ไลฟ์สไตล์

6 สิ่งทดแทนกาแฟ แถมดีต่อสุขภาพ!

Mango Zero
เผยแพร่ 11 มิ.ย. 2562 เวลา 09.20 น. • Mango Zero

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กาแฟ’ คือเครื่องดื่มในอันดับต้นๆ ที่ครองใจคนมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนใหญ่ต้องการดื่มเพื่อเรียกความสดชื่นให้หายจากความง่วงเหงาหาวนอน บางคนถึงกับดื่มได้ 2 – 3 แก้วต่อวัน หรืออาจมากกว่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาเหตุที่ทำให้หลายคนติดงอมแงม ก็เพราะคาเฟอีน (Caffeine) ในกาแฟ ที่ส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ที่มีการกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) จึงทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และโดปามีน (Dopamine) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ซึ่งอย่างหลังนี่ล่ะที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หลายคนติดกาแฟ!

ทว่าก็มีอีกหลายคนที่เกิดอาการวิงเวียนศรีษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว เพราะไม่สามารถรับปริมาณคาเฟอีนได้เท่าคนทั่วไป วันนี้เราได้รวบรวมสิ่งทดแทนกาแฟ ไม่ว่าจะในแง่ของรสชาติ หรือปริมาณของสารคาเฟอีนที่น้อยกว่า แถมยังดีต่อสุขภาพมาบอกต่อกัน แค่เพียงเลือกรับในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายเป็นพอ แล้วคุณจะเอนจอยไลฟ์ขึ้นอีกเยอะเลย 🙂

รูทชิโครี (Root Chicory) 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รากของพืชชนิดนี้สามารถนำไปคั่ว บด และชงใส่เครื่องดื่มร้อนเพื่อปรุงรสกาแฟ หรือดื่มแทนกาแฟเลยก็ได้ เพราะรสชาติคล้ายคลึงกับกาแฟมาก ทั้งนี้ปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายรับได้ต่อวันนั้น ไม่ควรเกิน 200 – 300 มิลลิกรัม แต่สำหรับรูทชิโครีไม่ต้องกังวลเรื่องการคำนวณคาเฟอีน เพราะรูทชิโครีรสเหมือนกาแฟ แต่ปราศจากคาเฟอีน!

วิธีการชงก็ง่ายมากๆ เพียงนำรูทชิโครีที่ผ่านการคั่วและบดมาแล้ว ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ต้มกับน้ำ 180 มิลลิลิตร (หรือปรับสัดส่วนตามชอบ) แล้วกรองออกเท่านั้นก็เป็นอันดื่มได้ อาจชงผ่านอุปกรณ์ชงกาแฟอย่างเฟรนช์เพรส (French Press) ก็สะดวกดี หรือจะชงในรูปแบบของกาแฟดริปก็ยังได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยรูทชิโครีมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) คือเป็นอาหารของแบคทีเรียในกลุ่มโปรไบโอติก (Probiotic) ซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหาร ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เส้นเลือด และลดระดับคลอเลสเตอรอลได้อีกด้วย

ชาเขียว (Green Tea) 

ชาเขียวขึ้นชื่อในเรื่องของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ ช่วยคงความอ่อนเยาว์ อีกทั้งสารคาเทชิน (Catechins) ที่พบได้ปริมาณสูงในชาเขียว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงช่วยขับเหงื่อ และสารพิษตกค้างในลำไส้

ชาเขียวถ้วยขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 24 – 25 มิลลิกรัม และใช้ระยะเวลาในการดูดซึมคาเฟอีนอย่างช้าๆ ประมาณ 3 – 6 ชั่วโมง ในขณะที่กาแฟจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 95 – 200 มิลลิกรัม ต่อถ้วยขนาด 8 ออนซ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาดูดซึมเพียง 30 นาทีเท่านั้น

หลายคนจึงอาจแพ้จากการที่ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนจากกาแฟเร็วเกินไป จึงทำให้มีอาการใจสั่นได้ แต่ชาเขียวจะช่วยให้ตื่นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ มัทฉะ (Matcha) ซึ่งทำจากใบชาเต็มใบบดละเอียด จะมีคาเฟอีนสูงกว่าชาเขียว 3 เท่า เมื่อเทียบต่อถ้วยขนาดเท่ากัน

เยอบา มาเต (Yerba Mate) 

‘เยอ-บา มา-เต’ เป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงมากในอเมริกาใต้ เป็นพืชที่นิยมนำใบและกิ่งไปอบในน้ำร้อนแบบเดียวกับการชงน้ำชาจากต้นชา ด้วยคุณสมบัติที่ครบเครื่องในการให้คาเฟอีนที่ไม่ต่างจากกาแฟ ทว่ามีรสชาติที่หอมหวานแบบช็อคโกแลต และสรรพคุณแบบชาสมุนไพร

ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ลดความอยากอาหาร และเพิ่มอัตราเผาผลาญไขมันได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการการเผาผลาญ บางงานวิจัยอ้างว่า เยอบา มาเต มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าในชาเขียวอีกด้วย

โดยถ้วยขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 78 มิลลิกรัม เพียงแต่มีแทนนิน (Tannin) ที่ต่ำกว่า จึงไม่มีรสขมเท่า และไม่ก่อให้เกิดกรดในกระเพาะและลำไส้ ทั้งนี้นิยมดื่มกันในถ้วยทรงคล้ายน้ำเต้าที่ทำจากผลมะระ (Gourd) พร้อมหลอดพิเศษที่เรียกว่า ‘Bombillas’ ซึ่งปลายหลอดจะมีรูกรองโดยเฉพาะ

โกโก้ (Cocoa) และช็อคโกแลต (Chocolate) 

โกโก้และช็อคโกแลตมีจุดเริ่มต้นมาจากเมล็ดของต้นกาเกา (Cacao) พืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ ปัจจุบันมีการนำมาปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อน รวมถึงบ้านเราที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

โดยมีกระบวนการแปรรูปไม่ต่างจากกาแฟมากนัก คือ เริ่มจากการหมัก ตาก กะเทาะเปลือก การคั่ว และการแปรรูป ออกมาเป็นผงช็อคโกแลต และเมื่อสกัดเอาไขมันออกจึงเรียกว่าผงโกโก้

สรรพคุณนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาภาวะความเครียด ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ โดยแก้วขนาด 8 ออนซ์ จะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 2 – 7 มิลลิกรัม

ทั้งนี้โกโก้และช็อคโกแลตที่วางจำหน่ายทั่วไป มักมีน้ำตาลผสมอยู่มาก จึงควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเสมอ

กัวรานา (Guarana) 

พืชไม้เลื้อยแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอน สารสกัดจากเมล็ดกัวรานามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ สารกัวรานีน (Guaranine) มีฤทธิ์เฉพาะที่แตกต่างจากคาเฟอีนทั่วไปที่ได้จากชา กาแฟ ช่วยสร้างความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้กำลัง ลดความตึงปวดของกล้ามเนื้อ

และยังช่วยระงับอาการอยากบุหรี่และกาแฟได้ด้วย เนื่องจากช่วยทำให้ต่อมที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมด้วยวิตามินต่างๆ รวมถึงมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยในการขับสารพิษตกค้างในร่างกายอันมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่

ตลอดจนสารอื่นๆ ที่ตกค้างในระบบทางเดินอาหารและระบบหมุนเวียนเลือด ปัจจุบันพืชชนิดนี้มักถูกนำมาใส่ในเครื่องดื่มชูกำลัง และทำออกมาในรูปแบบของผงสกัดหรือแบบอัดเม็ด

โดยชาวบราซิล อุรุกวัย คนพื้นเมืองแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ใช้ชงดื่มมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว โดยเมล็ดกัวรานาเมล็ดหนึ่งๆ จะให้คาเฟอีนอยู่ที่ 4 – 8%

เมล็ดทานตะวัน (Sunflower seeds) 

ใครจะคิดว่าเมล็ดทานตะวันจะมีคาเฟอีน? ใช่แล้ว! เมล็ดทานตะวันไม่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบโดยตรง แต่มีกรดอะมิโน อย่างทอรีน (Taurine) และไลซีน (Lysine) ที่ให้พลังงานเสริมความกระปรี้กระเปร่าได้เทียบเท่ากับคาเฟอีน เมื่อกินในปริมาณที่มากพอ

มีการเทียบเอาไว้ว่าเมล็ดทานตะวัน 50 กรัม  จะให้สารช่วยกระตุ้นเทียบเท่าปริมาณคาเฟอีนสูงถึง 140 มิลลิกรัม ดังนั้นในหนึ่งวันจึงควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะคุณอาจจะกินเพลินจนได้รับคาเฟอีนมากเกินแบบไม่รู้ตัว และอาจส่งผลต่อการนอนหลับได้

อย่างไรก็ตามเมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินมากมาย อาทิ โฟเลท (Folate) บี6 (B6) และโดยเฉพาะวิตามิน E ที่พบได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งช่วยทำให้ผิวพรรณแลดูสดใส ช่วยบำรุงสายตา และยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้อีกด้วย

ที่มา: (chamate.in.th), (eatthis.com), (yerbamate.com), (health.com), (healthline.com), (honestdocs.co), (inc.com), (medthai.com), ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 16: พืชให้สารกระตุ้น (2544)

ดูข่าวต้นฉบับ