี้ยงในกระบะปริมาณ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หลังจากนั้นเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงไส้เดือน ได้แก่ เศษผักที่เหลือทิ้งจากตลาดผักขายส่งของตลาดไท โดยนำอาหารใส่ลงไปในกระบะเลี้ยงจำนวน 10 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร รดน้ำให้ชุ่มประมาณวันละครั้งเพื่อควบคุมความชื้น เลี้ยงเป็นระยะเวลา 4 เดือน

โดยพบว่า ไส้เดือนสายพันธุ์ PE มีการย่อยสลายอินทรีย์ประเภทเศษผักได้ดีที่สุด โดยไส้เดือนจำนวน 1 กิโลกรัม สามารถย่อยขยะอินทรีย์ได้ 10 กิโลกรัม ใช้เวลา 10 วัน รองลงมาคือ ไส้เดือนสายพันธุ์ AF และ Tiger ใช้เวลา 12 และ 14 วัน ตามลำดับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีพบว่า ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่ได้จากสายพันธุ์ AF ให้ร้อยละไนโตรเจนทั้งหมด ร้อยละฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ร้อยละโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงที่สุด ในขณะที่ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากสายพันธุ์ PE มีค่าอินทรียวัตถุและค่าอินทรีย์คาร์บอนมากที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (02) 549-4994

ดูข่าวต้นฉบับ