แม้คนส่วนใหญ่อาจจดจำถ้อยคำในศิลาไม่ค่อยได้ แถมยังมีข้อครหาว่าเป็นของปลอมอีกต่างหาก แต่ถ้าพูดในเชิงคุณค่าแล้วต้องถือว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในสุโขทัย ซึ่งหลายเรื่องยังเชื่อมโยงและกลายเป็นพื้นฐานของสังคมไทยทุกวันนี้ ซึ่งหากเราไม่เรียนรู้ ก็คงยากที่จะสางปัญหาที่ฝังรากลึกได้
แต่การอ่านหรือทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ บนแผ่นหินไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอักษรที่ถูกสลักนั้นแตกต่างกับพยัญชนะหรือสระที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาถอดรหัสโดยเฉพาะ
ทว่าในประเทศนี้กลับมีคนอ่านจารึกเหล่านี้ออกน้อยมาก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมาสัมผัสเรื่องราวของ ชายผู้บุกเบิกการอ่านจารึกในเมืองไทย ผู้ทุ่มเทชีวิตตลอดร้อยปีเพื่อขยายความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่คนในประเทศนี้
‘ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร’
01
ถ้าไม่มีคนอ่านได้..ผมนี่แหละจะอ่านให้ได้
เดิมทีอาจารย์ประเสริฐไม่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์โดยตรง เพราะหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา อาจารย์ได้ทุนหลวงไปเรียนวิศวกรรมการเกษตรที่ฟิลิปปินส์ พอจบมาก็ไปสอนอยู่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แล้วก็โยกไปประจำอยู่ที่สถานีทดลองการเกษตรแม่โจ้
ตามนโยบายของกรมการเกษตรต้องการให้คนจบเมืองนอกไปอยู่บ้านนอก เพื่อให้รู้ว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ตัวแทนของประเทศไทย แต่เป็นบ้านนอกต่างหาก โดยวิชาหลักที่สอนก็คือคณิตศาสตร์ อาจารย์อยู่ได้แม่โจ้ 4 ปีจึงโยกกลับมาอยู่ประจำที่บางเขน จากนั้นก็ได้ทุน กพ.ไปเรียนต่อจนปริญญาเอกด้านสถิติ เป็นคนแรกของเมืองไทย จากนั้นอาจารย์ก็นำวิชานี้มาแพร่กระจายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
แต่ด้วยความเป็นบุคคลประเภทพหูสูต คือชอบเรียนรู้ไม่หยุด ทำให้อาจารย์ช่ำชองวิชาความรู้มากมายหลายแขนง ทั้งเศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ และศิลปศาสตร์
แต่ที่โดดเด่นและถูกพูดถึงมากสุดคือ ประวัติศาสตร์ ซึ่งเริ่มสนใจตั้งแต่ประจำอยู่ที่แม่โจ้แล้ว
ครั้งนั้นอาจารย์ได้อ่านวารสาร ‘วงวรรณคดี’ เรื่องนางนพมาศ แล้วพบว่าอาจารย์ใหญ่ด้านภาษาไทย 2 คนเขียนข้อมูลขัดกัน คนหนึ่งบอกว่า นางนพมาศอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อีกคนบอกว่าอยู่ในสมัยพญาลิไท
อาจารย์จึงลงทุนไปอ่านหนังสือประชุมศิลาจารึก และค้นคว้าเรื่องโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งเป็นโคลงโบราณที่แต่งมา 300 กว่าปีว่า เกี่ยวกับความรักของขุนนางคนหนึ่งที่ต้องจากหญิงคนรักซึ่งเป็นเจ้านางฝ่ายในไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย มาศึกษาเพิ่มเติม
“พอได้อ่านนิราศหริภุญชัย ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นนักปราชญราชบัณฑิตทั้งหลายนั้นไม่รู้ขนบธรรมเนียบประเพณีของภาคเหนือ เช่นข้อความที่ว่า 'อารักษอาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า' นักปราชญ์ของภาคกลางอ่านแล้วแปลว่า ขอให้ส่งนายศรีทิพย์ไปหานาง แต่ความจริงทางเหนือนั้น ศรีทิพย์เป็นชื่อผู้หญิง เพราะฉะนั้นหมายความจริงๆ คือ ขอเชิญให้ส่งนางศรีทิพย์มาเป็นผู้แต่ง แต่เมื่อคนอ่านไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของทางเหนือ อาจจะแปลความผิดไป ผมก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องโคลงนิราศหริภุญชัยจริงจัง รวมถึงมังรายศาสตร์ หรือกฎหมายของพระเจ้ามังราย”
อาจารย์ใช้เวลาอยู่ร่วมปี ศึกษาข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็เริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับสุโขทัยและนางนพมาศ เผยแพร่เมื่อปี 2487 แต่กลับถูกทักท้วงว่า การแก้ไขประวัติศาสตร์อาจกลายเป็นดาบสองคม
“ตอนนั้นคุณธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) กรุณาเตือนว่า ถ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ทรงประชวร ก็คงพอพระทัยว่ามีเด็กรุ่นใหม่มาค้นคว้าประวัติศาสตร์ แต่สมเด็จฯ คงไม่ได้อ่านบทความของผม บรรดาพระประยูรญาติและลูกศิษย์ของพระองค์ท่านอาจเข้าใจว่าลูกศิษย์คิดล้างครู และถูกคว่ำบาตรได้ ผมจึงหยุดค้นคว้าทางวรรณคดี และประวัติศาสตร์ไป 16 ปี”
แต่แม้ไม่ได้ค้นคว้าต่อ หากความสนใจของอาจารย์กลับไม่เคยหยุดตามไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องการอ่านจารึก เนื่องจากสมัยนั้นเมืองไทยมีคนอ่านจารึกได้น้อยมาก หลักๆ ก็มีเพียงศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จ้างมาอ่านจารึกต่างๆ เท่านั้น แต่อ่านได้เพียง 2 ปี รัฐบาลฝรั่งเศสก็ขอย้ายไปอ่านจารึกที่ไซง่อน เซเดส์ปฏิเสธไม่ได้จึงต้องไป
“ตอนนั้นผมไม่ทราบว่ามีคนไทยพออ่านได้ เคยได้ยินแต่ว่าหากมีจารึกภาษาไทยต้องส่งสำเนาไปให้เซเดส์อ่านที่ฝรั่งเศส แต่ท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป จะไม่มีคนอ่านได้หรือยังไง ก็เลยคิดว่าจารึกประเทศไทย ผมต้องอ่านให้ได้ จากนั้นผมก็เลยศึกษาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ศึกษาด้วยตัวเอง
“อย่างภาษาที่ปรากฏในจารึกสุโขทัยมีคำที่ใกล้เคียงกับภาษาเหนืออยู่ และด้วยความที่ผมเกิดที่ภาคเหนือจึงกลายเป็นตัวช่วยอย่างดี จากนั้นผมก็เริ่มไปศึกษาภาษาไทอาหม ไทยอีสาน ไทใต้คง ซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ในแถบปลายแม่น้ำคง และภาษาไทยอื่นๆ ทำให้สามารถอ่านจารึกแทนเซเดส์ได้”
สำหรับอาจารย์แล้ว การอ่านจารึกก็ไม่ต่างจากการเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ เพราะบางครั้งก็ต้องคาดเดา สมมติคำหนึ่งมี 5 ตัวอักษร แต่รู้แล้ว 4 ตัว อาจารย์ก็ต้องคิดว่า ตัวที่หายไปสามารถเป็นอะไรได้บ้างถึงจะให้ความหมายได้ดีที่สุด หรือถ้ามี 2 ตัวอักษร อีก 3 ตัวจะเป็นอะไรได้บ้าง
อีกจุดเด่นคือ คืออาจารย์ยังสามารถนำองค์ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มาผสมผสานในการศึกษาจารึก ทำให้สามารถประเมินและตีความเป็นไปได้ว่า ข้อความต่างๆ ที่เคยมีคนอ่านกันมานั้นถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่
กระทั่งปี 2503 อาจารย์ธนิต จึงชักชวนอาจารย์ประเสริฐ ให้ไปร่วมเป็นวิทยากรสัมมนาโบราณคดีครั้งแรกของเมืองไทย เพราะยังจำบทความเรื่องสุโขทัยได้เป็นอย่างดี โดยหัวข้อประเด็นที่พูดคุยครั้งนั้นเกี่ยวกับจารึกนครชุม หรือจารึกหลักที่ 3 ซึ่งทั้งสองท่านก็ได้โต้ข้อมูลกันอย่างออกรสออกชาติ เนื่องจากต่างฝ่ายก็ต่างยืนยันข้อมูลที่ได้จากการอ่านจารึกโดยละเอียด
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจารย์ประเสริฐจึงได้เข้าสู่วงการโบราณคดีและประวัติศาสตร์เต็มตัว
02
จากมือสมัครเล่นสู่มืออาชีพ
แม้จะเชี่ยวชาญเรื่องการอ่านจารึก แต่ด้วยความที่อาจารย์ไม่ได้จบปริญญาด้านประวัติศาสตร์โดยตรง จึงโดนบรรดาราชบัณฑิตบางคนค่อนแคะว่า ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่แท้จริง เป็นแต่เพียงผู้เขียนบทความทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
แม้จะอดรู้สึกเสียใจไม่ได้ แต่อาจารย์ไม่เคยเลิกล้มที่จะศึกษาเรียนรู้ และพยายามพิสูจน์ตนเองเรื่อยมา ซึ่งหนึ่งในความฝันที่อาจารย์อยากทำมาก คือการเรียบเรียงเนื้อหาจากจารึกให้ถูกต้องที่สุด หลังพบว่า จารึกที่ศาสตราจารย์เซเดส์ถอดออกมามีข้อผิดพลาดอยู่ไม่น้อย
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ จารึกหลัก 8 ซึ่งกล่าวว่า พญาลิไทมาไหว้พระพุทธบาท แล้วศาสตราจารย์ถอดคำออกมาเป็น ‘อันตนชนก ประดิษฐานแต่ก่อน’ แต่ปัญหาในจารึกใช้แต่คำสามัญอย่าง ปู่ย่า พ่อแม่ ไม่มีตรงไหนที่ใช้คำว่า ‘ชนก’ เลย
หลังจากลองศึกษาจากตัวจารึกพบว่า ตัวอักษรตรงกลางนั้นเลือนหากไป ส่วนตัวแรกก็ไม่ชัด แต่่ดูรวมๆ แล้วคล้ายๆ ‘ช’ พอได้ ‘ช’ กับ ‘ก’ อาจารย์เซเดส์จึงคิดว่าควรจะเติมตัวอะไรเข้าไปจึงจะได้คำหมายที่สุด สุดท้ายก็เลยเติมตัว ‘น’ จนกลายเป็น ‘ชนก’
แต่อาจารย์ประเสริฐคิดต่าง มองว่าอักษรแรกน่าจะเป็น ‘ห’ มากกว่า และหากเติม ‘า’ เข้าไปก็จะกลายเป็นคำว่า ‘หาก’ ซึ่งภาษาไทขาว คำว่า หาก หรือ หา แปลว่า ด้วยตนเอง
พอได้ความเช่นนี้ จึงส่งจดหมายไปถึงศาสตราจารย์เซเดส์ ปรากฏว่าท่านยินดีพิจารณาข้อโต้แย้ง แม้ว่าคำท้วงติงนี้จะมาจากนักอ่านจารึกสมัครเล่นก็ตาม แถมยังส่งจดหมายกลับมาว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และพร้อมพิจารณาข้อท้วงติงๆ หากอาจารย์ประเสริฐจะส่งไปเพิ่มเติม
“ศาสตราจารย์เซเดส์เป็นนักปราชญยิ่งใหญ่ที่ยอมรับความเห็นของผู้ที่ไม่เคยปรากฏผลงานด้านจารึกมาก่อนเลย และผลสำเร็จครั้งนี้ ผลักดันให้ผมซึ่งเคยสอบวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ในชั้น ม.6 ได้เพียง 8 จากคะแนนเต็ม 60 คะแนน ศึกษาค้นคว้าอ่านศิลาจารึกต่อมาจนถึงทุกวันนี้”
ความสามารถของอาจารย์เป็นที่ประจักษ์ แม้กระทั่ง ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เชิญอาจารย์ไปสอนอ่านจารึกแก่นักศึกษา แต่อาจารย์ก็เลือกปฏิเสธ เพราะไม่อยากไปแย่งงาน แย่งอาชีพใคร เนื่องจากที่ผ่านมางานอ่านจารึก มี 2 มหาคือ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ กับอาจารย์ประสาร บุญประคอง รับผิดชอบเป็นสิบปีแล้ว แต่ในที่สุด ท่านสุภัทรดิศ ก็หาวิธีหว่านล้อม จนอาจารย์ประเสริฐยอมตกลง
“เมื่อเซเดส์กลับปารีส ท่านก็มอบหมายให้มหาฉ่ำเป็นคนอ่านต่อ เซเดส์ได้เงินเดือนเป็นหมื่น แต่มหาฉ่ำได้ 20 บาท ต่อมาได้ความดีความชอบได้ขึ้นเป็น 24 บาท เกษียณออกมาก็อดมื้อกินมื้อ ไปสอนหนังสือปริญญาโท ปริญญาเอก พวกลูกศิษย์ก็ไม่รู้ว่าครูเดือดร้อน มหาฉ่ำอุทิศชีวิตให้แก่ศิลาจารึก อ่านจนตาจะบอดแต่ไม่มีใครดูดำดูดี เพราะฉะนั้น ผมจะไปแย่งมหาฉ่ำสอนได้อย่างไร นอกจากนี้พอมหาฉ่ำเกษียณผมยังได้ขอให้มหาประสารไปอ่านจารึกแทนมหาฉ่ำ จึงควรให้มหาประสาร เป็นคนสอน
“แต่ท่านสุภัทรดิศรับสั่งว่า มหาฉ่ำสอนวิชาจารึกที่จุฬาลงกรณ์และศิลปากรเป็นสิบแล้ว แต่ไม่มีลูกศิษย์คนใดอ่านจารึกได้ และทรงเชื่อว่า ถ้าผมรับสอนนักศึกษาปีที่ 4 แล้ว นักศึกษาจะอ่านจารึกออก ส่วนมหาฉ่ำกับมหาประสารได้สอนวิชานี้ในชั้นปีที่ 2 และ 3 อยู่แล้ว ผมก็เลยรับสอนวิชาศิลาจารึกและภาษาล้านนาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร”
หลังเริ่มสอน อาจารย์ประเสริฐก็พบสาเหตุหลักที่ทำให้นักศึกษาอ่านจารึกไม่ออก เนื่องจากอาจารย์ฉ่ำถือตามอาจารย์เซเดส์ว่า จารึกสอนกันไม่ได้ ต้องอ่านด้วยตนเอง ท่านจึงเอาจารึกโบราณที่อ่านได้ยากที่สุดมาให้นักศึกษาอ่าน ทุกคนเลยท้อก่อนจะอ่านได้ออก
อาจารย์ประเสริฐเลยเปลี่ยนวิธีใหม่ ให้นักศึกษาอ่านจารึกที่ง่ายๆ ตัวอักษรน้อยๆ ก่อน พออ่านแล้วจึงเกิดความภาคภูมิใจ และค่อยไปอ่านอะไรที่ยากขึ้น ผลที่ออกมาคือ สิบปีแรกมีนักศึกษาอ่านจารึกออก 3 คน แม้ดูน้อยแต่ถือว่าน่าพอใจมาก ที่สำคัญอาจารย์เชื่อว่านักศึกษาที่จบไป ถึงยังอ่านไม่ออก อย่างน้อยก็มีพื้นฐาน และหากต่อไปจำเป็นต้องใช้วิชานี้ ก็คงหาวิธีขวนขวายอ่านเองได้ไม่ยาก
ความสำเร็จในการสร้างนักอ่านจารึกนี้ ทำให้อาจารย์ประเสริฐได้รับยกย่องอย่างมาก ในฐานะของผู้เปิดประตูการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณของดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้
03
ประเสริฐ..ผู้เกิดมาเป็นครู
กว่า 60 ปีบนถนนสายประวัติศาสตร์ อาจารย์ประเสริฐทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อผลักดันความรู้ต่างๆ ให้กระจายไปสู่วงกว้างมากที่สุด
ยืนยันได้จากผลงานและบทความร้อยที่ออกมาสู่สาธารณชน ทั้งการชำระประวัติศาสตร์ การถอดถ้อยคำในจารึกต่างๆ รวมถึงยังใช้ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ และสถิติมาช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดบางประการ เช่นวันกระทำยุตหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระมหาอุปราชา ซึ่งจากการคำนวณแล้ว ไม่ใช่วันที่ 25 มกราคม แต่เป็นวันที่ 18 มกราคม จนนำมาสู่การเปลี่ยนวันกองทัพไทย
สำหรับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ใกล้ชิดต่างยืนยืนว่า อาจารย์เป็นผู้ให้อย่างแท้จริง เพราะแม้ตลอดชีวิต อาจารย์จะอยู่ในตำแหน่งบริหารมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งปลัดทบวงมหาวิทยาลัยคนแรก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกราชบัณฑิตยสภา
แต่ไม่มีงานใดที่จะรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจเท่ากับการเป็นครูเลย เพราะเป้าหมายชีวิตของอาจารย์ คือ อยากเป็นผู้เผยแพร่วิทยาการไปให้ได้มากที่สุด
“ผมมีลูกศิษย์อยู่ทุกจังหวัด ไปถึงจังหวัดไหนลูกศิษย์มักเอาถั่วต้มกับเป๊ปซี่มาให้ คงเพราะตอนผมสอนหนังสือชอบถือถุงถั่วต้มกับเป๊ปซี่มั้ง”
อาจารย์ไม่เคยหวงความรู้ หากใครมีคำถาม อาจารย์ก็จะพยายามค้นหาคำตอบมาให้ได้ และถึงนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ จะเห็นแย้งเห็นต่างกับท่าน แต่อาจารย์ก็ไม่เคยถือโกรธ และพร้อมรับฟังอยู่เสมอ
สำหรับอาจารย์แล้ว การศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องใช้สติปัญญา และใจที่เปิดกว้าง ไม่ควรยึดถือแต่ความคิดเดิมๆ ที่คนรุ่นเก่าหรือคนที่มีอำนาจศักดิ์ใหญ่บอกมาเท่านั้น เพราะหลายครั้งสิ่งที่เชื่อกันมาก็อาจผิดพลาดได้ อย่างจารึกเองก็นับเป็นหลักฐานชั้นต้นอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องนำไปศึกษา ต่อยอด เปรียบเทียบเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่กว้างขึ้น
แน่นอนความขัดแย้งทางวิชาการย่อมเกิดได้ แต่อย่าปล่อยกลายเป็นความบาดหมาง เพราะนั่นยอมหมายถึง ผลเสียต่อการศึกษาประวัติศาสตร์โดยภาพรวมทั้งหมด และนี่คือภาพสะท้อนของบุคคล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียจารย์อย่างแท้จริง
04
เส้นทางชีวิตของบุรุษร้อยปี
น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ฉลองอายุครบร้อยปี อาจารย์ประเสริฐคือหนึ่งในนั้น แม้หลังจากนั้นอีกเพียงเดือนเศษ อาจารย์จะจากไปชั่วนิรันดร์ก็ตาม
หากไม่นับผลงานทางด้านวิชาการจำนวนมหาศาล อีกสิ่งที่อาจารย์ได้ทิ้งไว้ให้คือ การใช้ชีวิตที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ และพร้อมเอาชนะขีดความสามารถของตัวเอง
ประโยคหนึ่งที่อาจารย์มักสอนลูกศิษย์เสมอคือ “คนไทย..หากอยากจะไปอยู่แนวหน้าสาขาใด ย่อมเป็นไปได้ทั้งหมด เพียงแต่ที่ผ่านมาคนไทยไม่เอาจริงเท่านั้น” ซึ่งก็คงเหมือนกับอาจารย์ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาคณิตศาสตร์ และสถิติ แต่กลับเป็นที่รู้จักในฐานะครูประวัติศาสตร์แทน
แม้ในวัยเฉียดร้อย อาจารย์ก็ยังแสดงศักยภาพให้ทุกคนเห็นว่า ถึงแก่ก็แก่แบบมีคุณภาพ เพราะอาจารย์ไม่เคยหยุดทำงาน ท่านเดินทางมาราชบัณฑิตยสถานทุกวัน เพื่ออ่านหนังสือ ประชุมวิชาการ บางครั้งก็ขึ้นบันไดเป็นร้อยขั้น เล่นเครื่องบวกเลขให้สมองได้ทำงานตลอดเวลา
เช่นเดียวกับงานสอนที่ไม่เคยทิ้ง ยังคงเดินหน้าสอนคนรุ่นใหม่อ่านจารึก จนอายุได้ 96 ปี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงขอร้องให้พัก เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ซึ่งท่านก็ยินดี แม้ไม่ค่อยเต็มใจก็ตาม
“ผมไม่อยากหยุดหรอก เพราะเป็นห่วงว่าจารึกของไทยที่มาจากลังกา จีน อินเดีย จะไม่มีใครอ่านออก เนื่องจากคนที่เรียนส่วนใหญ่สนใจแต่เฉพาะถิ่นของตัวเอง เช่นมาจากภาคเหนือก็สนแต่ภาษาล้านนา ผมก็เลยต้องพยายามหาคนมาแทน แต่ยังหาไม่ได้ แต่อย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ หากมีความตั้งใจจริง”
หากให้วิเคราะห์ว่าเหตุใดอาจารย์จึงเปี่ยมด้วยพลังเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะปรัชญาชีวิตที่เชื่อว่า เกิดมาเป็นคนต้องทำประโยชน์เพื่อแผ่นดิน เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ส่งผลเพียงแต่วันนี้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงวันข้างหน้าด้วย หากเราทำให้ปัจจุบันให้ดี อนาคตก็ย่อมจะดีตามอย่างแน่นอน
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบ
- หนังสือจารึกชีวิต ประเสริฐ ณ นคร อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร 18 สิงหาคม 2562
- หนังสือสารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- หนังสือ 96 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร
- นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 7 เดือนพฤษภาคม 2542
- หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 24 มีนาคม 2562
- หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน วันที่ 29 พฤษภาคม 2547
- นิตยสาร O-lunla ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 เดือนสิงหาคม 2559
- นิตยสารสารคดี ปีที่ 21 ฉบับที่ 250 เดือนธันวาคม 2550
- รายการเปิดมุมมองกับทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล วันที่ 1 เมษายน 2560 ณ สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อึ้งกับ ความสามารถเเละเเรงบันดาลใจของท่านที่จะศึกษาประวัติศาสตร์. ทำให้ผมคนรุ่นหลัง ได้มีเเรงใจที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ของเราเเม้ไม่ได้จบด้านนี้มา.
ขอบคุณ ข้อความดีๆที่นำมาลงในไลน์ ทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของบ้านเราเเละมีอีกหลายท่านที่ทำงาน ปิดทองหลังพระ.
ขอดวงวิญญานอาจารย์ ไปสู่สุขคติ กราบด้วยความเคารพ
17 พ.ค. 2563 เวลา 04.13 น.
Anucha.หมู คนดีรัตนโกสินทร์
16 พ.ค. 2563 เวลา 23.27 น.
Arm อีกผลงานหนึ่งของอาจารย์ประเสริฐที่ชาวเกษตรศาสตร์ภาคภูมิใจ ก็คือการแต่งเนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์ "เกษตรศาสตร์" (เขียวธงขจี ก่อเกิดไมตรีสามัคคีมั่น...) ที่รัชกาลที่ 9 พระราชนิพนธ์ทำนองด้วยครับ
17 พ.ค. 2563 เวลา 03.35 น.
praphan_pr ขอกราบเท้าคุณครูผู้เป็นต้นแบบให้กับผม ทั้ง
ในด้านแนวคิด และความชื่นชอบในด้านภาษาศาสตร์
วรรณคดี ประวัติศาสตร์ เคยได้อ่านงานเขียนของ
อาจารย์มาหลายชิ้น มีความลุ่มลึก ละเอียด เสริมสร้าง
ความรู้มากมาย ครับ
17 พ.ค. 2563 เวลา 06.13 น.
โจโจ้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อนิจกรรมด้วยโรคชรา ในวัย 100 ปี
17 พ.ค. 2563 เวลา 04.11 น.
ดูทั้งหมด