‘ข้าราชการ’ น. ผู้ปฏิบัติราชการส่วนราชการ / บุคคลซึ่งรับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณในกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมือง ข้าราชการครู ข้าราชการทหาร ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)
งานราชการ อาจจะเป็นงานที่ใครหลายคนมองว่าเป็นงานที่มั่นคง เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ บ้านหวังว่าลูกหลานของตัวเองจะเข้ารับราชการ แต่ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของงานราชการในปัจจุบัน ดูจะไม่ค่อยดึงดูดคนรุ่นใหม่สักเท่าไหร่ บ้างก็ว่าเข้าไปก็จะถูกกลืนไปกับระบบ เข้าไปก็จะอึดอัดกับงานแบบลำดับขั้น แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางสายนี้
‘กีตาร์ - ชลินทรา ปรางค์ทอง’ หนึ่งในข้าราชการรุ่นใหม่เจ้าของเพจ ‘ปลัดอำเภอ and Her Stories’ จากนักศึกษารัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ สู่ตำแหน่งนักปกครอง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญระบบราชการที่เต็มไปด้วยลำดับขั้น และภารกิจอันใหญ่หลวงที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น และในอีกมุมหนึ่งเธอคือเด็กจบใหม่ที่ต้องเจอกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต การปักหลักลงใจกับ ‘อาชีพ’ หนึ่งที่หนทางดูจะยาวนานไปจนเกษียณเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และด้วยความไม่ง่ายเหล่านี้จึงกลายมาเป็นเรื่องราวในเพจ ‘ปลัดอำเภอ and Her Stories’ พื้นที่ของการแบ่งปันเรื่องราวในการทำงานสายราชการของเธอ อาจจะไม่ได้เหมือนใคร ๆ เพราะมันคือเรื่องราวของเธอ
จุดเริ่มต้นจากงานกิจกรรมในมหาวิทยาลัย สู่การตัดสินใจเดินทางสายราชการ
“เริ่มต้นจากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยชื่อกลุ่มว่า ‘Silent Power’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาที่มีความสนใจในประเด็นของกลุ่มคนชายขอบในประเทศไทย ที่เสียงของคนกลุ่มนี้เหมือนชื่อกลุ่มคือ ‘ความเงียบ’ เราเลยอยากให้ ‘เสียง’ ของพวกเขาได้รับความสนใจและมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเราจะหาประเด็นเพื่อเข้าไปเรียนรู้ ไปศึกษา ใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาและเก็บข้อมูล ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคประชาชน, NGO, องค์กรภาครัฐ และเอกชน ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนั้น ๆ เพื่อที่จะได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนจากทุกฝ่าย และนำมาจัดนิทรรศการเผยแพร่ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการจัดเวทีเสวนา เชิญสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวภายในงาน เพื่อเป็นกระบอกเสียงส่งต่อเรื่องราวของคนชายขอบให้เป็นที่รับรู้ของสังคมมากขึ้น
“การหล่อหลอมตัวตนจากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำให้รู้สึกว่างานราชการน่าจะเป็นงานที่เราทำได้ เพราะอย่างน้อยเราคือคนที่จะได้นำนโยบายและกฎหมายไปปรับใช้ในพื้นที่ เพราะจากประสบการณ์ทำกิจกรรม เวลาลงพื้นที่แต่ละครั้งเราต้องไปขอเข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอในพื้นที่นั้น ๆ ตลอด ซึ่งนั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในสายตาเชิงบวกที่เรามีต่องานราชการว่า ถ้าเราได้มีโอกาสไปอยู่ในจุดที่ทำงานในส่วนนี้ได้ เราก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน”
งานที่มั่นคงของผู้ใหญ่ vs ชีวิตที่เต็มไปด้วยทางเลือกของคนรุ่นใหม่
“ด้วยความที่ทุกวันนี้มีอินเตอร์เน็ต มันเลยทำให้เราพอจะรู้ข้อมูลอยู่บ้างว่า ระบบราชการมันเป็นอย่างไรเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกมาทางราชการ พอบวกลบข้อดี/ข้อเสียแล้วโอเค เราก็มา และพอมาทำจริง ๆ เหมือนเราได้เข้าใจระบบมากขึ้น การเป็นปลัดอำเภอทำให้รู้สึกว่า เนื้องานปลัดอำเภอมันสนุกมาก ทำอะไรได้หลายอย่างที่ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น แต่อุปสรรค์คือ ‘เรื่องคน’ ทัศนคติของคน ที่เราต้องเจอและร่วมงานด้วยมากกว่า ที่ทำให้รู้สึกว่า ภาพลักษณ์ของระบบราชการจะบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเอากฎหมาย เอาอำนาจหน้าที่ไปใช้ในทางไหน ถึงสะท้อนภาพลักษณ์ของราชการไปในทางที่ผิด เช่น โดดงาน สังคมอุปถัมภ์ รับสินบน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งข้อมูลตรงนี้เราก็ได้รับมาตลอดผ่านข่าว ผ่านสื่อต่าง ๆ แต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ก็เลยรู้สึกว่าตัวเราเองก็สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของระบบราชการได้ และก็เชื่อว่ายังมีข้าราชการอีกไม่น้อยที่คิดแบบเดียวกับเรา
“หลายคนอาจจะมองว่าข้าราชการรุ่นใหม่เข้าไปก็ถูกกลืนไปกับระบบ คนเก่งบางคนอยู่ไม่ได้ คนมีอุดมการณ์เข้าไปอยู่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่รู้ว่าเพราะปลัดอำเภอมันดูแลในพื้นที่ระดับอำเภอหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ในพื้นที่ของเรา มันมีกฎหมาย พรบ.รองรับ ทำให้เรามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้ สิ่งที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาชนคือ การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นและใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
“ในระบบราชการก็มีหลายอย่างที่เราไม่ได้พอใจ งานมันไม่ได้ทันสมัยขึ้นแบบสายงานเอกชน Digital Disruption (นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี) แทบจะไม่มีผลอะไรกับงานราชการ เพราะมันเป็นองคาพยพที่หนักและใหญ่มากในการจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนวัตกรรม แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักคืองานของเราทุกมันมีคุณค่าในแบบของมัน ทำไมเราถึงยังทำสิ่งนี้อยู่ เพราะเราอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของระบบราชการในยุคของเรา งานของปลัดอำเภอมันมีบทบาทมากในพื้นที่ ถ้าตัวเรามีความตั้งใจจริงที่อยากจะพัฒนาอำเภอของเรา ทุกย่างที่ทำงานมันจะสะท้อนออกมาเอง”
หัวใจของการเป็นฝ่ายปกครอง คือ ‘ประชาชน’
“เวลาการทำงาน มันไม่เป็นปกติแบบคนทั่วไป งานของปลัดอำเภอ ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดได้ เราไม่ได้ทำงานตามเวลาราชการปกติ เรามีงานเช้าไปร่วมงานบุญบ้าง ตื่นตีสามไปจับยาเสพติดบ้าง ตกเย็นไปงานศพ ออกตรวจด่าน ดูแลความปลอดภัย ยิ่งช่วงที่โควิดระบาดแทบจะไม่ได้นอนกันเป็นเดือนทำงานถึงตีหนึ่ง รอเช้าเริ่มงานใหม่ เสาร์ อาทิตย์ แจกถุงยังชีพ พายุเข้าตอนไหนก็ต้องออกไปดู มันคือความเดือดร้อนของประชาชนที่รอไม่ได้ นายอำเภอเมืองหนองคายเราก็จะสอนแบบนั้น พายุยังไม่ทันซาเห็นในไลน์กลุ่มแจ้งมาว่าชาวบ้านหลังคาปลิวหลายหลัง ก็ออกไปเลย ระหว่างทางเจอต้นไม้หักขวางทางก็ประสานแขวงการทาง ทับเสาไฟก็ประสานการไฟฟ้า
"คือเราต้องมีคอนเนคชั่นทีดีกับหัวหน้าส่วนราชการเพื่อที่เราโทรหาเขา แต่ละครั้งเบอร์ของเราเป็นเบอร์สำคัญที่เขาต้องรีบแก้ไขด่วนที่สุด เรามีกลุ่มไลน์กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว ศูนย์กลางข้อมูลอยู่ในนี้ ก็เอาไปใช้ประโยชน์เลย ส่วนนายอำเภอกับปลัดอำเภอก็ออกไปเปียกฝนกับชาวบ้าน ณ ตอนนั้นความช่วยเหลือในด้านการเยียวยามันยังไปไม่ทันหรอก แต่เอาตัวเข้าไปให้กำลังใจเขาก่อนเพื่อจะบอกเขาว่าไม่เป็นไร เรามีทางช่วยอยู่แล้วประมาณนี้ บอกเลยว่าถ้าเรามีนายอำเภอที่ดี ชีวิตเราก็เหมือนมีความมงคลคุ้มตัว ต่อให้นายโทรสั่งงานตอนสี่ทุ่มแต่งานที่นายสั่งคือการออกไปช่วยเหลือราษฎรอ่ะ มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะรู้สึกไม่ดี เขาไว้ใจเราให้ทำก็ทำ แค่นั้นเลย"
ใครไม่รู้ แต่คนปลัดรู้ ด่วนที่สุดแปลว่าด่วนจริง ๆ
หากพูดถึงระบบราชการ ทุกคนอาจจะคิดถึงความเชื่องช้า เพราะด้วยองคาพยพขนาดใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วในระบบราชการก็มีความ ‘ด่วนที่สุด’ แฝงตัวอยู่ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าราชการสาวของเราค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะคำว่า ‘ด่วนที่สุด’ ของงานปลัดอำเภอมันคือด่วนมากกว่าที่คิดไว้
“คำว่าด่วนที่สุด ของ กต. (กระทรวงการต่างประเทศ) มันยังมีระยะเวลาให้อีกฝ่ายได้เตรียมตัว คืองานของที่ กต. เขามองไปในอนาคต มีการเตรียมความพร้อม ภาษาพูดก็คือมีการเกริ่นให้อีกฝ่ายรู้ตัวก่อนว่าจะต้องเตรียม ต้องทำแบบนี้ ตามเวลานี้ ๆ นะ งานมันก็จะมี ด่วน ด่วนมากก ด่วนที่สุด ตามความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วนที่เรารู้สึกว่ามันมีเหตุมีผลนะ
“แต่พอเรามาเป็นปลัดอำเภอ เราค่อนข้างช็อก เพราะหนังสือที่มันถามโถมมาหาเราในแต่ละวันมีแต่ ‘ด่วนที่สุด’ เกือบทั้งหมด ส่งวันนี้ พรุ่งนี้รายงาน ยังไม่ทันจะทำหนังสือไปถึง อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) แต่ละแห่งเลยรายงานกลับแล้วเหรอ โชคดีตรงที่เรามีไลน์ มันเลยง่ายขึ้นที่ไม่ต้องส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ เราก็มีคำถามนะ ว่าถ้ารีบขนาดนั้นทำไมไม่ส่งมาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว เพราะหนังสือที่ออกจากต้นสังกัดของแต่ละกระทรวงมันก็ออกมานานแล้ว แต่มาเร่งทำหนังสือให้เราช่วงท้าย ๆ เราก็ขำ ๆ ปนช็อก เพราะวันๆ หนึ่งเราไม่ได้มีงานหน้าเดียว ไหนจะลงพื้นที่อีก บางทีหนังสือยังมาไม่ถึงเลย เราต้องตอบกลับสวนทางไป เพราะโทรมาขอให้รีบรายงาน
“แต่ความเร่งรีบนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายคนในระดับปฏิบัติการ พอทำได้สำเร็จ มันก็รู้สึกดี รู้สึกมั่นใจในตัวเองว่าเจ๋งว่ะ ในสถานการณ์แบบบีบบังคับเราก็ทำมันออกมาได้ ซึ่งตรงนี้เราต้องนิ่ง และอาศัยลูกทีมที่ดี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ในพื้นที่แต่ละงานที่เราไป หัวหน้าส่วนราชการ นายก อปท. แต่ละแห่งที่เราสามารถพึ่งพาเขาได้ เขาก็พาเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้”
ไกลบ้าน + ความเหงา จุดเริ่มต้นของเพจบอกเล่าเรื่องราว ‘ปลัดอำเภอ and Her Stories’
“เกิดจากความเหงาปนความเศร้า ตอนแรกที่ห้าวอยากออกมาเรียนรู้โลกกว้างไกลบ้าน ไกลเมือง พอมาอยู่จริงๆ มันต้องช่วยหลือตัวเองแทบทุกอย่าง ญาติก็ไม่มี มีแต่เพื่อนสมัยฝึกงานที่สถานทูตด้วยกันเท่านั้นที่คอยช่วยหลือพาไปนู่นนี่ ภาษาอีสานก็เป็นศูนย์ อาหารก็ไม่คุ้นนอกจากส้มตำ เวลาเย็นๆ ก็ขับรถไปเดินเล่นริมน้ำโขง จากนั้นก็ไปนั่งอ่านเอกสารแฟ้มเก่าๆ ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของอำเภอที่ร้านกาแฟ เพราะคิดว่าถ้าเข้าใจพื้นที่ไว ก็จะมีอะไรในหัวที่เราหยิบเอามาปรับใช้ได้ เย็นๆ ก็มีโทรไปหาที่บ้าน พี่ๆ เพื่อนๆ ที่สนิทกัน ร้องไห้บ้างในแต่ละวัน พอมันว่างขนาดมีโมเม้นให้เศร้าได้ ก็เลยคิดว่าหาอะไรทำเถอะ
“ด้วยความที่มีประสบการณ์เขียนบทความมาบ้าง ก็เลยว่าเราลองทำ Blog เล่าเรื่องการทำงานของปลัดอำเภอคนหนึ่งดีไหม ไม่ลงชือให้ใครรู้จัก ไม่ลงภาพหน้าตัวเอง ให้คนอื่นที่อาจจะผ่านมาเห็นเพจของเราแล้วเขาสนใจที่จะเดินทางร่วมไปกับเรา ก็เลยตั้งเพจขึ้นมา เพราะมันน่าจะทำให้เราเลิกร้องไห้ตอนเลิกงาน แล้วมาโฟกัสอะไรที่น่าจะช่วยให้ใจเราอยู่ได้อย่างเป็นสุขมากขึ้น ตอนแรกก็กลัวว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะที่เราคาดหวังไว้มันไม่เป็นตามที่หวัง เหมือนเป็นครั้งแรกที่เราตัดสินใจผิด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่มากของก้าวแรกในงานราชการ มันบั่นทอนความมั่นใจ ความสามารถเรามากเลย
“เราออกจากกระทรวงการต่างประเทศมา ด้วยความเป็นน้องน้อยที่พี่ ๆ ที่น่ารักคอยดูแลพอมาเป็นปลัดอำเภอมาเป็นหัวหน้าเขา และมันเป็นหัวหน้าคนอีกหลายคน ความสามารถเราถึงหรือเปล่า ความรู้ที่เรียนมาก็นึกไม่ออกเลยจะเอามาใช้ยังไง ก็เลยเอามาเขียนเล่าเป็นบันทึกให้ตัวเองดู ลองกัดฟันทนไปอีกสักเดือนหนึ่งว่ามันดีขึ้นไหม พอผ่านไปได้เดือนหนึ่งก็อดทนไปอีกเดือน ผ่านไปอีกเดือนก็ทนไปอีกเดือน แล้วเรามาดูกันว่าความรู้สึกของเรามันจะเปลี่ยนไปตอนไหน แล้วพอมาไล่อ่านดู เราก็เดินมาไกลจากวันแรกมากที่เรามาจากความรู้สึกที่ลบ
“เพจ ‘ปลัดอำเภอ and Her Stories’ จึงกลายเป็นเพจที่เติบโตมาพร้อมกับเรารับราชการมา ถ้าไล่อ่านย้อนหลังมันอาจจะเป็นกำลังใจให้กับใครหลาย ๆ คนที่รู้สึกท้อในสายงานนี้ จากจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความเหงา และความไม่มั่นใจ จนมาถึงวันที่ก้าวไปต่อด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง”
งานที่อาจต้องทำไปจนวัยเกษียณ แต่บั้นปลายชีวิตก็ยังมีความฝัน
“คิดว่าถ้าตอนนี้เป็นปลัดอำเภอแล้วต่อไปก็ต้องเป็นนายอำเภอ และยังขึ้นอยู่ว่าความสามารถกับโอกาสมันจะไปด้วยกันไหม เพราะมันมีทั้งการทำผลงานและการสอบว่าจะมาเจอกันตอนไหน หลังจากนั้นคงเป็นเรื่องอนาคต เพราะถ้ายังอยากทำอยู่บวกกับการยังอยากเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ มันคงมีที่ทางสำหรับเราอยู่บ้าง และเราหวังว่า ถ้าสังคมของเรามีคนช่วยกันทำให้มันน่าอยู่ เป็นสังคมที่คนเคารพในสิทธิมนุษยชน มองคนเท่ากัน ตระหนักในปัญหาสังคม และแก้ไขมันอย่างจริงจัง ณ วันนั้นแค่ทำงานกับคนเหล่านี้ มีวิธีคิดแบบนี้นั้น การวางยุทธศาสตร์มันก็ดีมากแล้ว
“แต่ในอนาคตก็มองว่า คงมีงานที่ทำแล้วไปไม่เครียด นั่นก็คือ ‘ร้านขายต้นไม้’ แผนในอนาคตคิดว่าอาจจะมีสวนไม้ประดับและสวนแคตตัสเป็นของตัวเอง ที่มันสร้างทั้งรายได้และสร้างความสุขให้ด้วย และที่บ้านสนับสนุนให้ทำด้านนี้ด้วย รอเคลียร์เรื่องที่ดินออกโฉนดให้เรียบร้อยคงจะลงมือทำ แบบรู้สึกว่างานปลัดอำเภอก็เป็นงานหนึ่ง ปลูกต้นไม้ก็เป็นอีกงานหนึ่ง แต่ความรับผิดชอบมันคนละเวลา แต่อยากทำให้มันสำเร็จไปพร้อมๆ กัน”
เมื่อเลือกแล้วก็จงตั้งใจ และทำต่อไป
“งานของปลัดอำเภอเป็นงานที่ยากและท้าทาย เราบรรจุตอนอายุ 24 ปี แต่ปัญหาที่เจอมันไปไกลเกินอายุมาก ประสบการณ์ชีวิตที่น้อย ก็ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ให้มาก อาวุธที่มีคือกฎหมายเอาไปใช้ในด้านที่ถูกก็จะเป็นคุณกับตัวเอง คำอวยพรที่เป็นมงคลก็คือคำอวยพรที่มาจากคนที่เราไปช่วยเหลือเขาในวันที่เขาเดือดร้อน นั่นคือพระที่ประเสริฐที่สุดรองจากพรที่พ่อกับแม่ให้เราเลย
“Knowing other is intelligence;
Knowing yourself is true wisdom.
Mastering others is strength;
Mastering yourself is true power.
ถ้าเราแก้ที่ใครไม่ได้ก็ขยับจากตัวเองนี่ล่ะ สำรวจตัวเองก่อนว่าเราคือใครแล้วเราจะรู้ว่าเรามีพลังอะไรที่ซ่อนอยู่”
ขอบคุณภาพจาก ปลัดอำเภอ and Her Stories
🔴⭕🔴⭕🔴⭕🔴⭕🔴⭕
รับด่วน!! เรียนหรือทำงานสามารถทำคู่กันได้
เป็นงาuรับออเดอร์ ตอuแชท ตอuไลน์ลูกค้า
รายได้อาทิตย์ละ 3-4 พัuบาท
รัUอายุ 20 ปีขึ้นไป
สuใจงาuแอo Line ID : @489evmfv (ใส่ @ ด้วยครัu)
30 มี.ค. 2564 เวลา 08.11 น.
Ninhydrin_PH สู้ๆนะคะ ขอให้รักษาแรงใจ แรงกาย แรงไฟในการทำงานแบบนี้ไว้ตลอดไป อย่าได้ถูกระบบเฮงซวยของราชการกลืนไปนะคะ ...
27 มี.ค. 2564 เวลา 08.00 น.
Ms Onion เป็นกำลังใจให้นะคะ
ขอแค่ ซื่อตรง มั่นคง จริงใจ
ใครไม่รู้ ตัวเรารู้
เพราะเส้นตรง มีเส้นเดียว
ไม่มีตรงเกินไป เพราะ ถ้าตรงเกินไป
มันก็คือ คด หัก งอ สู้ๆ ค่ะ
27 มี.ค. 2564 เวลา 04.20 น.
Kwan@บางแก้ว ในฐานะอดีตข้าราชการที่ลาออกมาแล้ว
อยากบอกให้รู้ว่าสิ่งที่ลดทอนความมุ่งมั่นในการทำงาน
ไม่ใช่เกิดจากระบบงานที่ซ้ำซ้อน หรือต้องทำงานหลายด้านนอกเหนือจากงานตนเอง
ไม่ใช่จากความไม่เป็นธรรมเอารัดเอาเปรียบ เด็กเส้นเด็กนาย
สิ่งที่ทำให้ท้อแท้ และเกิดความเหนื่อยล้าที่สุด
คือการที่แม้ว่า จะตั้งใจทำงานด้วยความสุจริต ทำทุกอย่างเพื่องาน และบริการประชาชน ภายใต้ความภาคภูมิใจในอาชีพรับราชการ
แต่กลับถูกคนในสังคม(บางกลุ่ม) สรุปเอาเองว่าข้าราชการต้องโกงกิน ไม่ทำงาน ไม่มีความดีในฐานะคนๆนึงด้วยซ้ำ
26 มี.ค. 2564 เวลา 16.00 น.
Sujitta🌾👀🌴 งานที่ดีเริ้สสส..ที่สุด
งานที่ปลอดภัย..ที่สุด
งานที่เจริญ..ที่สุด
งานที่มีประโยชน์ต่อตนเอง
ญาติ ประเทศชาติ..ที่สุด..
คือ.งานที่ไม่ขัดต่อศีล5
งานอันนี้.ชีวิตเจริญทั้งชาติปัจจุบัน.และชาติต่อๆไป..😂😂😂😂
26 มี.ค. 2564 เวลา 14.59 น.
ดูทั้งหมด