ทั่วไป

ก้าวใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ก้าวต่อไป การเมืองไทย

The101.world
เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 11.45 น. • The 101 World

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทำให้สังคมไทยรู้จักพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่ม New Dem

หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สังคมไทยยิ่งรู้จักตัวตนและความคิดของเขาชัดขึ้น หลังตัดสินใจลาออกจากพรรค เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อนาคตทางการเมืองของพริษฐ์จะเป็นอย่างไร อนาคตการเมืองไทยจะเดินไปทางไหน

101 ชวนพริษฐ์มาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย และตอบคำถามว่าเขาจัดวางตัวเองอยู่ตรงไหนในสมการการเมืองไทยนับจากนี้

จากแกนนำกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า สู่ผู้เขียนหนังสือ 'Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร' และเจ้าของคอลัมน์ butterfly effect ใน 101 ไม่นับสตาร์ทอัพใหม่ด้านการศึกษาที่ใกล้เปิดตัว ป้ายหน้าของเขาคืออะไร?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากนี้คือทัศนะบางส่วนของเขาที่ให้สัมภาษณ์ไว้ผ่านรายการ 101 One-On-One Ep.95 

 

:: ชูธงแก้รัฐธรรมนูญเชิงสร้างสรรค์ ::

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

 

กลุ่มเรากำลังพัฒนาความคิดเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม การทำยังไงให้เมืองน่าอยู่ขึ้น โดยรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหนึ่งที่เรากำลังทำงานในชื่อกลุ่ม ‘รัฐธรรมนูญก้าวหน้า’ เรามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาทั้งในเชิงที่มา กระบวนการ และเนื้อหา

ที่มาของรัฐธรรมนูญถูกร่างช่วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร การมีส่วนร่วมของประชาชนก็อาจไม่มากเท่าที่ควร กระบวนการตอนทำประชามติก็ไม่เปิดให้สองฝ่ายหาเสียงได้อย่างเสรี ถกเถียงกันได้ว่าท้ายที่สุดแล้วเป็นประชามติที่เสรีเป็นธรรมหรือไม่ เนื้อหาก็มีหลายมาตราขัดกับหลักประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะเรื่องอำนาจและที่มาของวุฒิสภา ตามหลักประชาธิปไตยสากลอำนาจและที่มาควรสอดคล้องกัน ถ้าวุฒิสภามีอำนาจเยอะถึงขั้นเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็ควรมีที่มาจากการเลือกตั้ง มีความยึดโยงกับประชาชน อย่างอังกฤษมี ส.ว. แต่งตั้งก็ไม่ต้องมีอำนาจเยอะ อเมริกามี ส.ว. จากการเลือกตั้งก็มีอำนาจมาก แต่ของไทยเหมือนตาชั่งที่บิดเบือนไปด้านหนึ่ง มีอำนาจมากแต่ที่มากลับด้อยมากในการยึดโยงกับประชาชน

เหตุผลที่กลุ่มเรามีปัญหากับรัฐธรรมนูญนี้มี 2 มิติ

1.อุดมการณ์ทางการเมือง ใครที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชนในการกำหนดทิศทางประเทศ ลำบากที่จะบอกว่าไม่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญนี้

2. รัฐธรรมนูญคือกติกาของการทำงานการเมือง เหมือนกติกาฟุตบอล ถ้าในอนาคตเรายังอยากให้คนเล่นฟุตบอลอยู่ ต้องมีกติกาที่เป็นกลาง ถ้าออกแบบกติกาว่าทุกครั้งที่เริ่มเล่นให้ทีมสีแดง สีเหลือง หรือสีฟ้านำไป 3-0 ก่อนแล้ว ก็เป็นกติกาที่ไม่เป็นกลางจะกลายเป็นต้นตอความขัดแย้งต่อไปในอนาคต ความขัดแย้งทางการเมืองจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผมจึงมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาทั้งในทางการเมือง อุดมการณ์ และเศรษฐกิจ

ทางออกเรื่องรัฐธรรมนูญสามารถทำคู่ขนานได้ มิติหนึ่งคือแก้บางมาตราที่เป็นปัญหาได้เลย เช่นเรื่อง ส.ว. ไม่จำเป็นต้องร่างใหม่หมด สามารถแก้เป็นมาตราได้และเข้าใจว่าหมวดวุฒิสภาไม่ต้องผ่านประชามติ แต่อีกมิติหนึ่งเมื่อมีปัญหาเยอะมากและมีความขัดแย้งอยู่ ก็น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะพูดกันเรื่องร่างฉบับใหม่ควบคู่กันไป อาจมีคนที่เห็นด้วยกับการแก้บางมาตรา แต่ไม่เห็นด้วยกับการร่างฉบับใหม่ก็ไม่เป็นไร ผลักดันสิ่งที่แก้ได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง สามารถทำควบคู่กันได้ ด้านไหนที่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชนก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง

กลุ่มเราต้องการใช้ข้อเสนอเป็นตัวนำ ถ้าเถียงกันแต่ว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่พูดว่าต้องแก้มาตราไหน คนที่ลังเลว่าควรแก้หรือไม่ก็จะไม่สนใจเมื่อรู้สึกว่าเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา เราจึงพยายามทำงานเชิงสร้างสรรค์ ใช้ข้อเสนอว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้อะไร ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไรแต่อย่างน้อยก็ให้คนมาถกเถียงร่วมกัน

รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรจะยาวเกินไป เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ควรถูกเปลี่ยนบ่อย และไม่ควรกำหนดรายละเอียดเยอะเกินไปจนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานตามที่สัญญากับประชาชนได้ รัฐธรรมนูญควรพูดถึงแค่โครงสร้างและระบบของประเทศกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมี เรื่องยุทธศาสตร์ชาติหรือรายละเอียดต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ หลายประเทศก็ไม่ได้ใส่เรื่องระบบเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ใส่ไว้ในกฎหมายลูกที่สามารถเปลี่ยนได้ง่ายกว่า

 

:: ส.ว.ที่ทำลายหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ::

 

 

การแก้รัฐธรรมนูญต้องเชิญให้คนมาร่วมในจุดที่เห็นร่วมกันมากกว่าตั้งคำถามที่ทำให้คนเห็นต่างกัน การถามว่าเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำถามที่แบ่งแยกสังคมมากที่สุด ควรถามว่าคุณคิดว่ารัฐธรรมนูญที่กำหนดประเทศควรอยู่บนหลักการอะไรบ้าง แล้วคนจำนวนมากอาจเห็นด้วยในหลักการเดียวกัน ก็มาเถียงกันว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญจะสามารถนำไปสู่หลักการนี้ได้ไหม

หากคน 95% เห็นด้วยกับหลักการว่าประชาชนควรมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันในการกำหนดทิศทางของประเทศ ก็มาดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอะไรขัดกับหลักการนี้ การมี ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเลือกนายกฯ ขัดหลักการนี้ เพราะ ส.ว. หนึ่งคนมีสิทธิในการเลือกนายกฯ นับเป็น 1 เสียงจาก 750 เสียง แต่ประชาชน 40 ล้านคนที่ไปเลือกตั้งถูกแปรเป็น 500 เสียง เท่ากับว่าประชาชน 1 คนกับ ส.ว. 1 คนมีเสียงไม่เท่ากัน

การแก้เรื่องนี้เราเสนอให้ยกเลิก ส.ว. เพราะมองว่ามี 3 ทางออก ถ้าจะทำให้เกิดหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงได้ อำนาจและที่มาของ ส.ว. ต้องเท่ากัน

1. ลดทั้งสองอย่าง ที่มาจะเป็นการแต่งตั้งก็ได้ แต่อำนาจต้องไม่เยอะ ส.ว. ห้ามเลือกนายกฯ ห้ามแต่งตั้งองค์กรอิสระ แค่มากลั่นกรองกฎหมายและให้คำปรึกษา

2. เพิ่มทั้งสองอย่าง ให้อำนาจเยอะต่อไป แต่มาจากการเลือกตั้งที่มีระบบต่างจาก ส.ส. เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน

3. หลายประเทศทั่วโลกใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแค่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภา ข้อดีคือ ประหยัดงบประมาณปีละ 1,300 ล้านบาทเฉพาะจากเงินเดือนและค่าเดินทาง แล้วยังลดระยะเวลาการแก้ไขกฎหมายและออกกฎหมายใหม่

หลายคนกังวลเรื่องการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารว่าเมื่อเกิดอะไรไม่ชอบธรรม ส.ว. จะช่วยยับยั้งหรือเตือนสติได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การตรวจสอบรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากสุดอาจไม่ใช่ในรูปแบบเก่าว่าต้องมี 250 คนเข้าไปตรวจสอบ แต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนให้ประชาชนตรวจสอบรัฐบาล เพราะ ส.ว. จะถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารได้ดีต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งอันนี้ผมไม่แน่ใจ สิ่งที่อันตรายกว่าการไม่มี ส.ว. เลย คือการมี ส.ว. ที่ให้ท้ายฝ่ายบริหารเต็มที่

 

:: เกมชักเย่อในการเมืองไทย ::

 

 

มีการจัดอันดับประชาธิปไตยจาก 167 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 106 สิ่งที่น่าทึ่งคือใน 10 ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด มีอยู่ 4 ประเทศที่มีคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อยู่ในชื่อประเทศ เช่น Democratic People's Republic of Korea (เกาหลีเหนือ), Democratic Republic of the Congo (คองโก) จะเห็นว่าประเทศที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยกลับมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด เราจึงต้องระวังเวลาคนบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ให้ดูที่ข้อเท็จจริงมากกว่าคำพูด

ความเป็นประชาธิปไตยมีตัวชี้วัด มีเรื่องระบบและเรื่องวัฒนธรรม ระบบคือสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีการเคารพเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงไหม มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไหม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะถดถอย รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ไม่ได้ถือว่าดีที่สุดในทุกเรื่อง แต่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า แต่ในเชิงวัฒนธรรมเรามีคะแนนดีขึ้นนิดหนึ่ง ผมสัมผัสได้ถึงความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยของประชาชนมากขึ้น มีการยอมรับความเห็นที่แตกต่างมากขึ้น มีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น

สภาวะการเมืองไทยปัจจุบันเหมือนเกมชักเย่อ ระบบพยายามดึงเราไปข้างหลัง แต่วัฒนธรรมสังคมและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ดึงเราไปข้างหน้า ดึงกันอยู่อย่างนี้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เชือกนี้ขาด เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งที่อาจทำให้มีการสูญเสีย ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราต้องการเห็น

มีสองทางออก คือ คนที่ต้องการดึงไปข้างหน้ารู้สึกท้อจึงผ่อนให้ดึงกลับไปข้างหลัง หรืออีกทางคือระบบพัฒนาตามทันกับสิ่งที่วัฒนธรรมในสังคมต้องการ

เราไม่อยากเห็นเชือกขาดแต่อยากเห็นทุกคนเดินไปข้างหน้า ทำยังไงให้คนที่ยังไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตยเท่าเราเดินไปข้างหน้ากับเรา

 

:: อย่าผูกประชาธิปไตยกับผลลัพธ์ ::

 

 

ผมเป็นนักประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในการปกครองประเทศ เราไม่ควรรังเกียจคนที่กล้าพูดกับเราว่าเขาไม่เชื่อในประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องโน้มน้าวให้เขาเห็นว่าประชาธิปไตยดีกว่าระบบอื่น เราต้องพยายามทำงานเชิงความคิด เหมือนเจอคนบอกว่าโลกแบน ต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่าโลกกลม ไม่ใช่ไปปิดปากหรือต่อว่าเขา

นักประชาธิปไตยก็มองถึงข้อดีของประชาธิปไตยต่างกัน บางคนเน้นผลลัพธ์ว่าประชาธิปไตยดีที่สุดเพราะพอมีเลือกตั้งที่คำนึงถึงความต้องการของทุกคนแล้วจะนำไปสู่นโยบายและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด นำไปสู่เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด นำไปสู่สังคมที่ยุติธรรมที่สุด การทุจริตน้อยที่สุด ผมเชื่อระดับหนึ่งว่ามันมีโอกาสมากกว่าที่ระบบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ แต่ผมไม่ผูกมัดว่าประชาธิปไตยจะดีต่อเมื่อผลลัพธ์ดี เพราะเชื่อว่าแม้ในวันที่เราอยู่ในระบบประชาธิปไตยแล้วเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องทุจริตไม่ดี แต่ประชาธิปไตยยังมีคุณค่าในตัวเอง เพราะเป็นระบบเดียวที่เคารพหลักการเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพ ทำให้ประชาธิปไตยมีคุณค่าในตัวเองแม้ว่าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีผลลัพธ์ไม่ดี เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี มีการทุจริตเกิดขึ้น จะมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามหาทางออกไปนอกลู่จากระบบประชาธิปไตย

 

:: บทเรียนอาชีพนักการเมือง ::

 

 

ผมเป็นเด็กเรียนตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าจะทำอาชีพใดต้องหาความรู้ให้ได้เยอะที่สุดเกี่ยวกับอาชีพนั้น อยากทำงานการเมืองก็ต้องศึกษานโยบายแต่ละด้าน ผมไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ทำให้มีโอกาสได้ทำงานในหลายอุตสาหกรรม ผมไปฝึกงานที่พรรคการเมืองเพื่อศึกษางานการเมือง

ผมคิดว่าความรู้ความสามารถคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่พอเข้าไปทำงานจริงพบว่าสิ่งทำให้นักการเมืองเก่งๆ อยู่ได้คือความอดทนและความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถ้าคุณเข้ามาโดยไม่มีความเชื่อจริงๆ ว่าต้องการเห็นประเทศดีขึ้นแบบไหน ไม่มีภาพชัดว่าเมื่อคุณตื่นมาพรุ่งนี้แล้วอยากเห็นประเทศแบบไหน คุณจะท้อเร็วมาก

ก่อนมาทำงานการเมือง ผมทำงานเอกชนมาแล้ว 3 ปี ยอมรับว่าเป็นงานที่หนักแต่งานการเมืองหนักกว่า เพราะทำ 7 วันต่ออาทิตย์ไม่มีวันหยุด ตอนทำงานเอกชนเสนอความเห็นอะไรไปก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถกเถียงกันได้ แต่งานการเมืองบางครั้งยังไม่ทันอ้าปาก ครึ่งประเทศก็เกลียดเราแล้วเพราะพรรคต้นสังกัด แต่อีกครึ่งประเทศก็อาจชอบเราโดยไม่มีเหตุผล

มันท้อง่าย ยิ่งเจอคำวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบบ่อยๆ ด้วยภาษารุนแรง ถ้าคุณไม่มีความเชื่อจริงๆ ว่าคุณอยู่ตรงนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ คุณก็จะตั้งคำถามว่ามาอยู่ตรงนี้ทำไม

สิ่งสำคัญที่สุดถ้ามีคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานการเมือง ความรู้ความสามารถเป็นสิ่งพื้นฐานที่ต้องมี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่ออย่างบริสุทธ์ใจว่าอยากเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าหาไม่เจอจะท้อเร็วมาก

ผมยังมีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการเมืองเป็นช่องทางในการเปลี่ยนแปลงประเทศที่รวดเร็วและยั่งยืนที่สุด

 

:: อนาคตทางการเมือง ::

 

 

ผมยังอยากกลับมาทำงานการเมืองอยู่ เพียงแต่จะกลับมาในช่วงเวลาไหน ในสังกัดอะไรคงเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องเชื่อจริงๆ ว่าเราพร้อมจะขอโอกาสจากประชาชนอีกรอบ หน้าที่ของเราคือกลับไปพัฒนาทักษะตัวเอง เพิ่มความรู้และความเข้าใจสังคมไทยแล้วกลับมาพร้อมข้อเสนอใหม่ที่เราคิดว่าจะตอบโจทย์ปัญหาสังคมไทย ณ เวลานั้น

ถ้าวันนั้นผมคิดว่าตัวเองพร้อมที่จะกลับมาขอโอกาสจากประชาชนอีกครั้ง ผมก็จะกลับมา

ถ้าคิดจะกลับไปประชาธิปัตย์ ผมคงไม่ออกมา ยอมรับว่าการตัดสินใจออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นการตัดสินใจที่สะท้อนว่าผมกับพรรคมองต่างกันจริงๆ ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

การตัดสินใจลาออกเป็นเรื่องของอุดมการณ์ เราไม่สามารถอยู่ในพรรคที่ไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ดูเหมือนกลุ่มที่พร้อมจะแข่งขันบนกติกาที่เป็นกลาง นอกจากนี้เป็นเรื่องคำมั่นสัญญาที่เราให้ไว้กับประชาชน คนที่เลือกประชาธิปัตย์บางคนเลือกบนพื้นฐานคำพูดว่าเราจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่สำคัญคือการรักษาสัจจะ จึงทำให้เรามองต่างกันเรื่องทิศทางการเมืองไทยและเรื่องมาตรฐานการเมืองไทย

ผมไม่ได้ผิดหวังในประชาธิปัตย์ไปมากกว่าคนที่เลือกประชาธิปัตย์แล้วคาดหวังว่าจะไม่ตัดสินใจแบบนี้ ผมก็เป็นหนึ่งเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์แล้วไม่ได้อยากให้คะแนนของผมไปเติมแต้มให้ พล.อ.ประยุทธ์

ตอนนี้ยังไม่มีคนมาชวนร่วมพรรค ส่วนเรื่องตั้งพรรคเองก็มีคิดอยู่บ้าง แต่ถ้าจะตั้งพรรคก็มีหลายปัจจัยที่จะต้องพิจารณา

1. ต้องเป็นพรรคที่รวมตัวคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันจริงๆ ไม่ว่าคุณจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้าอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ไม่ควรอยู่พรรคเดียวกัน

2. การตั้งพรรคใหม่ต้องมองว่าจะสามารถพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองได้ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเพื่อมี ส.ส. 2 คนอยู่หนึ่งสมัยแล้วหายไป ต้องเป็นพลังใหม่ของการเมืองไทยจริงๆ

3. ถ้าจะตั้งพรรคเราต้องถามประชาชนเหมือนกันว่าเขาอยากให้เราตั้งไหม ถ้าตั้งมาเพียงเพราะเราอยากเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วไม่มีกลไกอื่นหรือไม่มีประชาชนคนไหนเห็นด้วยกับอุดมการณ์หรือนโยบายของเรา ท้ายที่สุดก็อาจจะไม่สามารถเป็นกลไกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ขจรศักดิ์
    ทันทีที่มีตำแหน่งหน้าที่หรือมีเสียงในสภา​ ถ้ายังมีอุดมการณ์ความคิดนี้ก็จะถูกต่อต้าน​ ทำลายล้างเหมือนบางคนที่ถูกกระทำในเวลานี้
    14 พ.ย. 2562 เวลา 01.12 น.
  • จรัส วัยจ๊าบ
    แดรกนม นอนดูดหัวแม่ตี-น เหอะ
    13 พ.ย. 2562 เวลา 12.16 น.
ดูทั้งหมด