ธรรมะ

“หัวใจของพระพุทธศาสนา” ที่ทำให้ “มาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรัก

Another View
เผยแพร่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 01.00 น.

“หัวใจของพระพุทธศาสนาที่ทำให้มาฆบูชา” เป็นวันแห่งความรัก

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความพิเศษอีกปีหนึ่ง นั่นก็คือ  เราได้มีวันแห่งความรักถึงสองวันด้วยกัน หลาย ๆ คนที่ได้ยินดังนี้ก็อาจจะงง ว่า 14 กุมภา วันวาเลนไทน์ ก็ได้ผ่านมาแล้ว จะมีวันแห่งความรักที่ไหนอีก แต่เราขอบอกเลยว่า วันนี้ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ก็เป็นวันแห่งความรักด้วยเช่นกัน 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ใช่แล้ว วันมาฆบูชา นี้แหละ คือวันแห่งความรักด้วยอีกวันในเดือนนี้ บางท่านอาจจะบอกว่าเรา “แถ” ไปหรือเปล่า เพราะวันนี้เป็นวันที่ระลึกถึง การแสดงธรรม “โอวาทปาฏิโมกข์” ของพระศากยมุนีพุทธเจ้าของเรา ให้ ทำความดีละเว้นความชั่วทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น หัวใจของพระพุทธศาสนาพอมีคำว่าหัวใจเข้ามา เราจะบอกว่าเป็นวันแห่งความรักของศาสนาพุทธได้เลยหรือ  

แต่เมื่อพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นชัดเลยว่า โอวาทปาฏิโมกข์ นี้ สอนเรื่องความรักล้วน ๆ เพราะว่าการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ การที่พระองค์ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว สอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีสาวกทั้ง 1,250 รูป ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

และ “ความรัก” ที่ว่านี้ เป็นความรักที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะความรักของหนุ่มสาว แต่เป็นความรักสำหรับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักรักตนเอง ด้วยการขัดเกลาจิตใจของตนเองให้ผ่องแผ้ว เพื่อจะได้เผยแผ่ความรัก เผยแผ่ธรรมให้กับเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป นี่คือความหมายของ ความรักในศาสนาพุทธ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลักการ3 อุดมการณ์4 วิธีการ6

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จำกัดความ “โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ว่า ได้กล่าวถึง “ความรัก” ที่ควรยึดถือและปฏิบัติ โดยเริ่มต้นจากการฝึกใจตน ไปจนถึงการเผยแผ่ความรัก เมตตา ให้ผู้อื่นนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่ (1) การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท (2) การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ (3) การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ (1) ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ (2) ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น (3) ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ (4) นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ

วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่ (1) ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น (2) ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น (3) สำรวมในปาฏิโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม (4) รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ (หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้) (5) อยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม (6) ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

เมื่อโอวาทปาฏิโมกข์เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ “โอวาทปาฏิโมกข์” ได้กลายเป็น “หัวใจคาถา” ที่พระเกจิอาจารย์ได้นำมาใช้ในการพุทธาภิเษก การสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้กำหนดภาวนาเพื่อเป็นอุบายให้ได้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่งมงายต่อไป ทั้งยังใช้สั่งสอนสาธุชนทั้งหลายให้ตั้งมั่นในศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา ตามหลักพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในคำสอนของพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ 

“…กูไม่มีอะไรมากกูไม่มีอะไรจะสอนพวกมึงหรอกเพราะพวกมึงก็รู้ว่ากูพูดไม่เป็นพูดไม่เก่งเหมือนเขาเทศนาว่ากล่าวอะไรก็ไม่เป็นกูมีแต่ว่าให้ละชั่วทำดีกันเท่านั้นแหละบุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ยให้เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริงให้ละชั่วทำดีมีศีลธรรมประจำใจบุญเห็นกับตาบาปเห็นกับตารักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่วให้ตั้งอยู่ในเมตตา…”

พระเทพวิทยาคม(หลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ)

“…ทำไม่ดีมาหลายปีแต่มาสร้างบุญแค่ชั่วโมงเดียวยังทำไม่ได้ชีวิตจึงมีแต่ขาดทุนแล้วท่านจะได้อะไร…”

พระธรรมสิงหบุราจารย์(หลวงพ่อจรัญฐิตธมฺโม)

“…เมื่อเราทำบุญแต่ยังไม่ละบาปก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้งฝนตกลงมาถูก้นกะละมังเหมือนกันแต่มันถูกข้างนอกไม่ถูกข้างในน้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังได้…”

พระโพธิญาณเถร(หลวงพ่อชาสุภทฺโท)

************************

ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.stc.ac.th/stc/index.php?option=com_content&view=article&id=67

https://www.thairath.co.th/content/403301

ความเห็น 7
  • Monthicha
    สาธุสาธุสาธุ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 01.41 น.
  • บูชิตา เหล็กแจ้ง..
    สาธุๆ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 00.49 น.
  • นุชิต ฉัตรกมลกุล
    ปฏิบัติแต่กรรมดี ละเลิกกรรมชั่ว สร้างสรรสิ่งดีๆ ทั้งกาย_วาจา_ใจ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 00.18 น.
  • anne🤍
    อนุโมทนา​สาธุธรรมทานคะ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 02.19 น.
  • Anl
    อย่าเอาไปปนกับความรักเลยครับ
    19 ก.พ. 2562 เวลา 00.15 น.
ดูทั้งหมด