ทั่วไป

ยุทธจักรสกัดมังกร

สยามรัฐ
อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์

เอ่ยถึง “พญามังกร - จีนแผ่นดินใหญ่” ก็ต้องยกให้เป็นชาติมหาอำนาจที่กำลังมาแรงแซงโค้ง

แรงเพียงไหน ก็ต้องบอกว่า ใกล้รอมร่อที่พร้อมจะเบียดขับ “พญาอินทรี - สหรัฐอเมริกา” ให้ตกจากบัลลังก์มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก แล้วก้าวขึ้นไปนั่งแทน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยความเป็นมหาอำนาจของพญามังกรจีน ก็ขึ้นแท่นขยับทะยานพร้อมกันไปแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการทหาร ที่ชาติไหนก็พากันหวั่นเกรง ไม่เว้นแม้กระทั่งพญาอินทรีสหรัฐฯ ที่เมื่อประเมินเปรียบเทียบขุมกำลังแสนยานุภาพทางกองทัพระหว่างกันเมื่อใด เป็นต้องหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความปริวิตกกันเมื่อนั้น

ก็ขนาดมหาอำนาจชาติยักษ์ใหญ่ยังหวั่นใจขนาดนั้น แล้วชาติเล็กๆ ยิบย่อยอย่างบรรดาประเทศภูมิภาคอุษาคเนย์ อาเซียนเรา จะทำฉันใดในยามที่กำลังเผชิญหน้ากับพญามังกรจีน อย่างกรณีพิพาทที่กำลังคุกรุ่นในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ณ ชั่วโมงนี้

เห็นทีก็ต้องพึ่งกลยุทธ์ร่วมไม้ร่วมือเป็นพันธมิตรกับชาติพี่เบิ้มต่างๆ ให้มาถ่วงดุลย์อำนาจต่อพญามังกรจีน ดูจะเป็นกลวิธีที่ดีสุดวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการพึ่งพาองค์การระหว่างประเทศ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นอาทิ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยกลวิธีหลังนี้ คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ก็ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แจ่มชัดแล้วว่า ท่าจะเป็นเสือกระดาษเสียมากกว่า เพราะไม่สามารถป้องปรามการคุกคาม รุกเขต กินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งมีกรณีของฟิลิปปินส์ ในสมัยประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่ 3 ที่ยื่นฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะมีคำพิพากษาออกมาเมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมาว่า จีนไม่มีสิทธิ์ตามประวัติศาสตร์ตามกล่าวอ้างเหนือต่อดินแดนบริเวณหมู่เกาะและแนวปะการังในทะเลจีนใต้ อันเท่ากับว่า ฟิลิปปินส์ชนะคดี แต่ปรากฏว่า จีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังคงเดินหน้านโยบายขยายอาณาเขตของจีน ด้วยแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น (Nine dash line)” ที่ทางการปักกิ่งกำหนดแผนที่เจ้าปัญหานี้ขึ้นมาเอง และก็กลายเป็นต้นตอ จุดกำเนิดของปัญหา ชนวนพิพาททางดินแดนกับบรรดาประเทศที่อยู่รายรอบทะเลจีนใต้ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ล่าสุด ก็ลากเลยมาถึงน่านน้ำของอินโดนีเซียด้วย

เมื่อระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่สามารถพึ่งพิงได้เช่นนั้น ว่าแล้วนานาประเทศที่กำลังเผชิญหน้าในกรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้กับจีนแผ่นดินใหญ่ข้างต้น จึงบังเกิดปฏิบัติการผูกมิตร สานสัมพันธ์ กับมหาอำนาจชาติฟากฝ่ายอื่นๆ กันอย่างฝุ่นตลบ

ไล่ไปตั้งแต่ “เวียดนาม – แดนญวน” ชาติที่ได้ชื่อว่า ทรงแสนยานุภาพด้านกองทัพ จนเป็นเหตุผลประการหนึ่งของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในการดึงเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิก เมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 เพื่อหวังเสริมแกร่งให้แก่อาเซียนหากเผชิญหน้ากับพญามังกรจีนที่ส่งสัญญาณว่าจะแผ่ขยายอิทธิพลลงมา ก็ปรากฏว่า ทางการเวียดนาม ก็ต้องหันไปพึ่งพาชาติพันธมิตรอื่นๆ ในการคะคานอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ ในการเผชิญหน้าบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่กำลังเป็นที่พิพาทด้วยเหมือนกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเวียดนามได้ทำข้อตกลงทั้งกับรัสเซีย ในการร่วมมือทางการทหาร ที่ถึงขนาดเวียดนามหวนมาปัดฝุ่นเปิดฐานทัพเรือในอ่าวคามรานห์ ให้กองเรือและฝูงบินของกองทัพรัสเซียเข้าไปใช้บริการได้ ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ด้านพลังงาน ทางการฮานอย ก็เปิดไฟเขียวให้ธุรกิจด้านพลังงานจากรัสเซีย เข้าไปดำเนินการกิจการในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ “แวนการ์ดแบงก์” ได้

ทั้งนี้ ในเรื่องความร่วมมือด้านพลังงานนั้น ทางการเวียดนาม ก็ยังได้ทำความตกลงกับบรรดาบริษัทด้านพลังงานของอินเดีย เช่น “โอเอ็นจีซี วิเทศ” บริษัทด้านพลังงานสัญชาติอินเดีย มาร่วมทุนเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในทะเลจีนใต้กับเวียดนามด้วย

นอกจากนี้ แม้แต่ “สหรัฐฯ” ซึ่งเป็นคู่แค้นใน “สงครามเวียดนาม” ทางรัฐบาลฮานอย ทางการเวียดนาม ก็จำต้องกลืนเลือด ลืมความแค้นข้างต้นกันไว้ก่อน แล้วหันหน้ามาสร้าง มารื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันใหม่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการทหาร เพื่อหวังผลด้านการพึ่งพาให้พญาอินทรีมาคานอำนาจพญามังกร ในภูมิภาคแห่งนี้ เป็นเป้าหมายสำคัญ

ล่าสุด ก็เป็นรายของ “อินโดนีเซีย – แดนอิเหนา” ก็มีปฏิบัติการในทำนองเช่นเดียวกับเวียดนาม นั่นคือ ลืมคั่งแค้นที่เคยมีกับออสเตรเลีย กับอดีตที่ผ่านมา จากหลายกรณีด้วยกัน เช่น กรณีติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์เลสเต เป็นต้น เก็บเข้าลิ้นชักไปเสียก่อน แล้วหันหน้ามาสรรค์สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันใหม่กับออสเตรเลีย โดยมีหมุดหมายก็คือ ถ่วงดุลย์อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังแผ่ลงมาถึงน่านน้ำของอินโดนีเซีย นั่นคือ หมู่เกาะนาทูนา ที่พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่หมายปองที่จะได้ครอบครอง เช่นเดียวกับ ออสเตรเลียเอง ที่ต้องหันมาญาติดีกับอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน เพราะได้เห็นเค้าลางของกรงเล็บพญามังกรจีน ที่กางออก คือ เริ่มขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ทางออสเตรเลีย แดนจิงโจ้ ก็มิอาจยอมรับได้ จึงขอร่วมขบวนการยุทธจักรสกัดพญามังกรกับชาติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • จีน ก็ถือเปนคนเอเชียผมดำเหมือนประเทศ ในอาเซียน ไม่เหมือนฝรั่งผมทอง แต่ทำไมบางประเทศในอาเซียนถึงต้องกลืน เลือด ลืมความแค้นในอดีตเพื่อขอความร่วมมือ กับฝรั่งผมทอง เพราะโดยธรรมชาติ สันดานเดิมแต่ไหนแต่ไร ของ จีน แผ่นดินใหญ๋ ชอบที่เอาเปรียบทุกชาติ หาก ยิว คือชาติที่ชอบเอาเปรียบตะวันออกกลาง จีน ก็คือชาติที่เอาเปรียบอาเซียน วิธีง่ายๆแต่เกิดขึ้นยาก คือ อาเซียนเราต้องร่วมมือ ร่วมใจกันเหมือนสัญลักษณ์ฟางข้าวสีทองที่มัดรวมกัน ของอาเซียนนั้นแหล่ะ หากรวมกันได้เราจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติมหาอำนาจใดๆ ในโลก
    18 ก.พ. 2563 เวลา 01.56 น.
  • Peace
    เวียตนามเขาฉลาด ดู40กว่าปีเขาฟื้นตัวมาขนาดนี้ ประชากรก็ฝีมือ ดูของส่งของไปขายอเมริกา ฝีมือสุดยอด ค่าแรงก็ แค่ 200 บาทต่อวัน เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรการแพทย์อื่นๆ แถมธรรมชาติ เข้าข้าง ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง น้ำอุดมสมบรูณย์ แต่บ้านเรากับตรงข้ามการเมือง ก็ขัดแย้งไม่สร้างสรรคเลย ป่วน ชิงดีชิ่งเด่น กันจน6เดือน ไร้ผลงานให้ประชาชน ชื่นชมเลย
    18 ก.พ. 2563 เวลา 01.09 น.
  • vichai
    ยุยงจาประเทศเพื่อนในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ส่วนใหญ่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อนจึงไม่แปลกที่จะกลัวจีน ชายฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่มีพื้นที่ติดทะเลกว้างใหญ่ถ้าพิจารณาดูทางภูมิศาสตร์ย่อมกินพื่นที่ทางทะเลไปไกล ในอดีตชาติตะวันตกขีดเส้นพื้นที่ทางทะเลตามใจชอบเพื่อให้ประเทศในอาณานิคมของตนเองได้ประโยชน์จึงอาจเป็นการคลาดเคลื่อนในการยึดครองพื้นที่ทางทะเลได้ ประเทศไทยเองก็เคยถูกชาติตะวันตกรังแกเช่นกันจนต้องเสียดินแดนไปบางส่วนซึ่งดินแดนที่เสียไปก็กลายเป็นพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านทุกวันนี้
    18 ก.พ. 2563 เวลา 01.00 น.
  • โชชิว
    รีบเปิดศึกก่อนเลย​ ก่อนที่เขาจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้ง
    18 ก.พ. 2563 เวลา 00.50 น.
ดูทั้งหมด